คอลัมนิสต์

จลาจลบุรีรัมย์สะท้อนวิกฤติ ภัยโควิด-นักโทษล้นคุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ ล่าความจริง โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร

       เหตุการณ์จลาจลที่เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ สาเหตุหลักๆ นอกจากความต้องการ “อยากออก” ของบรรดาหัวโจกในคุกแล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับสภาพความแออัดภายใน และกระแสตื่นกลัวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วย

 

 

 

      พวกตัวเอ้ที่อยากสร้างความวุ่นวาย ก็ใช้ความกลัวโรคระบาดในการปลุกปั่นช่องโหว่ช่องว่างที่เอื้อให้ก่อเหตุได้ ก็คือการเร่งก่อสร้าง “ห้องคัดแยกกักกันโรค” ซึ่งก็เป็นผลมาจากวิกฤติโควิดอีกนั่นแหละ
      ขณะที่ความแออัดในเรือนจำทำให้เกิดความรู้สึก “อยู่ยาก” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีกระแสไวรัสแพร่เชื้อขึ้นมาอีก จึงยิ่งเพิ่มดีกรีเป็นระดับ “อยู่ไม่ไหว”

 

 


     ส่องเฉพาะเรือนจำบุรีรัมย์ มีนักโทษและผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำจะรับได้มากกว่า 200 คน แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้ขยายความจุแบบเต็มพิกัดเพิ่มขึ้นถึง 30% แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ต้องขังเกินความจุอยู่ดี

จลาจลบุรีรัมย์สะท้อนวิกฤติ ภัยโควิด-นักโทษล้นคุก


     จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ในภาพรวมมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศราว 377,000 คน ขณะที่ความจุของเรือนจำทุกแห่งรวมกันอยู่ที่ 250,000 คนเท่านั้น สะท้อนว่ามีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าความจุมาถึงกว่า 127,000 คน จนเป็นที่ทราบกันว่าผู้ต้องขังแต่ละคนมีที่นอนคนละไม่ถึง 1 ตารางเมตร
     ฉะนั้นจะใช้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” หรือ social distancing เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่โควิด จึงย่อมเป็นไปไม่ได้
     ยิ่งที่ผ่านมาหลายๆ เรือนจำมีมาตรการงดเยี่ยมญาติ (เพื่อสกัดโควิด) จึงยิ่งทำให้เกิดความเครียด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการก่อจลาจลมาแล้วในเรือนจำบางประเทศ เช่น อิตาลี หรือโคลอมเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย กระทั่งมาเกิดซ้ำรอยในบ้านเรา
     ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนในมุมมองของ ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ที่เน้นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องจัดการปัญหา “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” อย่างเป็นระบบ ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวแล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลายไปมากกว่านี้
     จากการเก็บข้อมูลของ TIJ มีมาตรการเชิงรุกเสนอเพิ่มเติมจากมาตรการของกรมราชทัณฑ์ที่ทำไปบ้างแล้ว โดยมุ่งไปที่การพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราว หรือปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนที่อยู่ในข่ายสมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ประกอบด้วย
    - นักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวน 72,000 คน
    - “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา” ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีราวๆ 67,000 คน นับเป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลก
    - ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิตหากโควิดระบาด ทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราวๆ 5,800 คน
    - กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิดพ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีก 9,000 คน

จลาจลบุรีรัมย์สะท้อนวิกฤติ ภัยโควิด-นักโทษล้นคุก

     ผู้ต้องขังเหล่านี้กรมราชทัณฑ์และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอาจพิจารณาร่วมกันเพื่อใช้วิธีการปล่อยชั่วคราว (ให้ประกันตัว) หรือปล่อยก่อนกำหนด หรือพักโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความแออัดในเรือนจำไปในตัว
     ที่ผ่านมาหลายประเทศก็เริ่มพิจารณาใช้มาตรการเหล่านี้บ้างแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อิหร่าน อินเดีย เป็นต้น บางประเทศนำระบบเยี่ยมญาติออนไลน์มาใช้เพื่อลดความเครียดของผู้ต้องขังด้วย

    ดร.กิตติพงษ์ บอกด้วยว่าทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้วิกฤติไปก่อน และต้องพิจารณาเพิ่มเติมไปถึงห้องกักของ ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย
    สำหรับระยะยาวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องพูดคุยกันอย่างจริงจึงถึงการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เพราะจากสภาพที่เป็นอยู่ ชัดเจนว่าเมืองไทยใช้โทษจำคุกฟุ่มเฟือยเกินไป จนมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำติดอันดับสูงสุดของโลก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ