คอลัมนิสต์

แปลงเปลี่ยนวิกฤติเป็นยุทธศาสตร์และโครงการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แปลงเปลี่ยนวิกฤติเป็นยุทธศาสตร์และโครงการ บทความพิเศษโดย โคทม อารียา

         เวลานี้สายตาทุกสายจับอยู่ที่จอโทรทัศน์หรือจอมือถือ ข่าวเรื่องโควิด-19 ทั้งในและนอกประเทศก็มีอยู่เต็มจอ มีเรื่องเล่ามากมายจนอิ่มตัวอยู่ในสมองของเรา ซึ่งก็เข้าใจได้ ไหนจะต้องคอยเอาใจช่วยบุคลากรการแพทย์ที่รับศึกหนัก เราก็กลัว เขาก็กลัว ไหนจะต้องแสดงความชื่นชมจิตใจเสียสละและคอยช่วยเหลือกันของคนไทยและชาวโลก ไหนจะต้องตามข่าวญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงด้วยความห่วงใย ไหนจะต้องคอยก่นด่าคนที่แพร่เชื้อโดยประมาท ไม่สนใจ ไม่รับผิดชอบ ฯลฯ ไหนจะต้องคอยโกรธเคืองพวกฉวยโอกาสกักตุนหรือหาประโยชน์จากการขายเวชภัณฑ์ที่ขาดแคลน แต่ละคนมีกลุ่มที่เรากังวลและห่วงใยโดยเฉพาะ ผมอาจห่วงใยชาวอิตาลีและชาวสเปนมากกว่าชาวอเมริกัน ถือเป็นคราวเคราะห์ของชาวยุโรปที่เจอเชื้อที่ทั้งติดง่ายและรุนแรง และของชาวอเมริกันที่มีผู้นำที่ชอบโทษผู้อื่น แต่นี่เป็นอคติส่วนตัวของผม ซึ่งต้องขออภัยไว้ด้วย

         ผมขออนุโมทนาพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ไม่เพียงแต่ทรงแสดงความห่วงใยชาวอิตาลีผ่านนายกรัฐมนตรีที่เข้าเฝ้าที่นครวาติกันท่านขอให้ดูแลสถานที่เป้าหมายสามแห่งเป็นพิเศษด้วย ได้แก่บ้านพักคนชรา ค่ายทหาร และค่ายผู้ลี้ภัย เราได้รับการบอกเล่าว่าวิธีป้องกันตัวเราจากเชื้อไวรัสคือสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม และหมั่นล้างมือบ่อยๆ แต่ลองคิดดูข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกมีมากกว่า 70 ล้านคน ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งผู้คนอยู่กันอย่างแออัด จะรักษาระยะห่างทางสังคมได้ไหมพวกเขาจะมีหน้ากากอนามัยเพียงพอสำหรับทุกคนไหม บางค่ายขาดแคลนน้ำและสบู่ ผู้ลี้ภัยจะหมั่นล้างมือได้เพียงใด

         จุดเสี่ยงที่น่าวิตกอีกแห่งหนึ่งคือประเทศที่ยากจนในทวีปแอฟริกา หลายประเทศมีอัตราการระบาดของโรค เช่น วัณโรค และเอชไอวี/เอดส์ในอัตราที่สูง หลายประเทศประสบภาวะความแห้งแล้ง ระบบสาธารณสุขก็อ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปในแอฟริกา โควิด-19 ระบาดไปในหลายประเทศแล้ว แม้ประเทศแอฟริกาใต้ที่เข้มแข็งกว่าเพื่อนก็เริ่มระส่ำระสาย แล้วทวีปแอฟริกาจะรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างไรหากประเทศที่รุ่มรวยกว่าไม่ให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าประเทศเหล่านี้ก็ย่ำแย่เช่นกัน อย่างไรก็ดีเราควรนึกว่าหากแอฟริกากลายเป็นศูนย์กลางการระบาด ระบบโลกาภิวัตน์ก็คงทำให้ทั่วโลกติดอยู่กับโรคนี้ต่อไป

         ผมพยายามสืบหาอย่างคร่าวๆ ว่า ในปีพ.ศ.2461-62 ที่ไข้หวัดสเปนระบาด และประมาณว่ามีคนตายทั่วโลก 50 ล้านคนนั้น เขารับมืออย่างไร ดูเหมือนว่าตอนนั้นเขาให้พึ่งตนเองเป็นหลัก คือให้ “อยู่ห่าง ล้างมือ” นั่นแหละ โมเดลคือปล่อยให้การระบาดถึงจุดสุดยอดอย่างรวดเร็วภายในเวลาประมาณหนึ่งปี เมื่อไวรัสจะคร่าชีวิตใครก็ได้คร่าไปแล้ว จึงเหลือแต่ผู้คนที่เคยรับเชื้อและเริ่มมีภูมิคุ้มกัน โรคก็ลดการระบาดลงอย่างรวดเร็ว และสูญหายไปเมื่อถึงฤดูร้อนปี พ.ศ.2463 คือมาเร็วไปเร็ว ตามโมเด็ลที่เรียกว่าการสร้าง “ภูมิคุ้มกันของฝูงชน” (herd immunity) ร้อยปีให้หลัง เราไม่อาจใช้โมเดลที่ทำให้ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลได้เหมือนครั้งนั้น จึงอาจต้องทำใจว่าโรคจะอยู่กับโลกของเราเป็นแรมปี ในบางประเทศอาจมีการระบาดระลอกสอง (after shock) ตามมา เมื่อร้อยปีก่อนผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของไข้หวัดสเปนได้ผสมปนเปไปกับการสูญเสียของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 40 ล้านคน การฟื้นฟูจากภัยภิบัติทั้งสองได้ดำเนินไปพร้อมๆ กัน

         มาคราวนี้เราเลยไม่มีประสบการณ์จากอดีตสักเท่าไรเพื่อจะมารับมือกับอนาคต อนาคตทั้งในช่วงวิกฤติและหลังวิกฤติที่หลายอย่างคงไม่เหมือนเดิม โลกได้เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ในเรื่องโลกาภิวัตน์ (แปลว่าถึงกันทั่วโลก) และเรื่องการใช้โมเดลประทังและประคอง มิใช่โมเดล “ภูมิคุ้มกันของฝูงชน” ผมรู้ว่าการชวนให้คิดถึงอนาคตอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่เราเผชิญอยู่นี้ แต่ขออนุญาตรบกวนความสนใจของท่านสักเล็กน้อย เพราะจะให้ผมพูดในเรื่องการรับมือโรคระบาดคงไม่ได้ เพราะผมไม่มีความรู้และอยากมอบกำลังใจทั้งหมดให้แก่คณะแพทย์/พยาบาลและนักการเมืองผู้รับผิดชอบ

         ผมชอบบทสัมภาษณ์ของหมอประเวศ วะสี ที่ลงในหน้าสามของหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์ที่ 30 มีนาคมฉบับหนึ่ง คุณหมอเสนอให้ “วางยุทธศาสตร์เขยื้อนประเทศไทย” ในการเขยื้อนประเทศต้องบูรณาการระบบใหญ่คือ “สังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ” เข้าด้วยกัน ถ้าอำนาจรัฐ-อำนาจทุน-อำนาจสังคม สมดุลกันก็จะเกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ภายใต้หลัก 3 ประการคือ 1.วิธีทางรัฐสภา 2.พลังแห่งสามัคคี 3.พลังทางปัญญา ในทางการเมืองขอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์แก้ปัญหาโควิด-19 และถ้านายกรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งไปก็ขอให้ ส.ส. เป็นผู้ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยเป็นอิสระจากพรรค และเลือกกันหลายรอบจนได้มติเอกฉันท์ (ผมคิดในใจว่ามติ 3 ใน 4 น่าจะพอไหม) ในทางสังคม คุณหมอเสนอว่าต้องให้รู้ข้อมูลข่าวสารกันอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ และควรจัด “สมัชชาแห่งชาติเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ” ขึ้น โดยมีสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรอื่นเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ (ผมคิดในใจว่าเมืองไทยนี้อาภัพ ถ้าพวกหนึ่งเป็นเจ้าภาพ พวกอื่นไม่ค่อยอยากเข้าร่วม ทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้สมัชชาดังกล่าวกลายเป็นสมัชชาของคนพวกเดียวกัน) ในทางเศรษฐกิจ คุณหมอเสนอให้ทุกชุมชนมีที่ดินพอเพียงเป็นที่อยู่อาศัย ผลิตอาหารได้พอกินเหลือขาย รวมทั้งสร้างระบบเศรษฐกิจเชิงสังคม ทำแบบโมฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ

         ผมเห็นด้วยกับคุณหมอประเวศ แต่อยากจัดแบ่งเส้นเวลาเป็นเฉพาะหน้า-ระยะกลาง-ระยะยาว ในเรื่องเฉพาะหน้าขอให้เรามียุทธศาสตร์และนโยบายการป้องกัน-รักษา-เยียวยา โควิด-19 ที่มาจากการศึกษาและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของคณะแพทย์เป็นสำคัญ ภาคส่วนอื่นคอยสนับสนุนด้วยการริเริ่มแผนการและโครงการที่เป็นการนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาปฏิบัติใช้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกันส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นคงยากที่จะป้องกันมิให้เกิดขึ้น ผมขอขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบาย “ไม่ทอดทิ้งกัน” และไม่ใช้นโยบายเดิมเมื่อมีวิกฤติคือ กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการเติบโต (ถึงอย่างไรประชาชนคงไม่โทษรัฐบาลถ้าตัวเลขการขยายตัวจะติดลบในปีนี้) แต่พอได้อ่านข่าวในสองสามวันนี้ ก็เลยอยากฝากประเด็นเล็กๆ ไว้สองประเด็น รัฐบาลบอกให้เราให้อยู่กับบ้าน แล้วสำหรับคนไร้บ้าน เขาจะอยู่ที่ไหน ไม่ทราบว่าไปนอนวัดหรือรับอาหารที่โรงทานได้ที่ไหนบ้าง หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องจะมีโครงการที่เป็น “ข่ายความมั่นคง” (safety net) สำหรับพวกเขาและผู้ยากไร้อื่นๆ ได้สักเพียงใด อีกประเด็นหนึ่งคือ รัฐบาลมีนโยบายและแผนงานที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาตลาดออน์ไลน์มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะแผนงานที่จะอบรมและและส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้ให้บริการในตลาดใหม่ที่กำลังจะขยายตัวออกไปอยู่นี้

         เรื่องการเตรียมตัวสู่ช่วงหลังวิกฤติเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ผมจะเสนออะไรได้อย่างมีนัยสำคัญ จะเสนอให้จัด “สมัชชา” มาช่วยกันคิดอย่างที่เป็นข้อเสนอของหมอประเวศก็ดี แต่ติดอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจยังสาละวนกับเรื่องอื่น (ความจริงแบ่งคนให้แยกกันทำงานได้ก็ดี บางคนรับมือเฉพาะหน้า บางคนคิดเรื่องระยะกลาง บางคนคิดเรื่องระยะยาว) ผมเลยอยากเสนอแบบเปรยๆ ว่าถ้าเรา “อยู่บ้าน ต้านเชื้อ” แล้วยังพอมีเวลา เราน่าจะจัดวงเสวนากันหลายๆ วง ใครถนัดเรื่องใดก็ชวนคนอื่นที่สนใจมาคุยกันออนไลน์ในเรื่องนั้น แต่ละวงเสวนาจะเป็นเหมือนปมปมหนึ่งของเครือข่าย “ปัญญา” (ขออนุญาตใช้สำนวนของหมอประเวศ) ที่จะพาสังคมไทยออกจาก “เข่ง” ที่เรากำลังจิกตีกันอยู่ในนั้น (สำนวนของหมอประเวศอีกนั่นแหละ)

         ขอเสนอว่าสำหรับระยะยาว เราน่าจะมียุทธศาสตร์อย่างน้อยสามเรื่องคือ 1.การรับมือกับโลกาภิวัตน์ที่จะไม่เหมือนเดิม 2.โอกาสที่โลกไม่ควรพลาดในการรับมือกับภาวะโลกร้อน 3.การบริโภคเชิงคุณภาพและการผลิตให้เพียงพอแก่การบริโภค ถ้าเหลือก็ขาย ผมเห็นว่าประเด็นเหล่านี้สำคัญแก่การสร้างภูมิคุ้มกันแก่โลกใบนี้ได้อย่างสร้างสรรค์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ