คอลัมนิสต์

คนเห็นแก่ตัวในสงครามโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความพิเศษ โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เราคงเคยได้ยินปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจากภาวะสงคราม เช่น ประชาชนต้องหลบหนีการทิ้งระเบิด การต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร เวชภัณฑ์และน้ำมัน การสูญเสียบ้านเรือน โรงงาน แหล่งทำมาหากิน การเกิดข่าวลือไม่เว้นแต่ละวัน ในขณะที่ประชาชนจำเป็นต้องพยายามปกป้องทรัพย์สินของตัวเองจากจำนวนหัวขโมยที่มากขึ้นจากภาวะแร้นแค้นของสังคม เป็นต้น

 

 

 

          ในภาวะสงครามโควิด-19 ในปัจจุบันก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร แม้ว่าบริบทของสงครามจะแตกต่างกันก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น ต้องใส่หน้ากากป้องกันเชื้อโรค พกพาอาวุธส่วนตัวอย่างเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือไว้จัดการกับเชื้อโรค ต้องพยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีความแออัดของผู้คน การต้องเผชิญกับการขาดแคลนเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคระบาด รวมถึงราคาเวชภัณฑ์ที่แพงมากกว่าปกติ การเกิดข่าวลือมากมายที่แพร่กระจายแบบ super spreader ยิ่งกว่าไวรัสเสียอีก ธุรกิจต้องปิดกิจการ หยุดทำมาหากินและการเกิดภาวการณ์ตกงานของผู้คนจำนวนมาก เป็นต้น

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนในสังคมควรต้องช่วยเหลือกัน แสดงมิตรไมตรีจิตต่อกัน นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปฏิบัติตนตามกฎระเบียบต่างๆ ที่แม้อาจจะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของทุกคน แต่ก็เป็นเพียงการดำเนินงานชั่วคราวจนกว่าภาวะวิกฤติจะผ่านพ้นไป

          เราจะเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้นหากทุกๆ คน เห็นประโยชน์สาธารณะเป็นหลักและหยุดการเห็นแก่ตัว

          แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่าเราคงกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ช้า เพราะยังมีกลุ่มคนที่ได้แสดงให้เห็นธาตุแท้ของการเห็นแก่ตัว มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ห้ามใครมาแตะต้อง ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองรอด หรืออยู่ในสถานะที่ดีกว่าคนอื่นโดยไม่สนใจว่าสังคมจะเดือดร้อนขนาดไหน

          ขอเริ่มจาก ประเภทแรกคือ พวกเห็นแก่ตัวเพราะความกลัว ที่ประกอบไปด้วยสองกลุ่มที่สำคัญ กลุ่มแรกมีพฤติกรรมการเห็นแก่ตัวแบบที่อาจจะพอเข้าใจและยอมรับได้ คือพวกกลัวจนถึงขั้นตื่นตระหนกว่าตนเองหรือครอบครัวจะติดโควิด-19 จึงอาจมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวแบบรังเกียจไปหมดทุกอย่างที่อาจนำพาโรคมาสู่ตนเองและครอบครัว เช่นการขับไล่คนติดเชื้อโควิด-19 ให้ออกไปจากชุมชน แบบที่เกิดขึ้นในพื้นที่บางบอน (ไม่รู้ว่า ส.ส.วัน อยู่บำรุง อธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจหรือยัง) การไม่ยอมให้นำศพที่ติดเชื้อโควิด-19 มาเผาที่วัด อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งกว่าจะทำความเข้าใจได้ก็ใช้เวลาหลายวัน การไม่ยอมขายอาหารให้หมอ (ตามที่คุณหมอท่านหนึ่งโพสต์ไว้หลายวันก่อน) สิ่งที่กล่าวมานั้นยังไม่รวมพฤติกรรมเฝ้าสอดส่องว่าบ้านใดเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือติดโรคมาแล้วบ้างและแสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกของชุมชนและสังคมได้ในอนาคต

          ความกลัวเหล่านี้อาจจะเกิดจากการบริโภคสื่อที่เป็นข่าวลือข่าวเท็จที่มีมากจนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ไล่ตามกำจัดแทบไม่ทันในแต่ละวัน อีกส่วนหนึ่งคือการได้รับข้อมูลข่าวสารที่สับสนไม่ว่าจะมาจากทางราชการหรือมาจากพวกที่ชอบทำตัวเป็นกูรูทั้งหลาย เช่นบางคนบอกว่าโรคนี้อันตรายมากจนทำให้คนตื่นตระหนก แต่บางคนบอกไม่อันตรายเท่าไรหรอกจึงมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใส่ใจในการป้องกัน บางคนบอกว่าโรคนี้ติดกันง่ายจากการหายใจ แต่ก็ไม่อธิบายต่อว่าหายใจอย่างไร ใกล้กันแค่ไหนถึงจะติด แต่บางคนบอกว่าถ้าไม่สัมผัสโดยตรงกับคนติดโรคก็ไม่เป็นไรหรอก บางคนบอกว่าโรคนี้เป็นอันตรายกับคนแก่ แต่กับคนหนุ่มสาวที่มีภูมิต้านทานดีนั้นไม่ค่อยอันตราย เราจึงเห็นอัตราการติดเชื้อในกลุ่มคนหนุ่มสาวมากขึ้น

          กลุ่มที่สองคือพวกรู้ตัวว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงแต่กลัวว่าคนจะรังเกียจ กลัวว่าชีวิตตนเองจะไม่สะดวกสบายรวมถึงกลัวตกงาน จึงปกปิดข้อมูลทุกอย่าง คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการเห็นแก่ตัวแบบไม่น่าให้อภัยและควรจะต้องโดนลงโทษไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือทางสังคมก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เข้าไปพบหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์แต่ไม่ยอมบอกความจริงว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างเช่นกรณีคนขับแท็กซี่ ไปพบหมอฟันแต่ไม่ยอมบอกว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและเมื่อผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงทำให้ป่วนไปหมด

          การตั้งจุดตรวจวัดไข้ตามสถานที่ต่างๆ ก็เช่นเดียวกันที่อาจจะต้องเผชิญกับคนเห็นแก่ตัวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง พวกนี้กลัวว่าจะไม่ได้รับความสะดวกหรือกลัวว่าจะไม่สามารถผ่านด่านไปได้ จึงทำทุกอย่างให้ผ่านไปให้ได้ เช่น บางคนทั้งๆ ที่ตัวเองมีอาการไข้ ก็ใช้วิธีกินยาแก้ไข้ก่อนผ่านจุดตรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนขึ้นหรือลงจากการบริการขนส่งสาธารณะ เช่น เครื่องบิน รถไฟ รถบัส เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่รวมพวกกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่บอกใครและใช้ชีวิตตามปกติในเมืองหรือชุมชน ซึ่งมีจำนวนพอสมควร

          ความเห็นแก่ตัวประเภทที่สองคือ พวกเห็นแก่ตัวเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจหรือการเมือง คนพวกนี้จะถือโอกาสในภาวะสังคมกำลังวุ่นวายเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 หาประโยชน์ใส่ตัวเอง ตั้งแต่การกักตุนสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวชภัณฑ์ การขึ้นราคาสินค้าหรือขายสินค้าในราคาที่แพงเกินเหตุด้วยการอ้างว่าขาดแคลน การเปิดให้บริการผับ บาร์ ร้านเหล้าและกิจการอื่น ๆ ที่รัฐห้ามไว้ ซึ่งพอโดนจับจะบอกว่าไม่รู้ว่ามีคำสั่งห้าม (เป็นมนุษย์ถ้ำหรือไง การสื่อสารจึงไปไม่ถึง หรืออ่าน-ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง) รวมถึงพวกชอบเดินทางไปต่างประเทศแบบไม่สำนึกว่า มันใช่เวลาที่จะเดินทางหรือไม่ ไม่ว่าจะเดินทางไปเพื่อธุรกิจหรือเพื่อท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเสียดายเงินที่จองไว้แล้ว หรือพวกถูกล่อด้วยโปรไฟไหม้ราคาถูกที่เกิดจากความเห็นแก่ตัวของสายการบินและบริษัทท่องเที่ยวบางแห่งที่ลดราคากระหน่ำ ทั้งๆ ที่ภาครัฐและประชาชนส่วนใหญ่ร้องขอให้ระงับการเดินทางไว้ก่อน ในขณะที่พวกเห็นแก่ตัวทางการเมือง วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากเล่นการเมืองกันไปมา ตีกันได้ตลอดไม่ว่าในยามศึกสงครามหรือยามสงบ แต่ก็ไม่เสนออะไรที่เป็นประโยชน์...พวกชอบเกาะโควิด-19 กินไปวันๆ

          ใครทำการเมืองไม่เป็นในช่วงโควิด-19 ให้ระวังไว้เถอะ ประชาชนเขาจำได้นะ

 

 

         

          คนเห็นแก่ตัวประเภทที่สามคือ พวกเอามันอย่างเดียว ส่วนใหญ่เป็นพวกเสพติดการสังสรรค์กับพรรคพวกเพื่อนฝูง พวกนี้จะไม่สนใจว่าใครจะมองหรือต่อว่าอย่างไร ขอให้ได้รวมกลุ่มจัดปาร์ตี้เท่านั้นก็พอ (คงกลัวลงแดงตาย) เช่น กรณีเด็กแว้นก่อกวนโรงพยาบาลที่เชียงใหม่ กลุ่มกินเหล้าเมายาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภูเก็ต เป็นต้น

          คนเห็นแก่ตัวประเภทที่สี่คือ พวกไม่สนใจกฎทางสังคม กฎหมาย ระเบียบ กลุ่มแรกคือพวกบ้าสิทธิและเสรีภาพ เวลาที่สังคมหรือรัฐจะมีมาตรการใดๆ ขึ้นมาในการจำกัดสิทธิเสรีภาพชั่วคราวแต่ต้องทำเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็จะต่อต้านหรือไม่ทำตามโดยอ้างแต่สิทธิเสรีภาพ โดยไม่สนใจว่าสังคมจะเดือดร้อนแค่ไหน กลุ่มที่สองคือพวกมีนิสัยต่อต้านกฎทางสังคม พวกนี้จะไม่สนใจว่าสังคมกำลังเกิดอะไรขึ้นหรือเดือดร้อนขนาดไหน ตราบใดที่ยังเป็นแค่คำร้องขอความร่วมมือจากภาครัฐหรือจากสังคมโดยยังไม่มีกฎหมายมาบังคับ พวกนี้ก็จะไม่สนใจที่จะให้ความร่วมมือใดๆ อย่างเช่นพวกที่ไม่สนใจคำแนะนำการสร้างระยะห่างทางสังคมเมื่อออกนอกบ้าน หรือพวกที่ไปข้างนอกบ้านโดยไม่ได้ใส่หน้ากากเพื่อป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น (รู้หรือไม่ว่าการใส่หน้ากากคือการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการป้องกันไม่ให้ตนเองนำเชื้อไปสู่ผู้อื่น เพราะเราอาจยังไม่รู้ว่าเราติดเชื้อโรคอะไรมาบ้างหรือเปล่า)

          กลุ่มที่สามคือพวกไม่ชอบทำตามกฎหมาย กฎระเบียบ หากทำให้ตัวเองวุ่นวายในชีวิต อย่างเช่น พวกที่ยังคงเดินทางข้ามเมือง ข้ามจังหวัด ข้ามประเทศโดยไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคม (บางคนยังเดินเล่นตามชายหาดและแหล่งท่องเที่ยวอยู่เลย ทั้งๆ มีคำสั่งห้ามในบางพื้นที่แล้ว) พวกที่กลับจากประเทศเสี่ยงแต่ไม่ยอมกักตัว หรือกรณีล่าสุดการแสดงความไม่พอใจของผู้โดยสารที่สนามบินในไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าจะพวกเขาจะถูกกักตัว บางคนมีการโพสต์ด่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่และมีการท้าทายว่าจะไม่กักตัว จนถูกชาวโซเชียลมีเดียถล่มกระจุย ล่าสุดเห็นว่ารัฐบาลออกคำสั่งให้มารายงานตัวให้หมดทุกคน และเจอตัวครบแล้วทุกคนแล้ว และยังได้ข่าวว่าคนในครอบครัวตนเองที่ไปสัมผัสมาก็ต้องโดนกักตัวด้วย (เป็นไงละ เดือดร้อนทั้งครอบครัว) ในขณะที่บางคนอาจถูกดำเนินคดีด้วย

          คิดได้หรือยัง...

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ