คอลัมนิสต์

รัฐบาลต้องจัดหา อย่ารับบริจาค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลต้องจัดหา อย่ารับบริจาค โดย อ๊อด เทอร์โบ

           ณ เวลานี้มีคำถามว่าเราจะต้องเจอกับวิกฤติไวรัสล้างโลกนี้อีกนานเท่าใด และถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลต้องหาเงินมาเพื่องานนี้

 

 

 

          มีข่าวค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าต่อไปรัฐบาลจะเรียกคืนหรือตัดงบประมาณ 10% จากทุกกระทรวงเพื่อนำเงินมาเยียวยาและจัดหาเครื่องมือแพทย์ หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือต่างๆ

         ขณะนี้มีผู้ใจบุญ-มีน้ำใจบริจาคเงินทุนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้จนดูเหมือนว่ารัฐบาลจะนิ่งเฉย ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง

          ต่อไปรัฐบาลจะต้องหาเงินรับมือกับเศรษฐกิจซึ่งจะต้องใช้ราวๆ 2 แสนล้านบาท โดยรัฐจะต้องออก พ.ร.บ.กู้เงินฉุกเฉิน ซึ่งไม่รู้ว่าจะพอหรือไม่

           มองอนาคตข้างหน้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งเริ่มมีการพูดถึง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ขึ้นมาบ้างแล้ว

          อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด และจะทำอะไรก็ได้เพราะเจ็บปวดมาพอแล้ว !

อ๊อด เทอร์โบ

 

 

 

เตรียมรับมือค่าใช้จ่าย

มนุษย์เงินเดือนเจอแน่

          ดิฉันได้รับข้อความจากเพื่อนคนหนึ่งนำมาจากธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีวิธีการบริหารค่าใช้จ่ายในวิกฤติการณ์นี้เพื่อให้อยู่รอดได้ และขอนำมาให้พิจารณาว่า

          การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดูเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้หลายๆ บริษัทเริ่มให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว งดจ่ายเงินเดือน

          หรือบางบริษัทจ่ายเงินเดือนไม่เต็มจำนวน รายได้ที่ลดลง แต่รายจ่ายไม่ได้ลดลงตามไปด้วยนั้นทำให้เราต้องศึกษาและวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง ดิฉันขอนำ 7 วิธีบริหารค่าใช้จ่ายรับมือภัยโควิด-19 อย่างพอเพียงมาเป็นแนวทางให้ทุกคนประคับประคองสถานการณ์ได้ในระยะยาว

           1.ลดความสะดวกในการสั่งอาหารปรุงสำเร็จลงมา แล้วเข้าครัวเอง หุงข้าว ซื้อไข่ ผัก เนื้อสัตว์ มาทำอาหารกินกันในครอบครัว ยิ่งหลายคนยิ่งประหยัดไปได้หลายบาท 2.ลดขนมจุกจิก เช่น ชานมไข่มุก กาแฟ น้ำหวาน ของขบเคี้ยวเหล่านี้รวมกันวันหนึ่งก็หลายบาท กินมากก็เสียสุขภาพ ลองค่อยๆ ลดและเลิกจะพบว่ามีเงินเหลือมากขึ้นแถมสุขภาพดีอีกด้วย

          3.เลิกพฤติกรรม ‘ของมันต้องมี’ หลายคนช็อปปิ้งผ่านมือถือ ของฟุ่มเฟือยต่างๆ ควรพักไว้ก่อนและควรเก็บเงินสดไว้กับตัวให้มากที่สุดเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน 4.สำหรับใครที่ได้รับอนุญาตให้ work from home หรือทำงานที่บ้านได้นั้นคือคนโชคดี เพราะนอกจากจะปลอดภัยแล้วยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ก็ควรระวังเรื่องค่าไฟที่อาจตามมาจากการอยู่บ้านทั้งวันด้วย

          5.ลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วจะพบความจริงว่าหมดไปกับอะไรบ้าง ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดีจะได้รู้ว่าต้องบริหารเงินอย่างไร 6.มีปัญหาให้ปรึกษาสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิตหรือสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ช่วงนี้ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ยินดีช่วยเหลือแน่นอน

          7.ติดตามข่าวสารนโยบายภาครัฐอยู่เสมอซึ่งช่วงนี้รัฐบาลทยอยออกนโยบายช่วยเหลือประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป สามารถติดตามประกาศจากรัฐบาลได้ผ่านสื่อหลักที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข

         แต่อย่างไรก็ตามเราควรระมัดระวัง และพึงระลึกไว้เสมอว่ามาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่าเดิม

         จึงขอให้พิจารณาและปรับปรุงตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ด้วยค่ะ

ดวงจันทร์ (สีมลม)



เรียนคุณ ‘ดวงจันทร์’ สีลม

          ขอบคุณสำหรับจดหมายของคุณ ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าไวรัส ‘โควิด-19’ นี้เมื่อไรจะหมดไป พูดง่ายๆ เราได้แค่ป้องกัน คือตั้งรับแต่ไม่มีเชิงรุก ไม่มีวัคซีนรักษาได้

จึงต้องให้ทุกคนรับมือจากผลกระทบที่จะตามมาอีกหลายระลอกโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ตามมา ซึ่งเราต้องพึ่งตัวเอง

          ในกรณีนี้ธนาคารกรุงเทพได้แนะนำมาอย่างน่าสนใจและเราต้องอยู่อย่างพอเพียงอย่ามองโลกสวยอย่างเดียว

         เรียนย้ำมาอีกครั้ง ให้วางแผนล่วงหน้าตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกและใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงดีที่สุด

อ๊อด เทอร์โบ



 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ