คอลัมนิสต์

โปรดฟังอีกครั้ง ทำไมต้องท่องคาถา "อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำไมต้องท่องคาถา "อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ"

          ยังคงเป็นคำถามตลอดเวลาว่า แท้จริงแล้วการหยุดอยู่บ้าน หรือ Quarantine หรือบรรดามาตรการ Social Distancing การรักษาระยะห่างทางสังคมจะทำให้เรา “รอดตาย” จากเชื้อโควิด-19 หรือทำให้เรา “อดตาย” จากการไร้งานทำ ขาดรายได้กันไปเสียก่อน

อ่านข่าว ด่วน ไทยติดเชื้อเพิ่ม 104 ราย เสียชีวิต 3 ราย

 

 

          เวลานี้ เมืองไทยมีกระแสความคิดเห็นออกมาสองมุมมองดังกล่าว สำรวจข่าวสารพบว่าทางหนึ่ง บรรดานักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน หลายคนออกมาพูดถึงเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจระดับมหาสึนามิ ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโดยตรง แต่เกิดจากมาตรการการปิดสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบถึงกันเป็นลูกโซ่ไม่ต่างจากเชื้อโรคที่ติดถึงกัน

          และคนที่ “ตายแน่ๆ” คือรากหญ้า-ลูกจ้างตัวเล็กๆ และอาจหมายถึงคนระดับผู้จัดการโรงงานที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย

          ขณะที่อีกทางหนึ่ง ฟากฝั่งคุณหมอ ไปจนถึงองค์การอนามัยโลก ผู้ซึ่งมีหน้าที่ในมิติของสุขภาพอนามัย การควบคุมการแพร่เชื้อ การรักษาเยียวยา ก็ยังคงท่องคาถา “หยุดบ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เป็นวิธีการสำคัญที่จะทำให้การแพร่เชื้อลดลงและหมดไปได้ และต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าวันนี้บุคลากรทางการแพทย์อ่อนล้ามากเต็มทีแล้ว

          ล่าสุด ฝั่งผู้วิงวอนให้อยู่บ้านได้ออกมาย้ำเตือนอีกครั้ง ในการเสวนาครั้งสำคัญเพื่ออธิบายว่าทำไมเราคนไทยถึงต้องหยุดอยู่บ้าน ในหัวข้อ “อยู่บ้าน อยู่ห่าง อยู่รอด” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข

          ซึ่งสองคุณหมอจากสองกรมที่ออกมาพูดเรื่องนี้ คือ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต และ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย 

          สองคุณหมอจากสองกรมจับมือทำงานร่วมกันเพื่อบอกกล่าวเล่าแจ้งอีกครั้งว่า ทำได้ ทำเถอะ ทำเลย “อยู่บ้านเพื่อรอด”!!

 

ตัวเลขคือของจริง

          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เริ่มด้วยการแสดงกราฟตัวเลขต่างๆ จากการใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคมออกมาเป็นแบบสำรวจวัดอุณหภูมิใจ ซึ่งเป็นการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาสุขภาพจิต โดยมีตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกบอกว่าต้องทำให้กี่เปอร์เซ็นต์ แล้ววันนี้คนไทยทำได้กี่เปอร์เซ็นต์

          อธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุว่า แน่นอนเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง โควิด-19 ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งทางฝ่ายควบคุมโรคก็พยายามดูแลอยู่ แต่เมื่อระบาดอย่างแพร่หลาย มาตรการเรื่องบุคคลในการที่จะไปควบคุมค้นหาโรค ก็ได้ทำเต็มที่แล้ว แต่ว่าการป้องกันการระบาดเป็นวงกว้างก็มีมาตรการที่สำคัญที่ไม่ใช่การใช้ยาหรือการแพทย์อะไรเลย ก็คือการเว้นระยะห่าง

          สำหรับการที่จะรู้ว่าประชาชนมีความตื่นตัวกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้อย่างไรบ้าง ทางกรมสุขภาพจิตจึงมีผลสำรวจมาฝาก โดยตั้งคำถามว่า

          “ท่านกังวลกับปัญหาโควิด 19 อย่างไร” ผู้ตอบแบบสอบถาม 15,838 คน มีความกังวลสูง 18.15% กังวลต่ำ 5.68% และกังวลปานกลางอยู่ที่ 76.17% 

          “เราอยากให้ตระหนักไม่ตระหนก คนที่ตระหนกคือกังวลสูงเกินไป ก็ไม่มีสติที่จะดูแลตัวเอง หรือป้องกันคนรอบข้างได้ ถ้ามีความตระหนักเขาจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและเตรียมตัวเตรียมใจในการดูแลตัวเองได้”

          สำหรับตัวเลขที่มีการศึกษาเรื่อง social distancing กับจำนวนการติดเชื้อพบว่า ถ้าประชาชนมีการทำ social distancing 70% ของประชากร เส้นกราฟการติดเชื้อยังคงวิ่งขึ้น ซึ่งแปลว่าไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่ถ้าเพิ่มเป็น 80-90% ตัวกราฟผู้ติดเชื้อจะดิ่งลงทันทีชัดเจนมาก 

          “เพราะฉะนั้นจุดวิกฤติของเราคือระหว่าง 70% ถ้าจะให้ดีต้อง 80-90% ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้การระบาดเป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อให้ระบบทางการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทยเราสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพและพอเพียงกับผู้ป่วย”

          นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพฤติกรรมของคนไทยว่ามีการทำ social distancing หรือไม่อย่างไร พบว่าในกลุ่มที่หลีกเลี่ยงไปที่แออัดพบมากถึง 83.9% ไม่ทำ 16.1%, ในกลุ่มที่ใกล้ชิดไม่เกิน 2 เมตร  มีการทำถึง 86.9% ไม่ทำ 13.1% 

          โดยเมื่อเพิ่มคุณภาพมากขึ้นว่า ที่หลีกเลี่ยงนี้ “ทำประจำ” หรือ “ทำบ่อยๆ” พบว่าในกลุ่มที่หลีกเลี่ยงไปที่แออัดทำประจำ 66% ทำบ่อยๆ 28.3%, ในกลุ่มที่ใกล้ชิดไม่เกิน 2 เมตร มีการทำประจำถึง 69.6 และทำบ่อยๆ 24.7%

          อย่างไรก็ดีล่าสุดมีตัวเลขของผู้ที่ทำประจำ ทั้งในส่วนของกลุ่มที่่หลีกเลี่ยงไปที่แออัด และกลุ่มที่่ใกล้ชิดไม่เกิน 2  เมตรเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย

          “เรื่องนี้เป็นเรื่องทำสำคัญที่เราจะต้องเร่งให้มีตัวเลขที่ไปทางการทำ social distancing เป็นประจำทั้งหมดให้ถึง 90% ก็น่าจะพอใจ” นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

 

ต้องทำให้ได้

          หลังจากนั้น พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ก็ได้กล่าวในการเสวนานี้ว่า “อยู่บ้าน อยู่ห่าง อยู่รอด” ต้องทำให้ได้

          “ถามว่ากลัวมั้ย ทุกคนตอบตรงกันหมดว่ากลัว และคำถามที่ทุกคนถามต่อก็คือ กลัวติดมั้ย กลัว เพราะฉะนั้นเวลาที่เราบอกว่าอยู่รอด มันต้องอยู่ห่าง เพราะถ้าติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยทั้งหมดตอนนี้ การติดเชื้อยังเกิดจากการที่ท่านไปในจุดที่ใกล้กับตัวเชื้อ ไม่ว่าจะโดยตัวท่านเองไปอยู่พื้นที่เสี่ยง และไปรับเชื้อในพื้นที่ที่มีการระบาด หรือไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แล้วก็ติด”

          ถามว่าระยะห่างที่เราต้องทำนั้นมีอะไรบ้าง พญ.พรรณพิมล บอกว่านอกจากตัวบุคคล สำหรับคนที่ยังต้องมีวิถีชีวิตที่ต้องเดินทางไปทำงาน เมื่อกลับมาบ้านก็ต้องรักษาระยะห่างทั้งการไม่เข้าใกล้กันเกิน 2 เมตร การใช้ช้อนกลางแยกกันคนละอัน แล้วก็ยังมีเรื่องของมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งมาตรการนี้มีขึ้นเพื่อทำให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น

          “ตรงนี้เราจะรู้เลยว่า ในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ เดิมเราเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนบ้าง เช่นไปทำงาน เลิกงานก็พบปะสังสรรค์ แวะซื้อของ แวะไปเดินเล่น แต่วันนี้เราต้องตอบให้ได้ว่าเราต้องลดสิ่งเหล่านี้ลงมากกว่า 80-90% ดังนั้นมาตรการนี้ของรัฐก็คือทำให้ท่านไม่ไปไหนมาไหนมากนัก”

          อย่างไรก็ดีมุมนี้ พญ.พรรณพิมลระบุว่า เราก็ต้องออกแบบตัวเองว่าแล้วใน 1 สัปดาห์ จะเหลือพื้นที่ที่เขาอนุญาตให้ไปอะไรบ้าง เช่น ไปซื้ออาหาร ของใช้จำเป็นอาทิตย์ละ 1 ครั้ง

 

 

 

          ส่วนมาตรการในการปิดสถานที่ พญ.พรรณพิมลแจงว่า ไม่ใช่แปลว่าให้เราย้ายที่ เช่นมีการปิดสถานที่บันเทิงแล้วคนไปนัดบันเทิงกันที่อื่น แต่แปลว่าตรงจุดนั้นคือความเสี่ยง โดยทุกมาตรการที่รัฐออกได้คำนึงแล้วว่ามันมีความเสี่ยงต่อทุกคน

          อย่างไรก็ดีในกลุ่มที่ Work From Home เวลานี้มีผลสำรวจออกมาว่า มีการทำอยู่ 40% พญ.พรรณพิมลระบุว่ายังน้อยไป แต่วันนี้ต้อง Work From Home ไปให้ไกลกว่า 60-70% ต้องเริ่มออกแบบงานให้ลดการทำงานในที่ทำงานลงไปให้ได้มากกว่านี้ และต้องทำให้ได้

          ใครอ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจพูดว่าฟังดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงๆ ยังมีความน่ากลัวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับมาตรการปิดที่กล่าวไปข้างต้น นั่นคือภาวะการเงินฝืดเคืองของผู้คนและระบบเศรษฐกิจที่กำลังจะล้มละลาย ที่หลายฝ่ายพูดว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยรายได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการแก้ไขปัญหา เมื่อธุรกิจต่างๆ ที่เหมือนเป็นฟันเฟืองเรื่องเงินทองยังไม่หมุน ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ เศรษฐกิจก็คงฟื้นยาก ดีไม่ดีเราจะอดตายกันก่อนที่จะติดเชื้อ !

          แต่อีกมุมหนึ่งซึ่งต้องไม่ลืมคือ ถ้าคนไทยยังมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยล้มตายรายวัน การเดินหน้าฟื้นฟูทางเศรษฐกิจก็สามารถว่ากันใหม่ได้แน่นอน!!

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ