คอลัมนิสต์

วิบวับเคอร์ฟิว ทางเลือกสุดท้ายจากรัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสี่ เริ่มในวันที่ 3 เมษายน

          คำว่า “เคอร์ฟิว” เป็นคำที่มีคนพูดมากในข่าวสารโควิดขณะนี้

          ช่วงเที่ยงวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ในการแถลงสถานการณ์โควิด โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลื่อนประชุมมาเป็นวันพฤหัสบดี ทั้งที่เดิมทีกำหนดประชุม ศบค. ทุกจันทร์ พุธ ศุกร์ เพราะมีเหตุบางอย่างที่จะต้องคุยกัน

อ่านข่าว ด่วน ไทยติดเชื้อเพิ่ม 103 ราย ยอดสะสม 1,978 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย

 

 

          ว่าแล้วคนไทยก็สะกิดใจทันทีว่า หรือที่ลือๆ กันมาหลายวันเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวจะเป็นจริง โดยหลังจากที่ นพ.ทวีศิลป์แถลงรายงานสถานการณ์โควิดจบลง ในช่วงท้ายของการตอบคำถาม ปรากฏว่ามีคำว่ากรณีที่มีการประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ว่า ขอให้ทุกคนคอยติดตาม เวลาที่จะมีการประกาศอีกครั้งหนึ่ง เพราะนายกฯ มีความห่วงใยในทุกคนที่ปฏิบัติงาน แต่ผลของการติดเชื้อไม่ได้เพิ่ม และก็ไม่ได้ลดลง

          ที่ผ่านมามีการเกริ่นๆ มาตลอดว่า จะใช้วิธีการจากเบาไปหาหนัก นี่ก็ถึงขั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ตัวเลขผู้ป่วยโควิดก็ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดูอย่างบางจังหวัดก็มีการประกาศเคอร์ฟิวไปแล้วมากมาย

          ว่าแล้วคนไทยหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า เคอร์ฟิวคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร และที่ผ่านมาเราเคยมีการประกาศเคอร์ฟิวมาก่อนหรือไม่ จากสาเหตุใด มาทำความรู้จักกับการเคอร์ฟิวอีกครั้ง

 

          เคอร์ฟิว คืออะไร

          ความหมายตามตัว “เคอร์ฟิว”
 หมายถึง คำสั่งของรัฐบาลให้ประชาชนกลับเคหสถานก่อนเวลาที่กำหนด อีกนัยหนึ่งคือการห้ามประชาชนออกจากเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด (มักเป็นเวลากลางคืน) ซึ่งเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือให้ความสะดวกต่อการปราบปรามกลุ่มเป้าหมาย

          คำว่า “เคอร์ฟิว” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า couvre feu ซึ่งมีความหมายถึง การปิดไฟหรือดับไฟ (couvre = ปิด หรือ ดับ, feu = ไฟ) ซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษโดยสะกดว่า curfew

          ในความหมายเชิงปฏิบัติก็ความหมายเดียวกัน แต่ของจริงความรู้สึกของประชาชนที่โดนมันไม่เคยธรรมดา

          ที่ผ่านมา คนไทยอาจพอได้ยินว่าเคอร์ฟิวจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภายใต้บังคับของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอื่นๆ ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ

          ตามหลักการแล้ว การประกาศ “เคอร์ฟิว” จะเป็นมาตรการสุดท้าย  (The last resort) ที่รัฐหยิบมาใช้กับประชาชน

          และเมื่อใช้แล้วก็ควรให้สิ้นสุดโดยเร็วที่สุด คือหมายถึงการแก้ไขสถานการณ์อันไม่ปกติให้คนสู่ความปกติให้มากและเร็วที่สุด

          ถามว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเราเคยมีการประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” มาก่อนหรือไม่ ต้องบอกเลยว่า อะไรที่มีในโลกการเมืองการปกครอง บ้านเราทำมาหมดแล้ว

          แต่เคอร์ฟิวเราเคยมีมาไม่มากครั้งเท่ากับการทำรัฐประหาร และทุกครั้ง เราใช้มันตอนที่ต้องการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

          ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงให้อำนาจแก่รัฐในการประกาศเคอร์ฟิวอยู่หลายฉบับ เช่น  พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 11(6)

          และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ตามมาตรา 9(1)

          ซึ่งอันหลังก็คือที่เรากำลังถูกบังคับใช้อยูในปัจจุบันเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19

 

          เคอร์ฟิวในอดีต

          ทีนี้มาถึงตอนสนุก พลิกแฟ้มย้อนไปดูว่าประเทศไทยเราเคยมีเคอร์ฟิวมาแล้วกี่ครั้ง เท่าที่มีข้อมูล ก็พบว่าที่ว่าน้อยครั้งนั้น แต่ละครั้งก็ไม่ใช่ธรรมดา ดังนี้

          การประกาศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มี พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นผู้นำ (ตามคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 9 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก) ห้ามประชาชนในท้องที่กรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นหลังเกิดการใช้กำลังเข้าปราบปรามนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ครั้งนั้นคณะรัฐประหารประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานหลังเที่ยงคืน

          การประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยคณะปฏิวัตินำโดย บิ๊กจอวส์คนเดิม พล.ร.อ.สงัด อาศัยตามคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 4 ห้ามประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ออกนอกเคหสถาน ภายหลังคณะทหารทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี (คนที่เมื่อปี 2519 คณะทหารชุดเดียวกันได้ไปขอให้มานั่งเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นแหละ)

          การประกาศเคอร์ฟิวเมื่อ 20 พฤษภาคม 2535 โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และ 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2495 (ต่อมาถูกยกเลิกและแทนที่ด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) โดยห้ามบุคคลในท้องที่กรุงเทพมหานคร ออกจากเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.

          วันนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงปักหลักและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน จนเวลา 23.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต.จำลอง และ พล.อ.สุจินดา เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน

          การประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดย พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะกองทัพภาคที่ 4 ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 20.00-04.00 น. ในเขตท้องที่ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ประกาศ 4 ฉบับ หลังจากมีเหตุลอบวางระเบิดและลอบยิงประชาชนอย่างต่อเนื่อง

          การประกาศเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาประมาณสามเดือน ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 (1) ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 การประกาศเคอร์ฟิวครั้งนี้ไม่เพียงบังคับใช้ในกรุงเทพมหานครแต่ครอบคลุมจังหวัดอื่นๆ ที่มีการชุมนุมทางการเมืองคู่ขนานไปกับการชุมนุมในกรุงเทพมหานครด้วย

          ทั้งนี้ ศอฉ.ประกาศห้ามมิให้บุคคลใดในเขตพื้นที่กทม. ออกนอกเคหสถานภายในเวลาตั้งแต่ 20.00 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ถึงเวลา 06.00 น.ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2553

          การประกาศเคอร์ฟิว วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม่ทัพภาคที่ 4 ประกาศเคอร์ฟิว 6 ตำบลในภาคใต้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุปะทะครั้งใหญ่ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มติดอาวุธ

          และคงยังไม่ลืม การประกาศเคอร์ฟิวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ตั้งแต่ 22.00-05.00 น.

          โดยมีบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ประกอบด้วยผู้ที่มีความจำเป็นต้องเข้า-ออกประเทศ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานตามห้วงเวลาหรือเป็นผลัด เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงแรม และสายการบิน ภาคการขนส่งเชื้อเพลิงและกิจการห้องเย็น ผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลและผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ผู้มีกิจธุระจำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่

          อย่างไรก็ตาม พอผ่านไปครบหนึ่งสัปดาห์ คสช.ก็ได้แถลงประกาศ “แก้ไขห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหสถาน” โดยได้ประกาศแก้ไขห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว จากเดิมเวลา 22.00-05.00 น. ได้ปรับเปลี่ยนเป็นเวลา 00.01-04.00 น. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557

          จนกระทั่ง วันที่ 13 มิถุนายน 2557 คสช. ก็ออกประกาศยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว ทั่วราชอาณาจักร

      

          #เคอร์ฟิวหรือยัง

          ในที่สุดก็มีคำตอบว่านายกรัฐมนตรีประกาศเคอร์ฟิวตามที่กระแสส่วนใหญ่ว่าเอาแน่ และที่จริงหลายจังหวัดประกาศมาตรการฉุกเฉินที่พูดได้ว่า “ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงเคอร์ฟิว” ไปก่อนไม่รอแล้วนะ ดังนี้

          ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก ราวๆ วันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ออกประกาศ ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ประชาชน ห้ามออกนอกบ้านหรือที่พัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากภายนอก ตั้งแต่เวลา 20.00- 03.00 น. ภายหลังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง กระทั่งมีคำสั่งเปิดช่องทางเข้า-ออกจังหวัด หรือปิดเกาะ หยุดการสัญจรทั้งทางบก ทางน้ำ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 30 เมษายน ส่วนทางอากาศ คาดจะเริ่มวันที่ 10 เมษายนนี้

          แม่ฮ่องสอน ออกประกาศวันที่ 31 มีนาคม ห้ามประชาชนเข้าออกพื้นที่จังหวัด ห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เว้นแต่ทางการแพทย์และผู้ที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งให้ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พักต่างๆ คัดกรองไข้ก่อนทุกครั้ง จัดทำทะเบียนคุมผู้ใช้บริการหากเป็นชาวต่างชาติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคทันที หากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

          นนทบุรี วันที่ 31 มีนาคม ออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนทุกคน งดการออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 23.00–05.00 น. ยกเว้นเป็นผู้ขนส่งสินค้า ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน

          สมุทรปราการ ประกาศปิดร้านสะดวกซื้อเวลา 23.00-05.00 น. และให้เพิ่มมาตรการด้วยการจัดระยะห่างระหว่างลูกค้าไม่น้อยกว่า 1 เมตร เช่น บริเวณเคาน์เตอร์คิดเงิน พร้อมจัดให้มีเจลล้างมือแอลกอฮอล์บริการ และให้พนักงานและลูกค้าต้องใส่หน้กากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ให้และรับบริการ ส่วนตลาดนัด ให้เจ้าของตลาดจัดให้มีบริการเจลล้างมือ ฯลฯ เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2563

          สระแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ก็ได้ลงนามในคำสั่งให้ร้านสะดวกซื้อ เปิดบริการได้เฉพาะในช่วงเวลา 05.00-23.00 น. ตั้งแต่วันที่ 2-30 เมษายน โดยให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ให้เปิดได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร และให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

          ส่วนจังหวัดอื่นๆ ทั้งสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี มุกดาหาร อุดรธานี ฯลฯ ได้ยกระดับมาตรการคุมเข้มมากขึ้น เพื่อป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการควบคุมการเข้า-ออกในพื้นที่ และสั่งปิดร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง ให้เปิด-ปิดตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น

          และแน่นอนเวลานี้ ภายหลังการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นายกรัฐมนตรีจึงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เต็มรูปแบบ ตามข้อเสนอจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) โดยเป็นการประกาศมาตรการ ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทั่วราชอาณาจักร ในระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ