คอลัมนิสต์

มาตรการป้องกันโควิด-19ในเรือนจำไทย ปัญหาใหญ่พร้อมล้นสู่สังคม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาตรการป้องกันโควิด-19ในเรือนจำไทย ปัญหาใหญ่พร้อมล้นสู่สังคม อะไรจะเกิดขึ้น?หากมาตรการป้องกันโควิด-19ในเรือนจำ ไม่เข้มข้น จริงจังมากพอ เพราะ Social distancing มิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมเรือนจำที่แออัด ผู้ต้องขัง 377,830 คน

การแพร่ระบาดของโควิด-19ส่งผลให้คนทุกกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ยากดี มีจนอย่างไรก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม ล่าสุดมีข่าวว่านพ.บุญมี วิบูลย์จักร ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัด นครนายก ป่วยติดเชื้อโควิด- 19

อ่านข่าว : "สรยุทธ" คืนจอ "เรื่องเล่าชาวเรือนจำ" ให้ความรู้ "โควิด-19" แก่ผู้ต้องขัง

ขณะที่ผู้ต้องขังในเรือนจำมีจำนวน988คน เจ้าหน้าที่อีก49คน เมื่อเป็นข่าวก็ทำให้หลายส่วนเริ่มเป็นห่วง การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 –ขึ้นในเรือนจำ และเริ่มให้ความสนใจ จับตามองประชากรในเรือนจะมากขึ้นกว่าเดิม ภายในเรือนจำทั่วประเทศไทยเป็นที่ยอมรับว่า“ผู้ต้องขัง”อยู่กันอย่างแออัด สภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดแนวทางการป้องกันที่ฮิตติดปากและทีมแพทย์ผู้รักษาคนป่วยก็ เน้น ทั้งยังกระชับให้ทุกๆคนสนใจทำตามนั่นคือ“ระยะห่างทางสังคม”หรือSocial distancing ให้ได้มากที่สุด

ในเรื่องนี้ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้จัดการเรือนจำสุขภาวะซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรือนจำสุขภาวะมาอย่างต่อเนื่อง บอกว่าขณะนี้เรื่องราวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด– 19เป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนเยอะมาก เพราะเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง เห็นได้จากสังคมที่มีคนออกมาให้กำลังใจกัน มีคนออกมาทำเรื่องราวดีๆ บริจาคเครื่องใช้วัสดุ อุปกรณ์ให้ทางโรงพยาบาล เห็นใจกันและกัน ผู้คนรับรู้ว่าเราต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน เสมือนเราอยู่ใน“ตะกร้า” ใบเดียวกัน นี่คือภาพของคนภายนอก 

แต่ภาพของ“ผู้ต้องขังในเรือนจำ” ก็ไม่ต่างอะไรจากสังคมข้างนอก การที่ผู้ต้องขังไม่มีโอกาสเยี่ยมญาติในช่วงเวลานี้ ย่อมส่งผลถึงสภาวะจิตใจ ผู้บัญชาการเรือนจำและเจ้าหน้าที่ควรบอกเล่าให้ผู้ต้องขังได้เข้าใจสถานการณ์ภายนอกเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิด-19ทำให้ผู้ต้องขังมีความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนข้างนอกให้ได้ เพราะเขามีพ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก ญาติพี่น้อง คนที่เขารัก คนที่เขาห่วงใย ต้องทำให้เขามองเห็นปัญหาร่วมกันเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ต้องขังกับโลกภายนอก 

 

มาตรการป้องกันโควิด-19ในเรือนจำไทย  ปัญหาใหญ่พร้อมล้นสู่สังคม

และการที่กรมราชทัณฑ์ ได้ให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดังซึ่งถูกพิพากษาจำคุกอยู่ในเรือนจำ มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองมาจัดรายการเรื่องเล่าชาวเรือนจำเพื่อให้ความรู้กับผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ โดยทางกรมราชทัณฑ์จะจัดส่งคลิปให้กับเรือนจำทั้ง143แห่งทั่วประเทศนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี 

แต่เนื่องจากคลิปดังกล่าวเป็นการส่งข้อมูลที่ดูกันเองภายในเรือนจำ เป็นระบบปิด ตนจึงยังไม่เห็นเนื้อหาในส่วนนี้ตอนนี้ตนอยากให้สังคมมองแบบแยกประเด็นการทำงานในส่วนนี้ และการที่นายสรยุทธกระทำความผิดก็ต้องได้รับโทษ อย่าเอามาเหมารวมและมีอคติในสิ่งที่เขาได้รับหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ให้มาช่วยงาน เพราะถึงเวลาที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน

ส่วนแนวคิดSocial distancingของประชากรในเรือนจำนั้น ต้องเป็นตัวเรือนจำกับโลกข้างนอก ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด ถ้าเราอยู่ที่บ้านมันก็ง่ายกว่าเมื่อมีแนวทางSocial distancingแต่เมื่อเป็นผู้ต้องขังมันทำได้ยาก

ในขณะนี้ทางเรือนจำ การจะป้องกันไม่ให้เชื้อโควิด–19แพร่กระจายสู่เรือนจำ ต้องมีแนวทาง“กำหนดตัวบุคคลให้ชัดเจน”ว่าใครบ้างที่จะเข้าไปในแดนผู้ต้องขัง ทั้งแดนหญิงแดนชาย คนที่ถูกกำหนดตัวควรจะมีการตรวจตรวจโรคแบบสมบูรณ์100เปอร์เซ็นต์ และคนกลุ่มนี้ต้องมีความรับผิดชอบ ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ถือให้เป็นการเริ่มต้นใหม่ทุกเรือนจำ“ถ้าทำได้” ต้องทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ ปลอดเชื้อ เพราะคนกลุ่มนี้ มีความสำคัญเข้าออกนอกเรือนจำเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตัวเอง คนอื่นที่ไม่ถูกคัดเลือกไม่มีสิทธิ์เข้าไป 

ควรหาผู้ที่สามารถให้ความรู้ มาอบรม แนะนำ พูดคุยเพื่อสร้างกำลังใจ ในการปฏิบัติตัวให้กับเจ้าหน้าที่เรือนจำอย่างละเอียด เพื่อให้เขาตระหนักถึงความปลอดภัย ทำให้เห็นว่าพวกเขามีโอกาสนำเชื้อโควิด-19เข้าสู่เรือนจำได้ตลอดเวลา การใส่หน้ากากอนามัย การทำความสะอาดมือ พยายามรักษาระยะห่างในการติดต่อกับผู้ต้องขังจึงจำเป็น

ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปในแดนผู้ขังต้อง ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่บริเวณด้านหน้าที่ทำการซึ่งมีห้องปฏิบัติการด้านหน้าทุกแดน ก่อนเข้าไปยังแดนต่างๆ ส่วนรองเท้าก็ต้องทำความสะอาดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสะอาด ปลอดภัย สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องไป โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนนำผู้ต้องขังไปโรงพยาบาล และต้องกลับมาปฏิบัติงานเหมือนเดิมก็ต้องตรวจโรคในแบบข้างต้นก่อน หรืออาจจะไม่เข้าไปปฏิบัติงานด้านในแดน

 ส่วนผู้ต้องขังที่ออกไป รพ. เมื่อกลับเข้ามาก็ต้องถูกแยกตัวออกจากกลุ่มผู้ต้องขังนักโทษคนอื่นเป็นเวลา14วัน ซึ่งได้ข่าวว่าทางเรือนจำมีมาตรการกักตัวผู้ต้องขังที่ต้องออกข้างนอก14วันอยู่แล้ว มาตรการมีแต่จะทำได้เข้มข้นแค่ไหน ขอย้ำให้มีความเข้มข้น ส่วนผู้ต้องขังที่เพิ่งเข้าเรือนจำมาใหม่ เขาก็ใช้วิธีแยกตัวเพื่อดูอาการของโรค14วันก่อนที่จะให้ไปรวมกลุ่มกับผู้ต้องขังคนอื่น

“ในเรือนจำถ้าไม่มีการนำเชื้อข้างนอกเข้าไป ไม่มีปัญหาในการติดเชื้อเลย แต่ถ้ามีการติดเชื้อในเรือนจำ ต้องบอกว่า“ป้องกันได้ยากมาก” เพราะชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำมีสภาพแออัด จึงต้องใช้วิธีการทั่วๆ ไป โดยเฝ้าสังเกตกลุ่มเสี่ยงในการติดต่อของเชื้อโควิด-19อย่างระมัดระวัง ซึ่งได้แก่ผู้ต้องขังสูงอายุ ผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคปอด โรคทางลมหายใจ โรคความดันสูง เบาหวาน หัวใจ และต้องคอยระวังคนกลุ่มนี้ให้มาก อาจจะให้ผู้ต้องขังระมัดระวัง คอยช่วยกันสังเกตอาการของเพื่อนๆในกลุ่มด้วย ผู้ต้องขังเองก็อาจจะช่วยกันคิดแบบมีส่วนร่วมหาวิธีการป้องกันตัวเองร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้”

อีกสิ่งหนึ่งที่รศ.ดร.นภาภรณ์ เสนอคือ แม้ผู้ต้องขังจะเย็บหน้ากากอนามัยใช้กันเองอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีในการใช้หน้ากากอนามัย แต่เวลานอนคงใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้ตลอดเวลา เพราะมันอึดอัด อากาศในเรือนนอนก็ไม่ถ่ายเท แต่สิ่งหนึ่งถ้าทำได้จะช่วยป้องกันคือเป็นไปได้ไหมที่ เรือนจำจะเพิ่มเวลาการอาบน้ำ ฟอกสบู่ให้นานขึ้นก่อนจะขึ้นเรือนนอน ถือเป็นวิธีป้องกันได้อีกวิธีหนึ่งในการหยุดการแพร่เชื้อ ตลอดถึงก่อนเข้าเรือนนอนก็ควรจะวัดอุณหภูมิในร่างกายก่อน ถ้าพบว่ามีไข้สูงให้คัดแยกผู้ต้องขังออกมา หรือพบคนที่มีอาการไอก็ให้คัดแยกออกมา ซึ่งก็เข้าใจว่าพื้นที่ในเรือนจำไม่ได้มีพื้นที่มาก แต่แนวทางนี้ก็พึงควรกระทำเพื่อป้องกันเชื้อระบาด

สร้างความแข็งแรงให้ผู้ต้องขังเป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาควรจะได้ออกกำลังกายกลางแสงแดด ถ้าผู้ต้องขังมีร่างกายที่แข็งแรง มีโอกาสออกกำลังกายในที่โล่ง โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19ในเรือนจำก็จะลดลง การดูแลเรื่องอาหารร้อนสุก หาอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้เขามีภูมิคุ้มกันตัวเองสามารถช่วยลดการติดเชื้อได้ เสื้อผ้าที่นอนควรจะผึ่งแดดให้บ่อยขึ้น ยิ่งตอนนี้กิจกรรมต่างๆที่ต้องติดต่อกับบุคคลภายนอกแทบจะไม่มี ก็ควรปรับกิจกรรมเพื่อเน้นชีวิตสภาพเรือนจำให้ปลอดเชื้อ นี่คือการการปฏิบัติโดยมีหลักมนุษยธรรมต่อผู้ต้องขัง แบบให้เขามีส่วนร่วมลงมือป้องกันเชื้อภายในที่อยู่ของตัวเอง

 ในส่วนที่ผู้คนจะนึกคิดว่า ทำไม?ถึงต้องให้ความสนใจประชากรกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ขอบอกว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีความหวาดวิตก กลัว เหมือนกับเราทุกคนด้วยพื้นที่ในเรือนจำมีสภาพที่ไม่เหมือนโลกด้านนอก เราจึงต้องเข้าใจพวกเขาเพราะถ้าในเรือนจำเกิดการระบาดโควิด19ขึ้น จะเกิดความวุ่นวายและสร้างภาระทางสังคมอีกมาก 

การป้องกันผู้ต้องขังซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นในขณะนี้377,830คน โดยแบ่งเป็นชายจำนวน329,835คน และหญิง47,995คน จึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะขีดความสามารถของเรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง217,000คนเท่านั้น จำนวนที่ล้นเกิน จึงทำให้เรือนจำในเมืองไทยเกิดสภาพ“นักโทษล้นคุก” จากสภาพที่เกินล้นนี้เอง จึงส่งผลให้แนวทางระยะห่างทางสังคม (Social distancing) มิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมเรือนจำ

 คุณลองคิดดูว่า อะไรจะเกิดขึ้น?หากมาตรการป้องกันโควิด-19ในเรือนจำ ไม่เข้มข้น จริงจังมากพอ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ