คอลัมนิสต์

'ธรรมศาสตร์' รักประชาชน จับมือร่วมกันสู้โควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลางวิกฤติครั้งใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอร่วมจับมือฝ่าโควิด-19ไปด้วยกัน

          “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เป็นประโยคที่ดัดแปลงมาจากบทความของ กุหลาย สายประดิษฐ์ ที่ว่า “ชาว ม.ธ.ก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขาสอนให้รู้จักรักคนอื่นด้วย” อันเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          มาวันนี้วาทะของกุหลาบ สายประดิษฐ์ กำลังได้รับการพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นเพียงถ้อยคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างลอยๆ เพราะเวลานี้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังเป็นบทพิสูจน์วาทะข้างต้นอย่างแท้จริง

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยลำดับแรกๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่อาจารย์ ‘เกศินี วิฑูรชาติ’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ ‘สารจากอธิการบดี ต่อสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา’ โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า "...เราอาจจำต้องจำกัดเสรีภาพและกิจกรรมที่คุ้นชินของเราลงในฐานะที่เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นคุณค่าที่สูงกว่า เพื่อที่จะควบคุมและยืดระยะเวลาให้การแพร่ระบาดยังอยู่ในระดับที่ศักยภาพของโรงพยาบาลของเราจะรับไหว นี่เป็นหนทางเดียวที่เราจะรักษาชีวิตของผู้คนที่เรารักและเป็นพลังฟื้นฟูบูรณะประเทศของเราหลังจากนี้...."

          นับจากนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เริ่มกระบวนการเยียวยาจากภายในสู่ภายนอก โดยการดำเนินการเยียวยาภายในนั้นเริ่มตั้งแต่การเบาภาระแก่ผู้ประกอบการภายในมหาวิทยาลัยด้วยการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ธุรกิจและศูนย์อาหารเดือนมีนาคม เป็นจำนวน 50% ตามมาด้วยการให้นักศึกษาสามารถผ่อนชำระค่าหอพักได้

 

          แต่ที่ได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุด คือ การสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในเรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่ในเฟซบุ๊กของอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุว่า "ตามที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้ร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ 5 สถาบันคือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังรุนแรงมากขึ้น และระบบสาธารณสุขโดยปกติอาจจะไม่เพียงพอในการรักษา โดยได้ขอใช้อาคารดีลักซ์ ซึ่งเป็นอาคารหอพักบุคลากรและบุคคลภายนอก เป็นสถานที่ในการดำเนินการ ตามที่เป็นข่าวแล้วนั้นในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิตที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ ผมใคร่ขอชี้แจงให้ประชาคมธรรมศาสตร์ได้ทราบถึงการดำเนินการในเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

 

          1.อาคารดีลักซ์ ที่จะปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนาม จะรับเฉพาะผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วและอยู่ในระหว่างการกักตัว โดยจะดำเนินการปิดกั้นให้เป็นสถานที่ปลอดเชื้อ 100% ตามมาตรฐานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์และมาตรฐานสากลทางการแพทย์โดยไม่ให้มีการเข้าออกโดยไม่ได้รับอนุญาต และจะอนุญาตเฉพาะผู้มีหน้าที่โดยตรงเท่านั้น

 

          2.ผู้ป่วยจะมาในรถพยาบาลที่ฆ่าเชื้อและส่งเข้าโรงพยาบาลสนามทันที ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัสโควิด-19 แพร่โดยคนสู่คน ไม่แพร่ทางอากาศ ดังนั้นโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จึงปลอดภัยและไม่มีการแพร่เชื้อออกมาภายนอก 100%...

 

          “คงมีคำถามกันมากว่าทำไมต้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผมเรียนตามที่ผมทราบคือ มีที่ศูนย์รังสิตเพียงที่เดียวที่มีความพร้อมระบบสาธารณสุขโดยปกติกำลังจะไม่เพียงพอในการรับสถานการณ์ โรงพยาบาลสนามเป็นเรื่องจำเป็นกับการรับมือกับวิกฤติการณ์โควิด-19 สถานการณ์ขณะนี้คือวิกฤติของประเทศ ถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมให้ใช้ที่เพื่อนำร่องก็จะไม่มีโรงพยาบาลสนามที่อื่นตามมา และประเทศไทยอาจจะกลายเป็นแบบที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้” อ.ปริญญา ระบุ

          ทั้งนี้โรงพยาบาลสนามของธรรมศาสตร์ได้รับผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ามาพักฟื้นพร้อมกับมีมาตรการคุมเข้มโดยเฉพาะการงดออกจากห้องพักและงดการเยี่ยมผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลสนาม และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีผู้ป่วยที่หายจากอาการป่วยและกลับได้แล้วเป็นคนแรก นับว่าเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้

 

          นอกจากนี้คณะนิติศาสตร์ได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส (TU Pandemic Legal Aid Centre)” เพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โคโรนาไวรัส รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ในประเด็นปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ที่เกิดจากจากสถานการณ์โคโรนาไวรัส ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1.ผู้รับบริการเป็นบุคคลธรรมดาหรือองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ 2.ผู้รับบริการประสบปัญหาทางกฎหมายอันเนื่องมาจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โรคระบาดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเป็นปัญหาหรือข้อพิพาทภายใต้กฎหมายไทย

 

          3.ผู้รับบริการอนุญาตให้ศูนย์เผยแพร่ข้อเท็จจริงและคำปรึกษาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือข้อพิพาทในลักษณะที่ปกปิดชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการศึกษาหรือการเผยแพร่ความรู้ 4.ผู้รับบริการจะไม่นำคำปรึกษาทางกฎหมายหรือข้อมูลอื่นใดที่ได้รับจากศูนย์ไปแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า 5.ผู้รับบริการยอมรับว่าคำปรึกษาทางกฎหมายที่ได้รับจากศูนย์เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวและเป็นความเห็นในทางกฎหมายเบื้องต้นของผู้ให้คำปรึกษา และอาจแตกต่างจากผลของคดีหรือคำวินิจฉัยของศาลในอนาคต

 

          ภารกิจตลอด 85 ปี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีรากฐานมาจากหลักประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเสมอภาค ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ แต่จะเดินหน้าสืบทอดอุดมการณ์ดังกล่าวต่อไปเพื่อให้สมกับเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชนดังเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ