คอลัมนิสต์

เปิด 15 มาตรการรับผลกระทบโควิด19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.อนุมัติมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 รวม 15 มาตรการ

          การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ครม.เห็นชอบตามที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน ระยะที่ 2 รวมกว่า 15 มาตรการ แบ่งเป็น 8 มาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และ 7 มาตรการดูแลและเยียวยา ผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

 

 

 

          สำหรับ 8 มาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย

          1.สนับสนุนเงิน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ให้เงินเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จากการปิดที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน ทั้งนี้ แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 ด้วยการแสดงหลักฐาน บัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลนายจ้าง ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com รับเงินเยียวยาผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน และจะมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร

          2.สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน

          3.สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน มีหลักประกัน

          4.สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

          5.ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปเป็นสิงหาคม 2563

          6.หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นโดยเพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท

          7.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัย ให้บุคลากรทางการแพทย์

          8.ฝึกอบรมมีเงินใช้ โดยฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพ หรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ ขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เป็นต้น

 

 

 

          ส่วน 7 มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย

          1.สินเชื่อรายย่อย ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) ให้สินเชื่อต่อราย ไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% 2 ปีแรก

          2.ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 จากเดิมพฤษภาคม 2563 ออกไปเป็นภายใน 31 สิงหาคม 2563, ภ.ง.ด.51 จากเดิมสิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายใน 30 กันยายน 2563

          3.ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น แวต ภาษีธุรกิจเฉพาะและอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษี และชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน

          4.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการ สถานบริการ เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีสถานบริการ ออกไป 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม–31 พฤษภาคม 2563 ให้เสียภาษี 15 กรกฎาคม 2563

          5.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิต ให้ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยเลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษี ภายใน 10 วัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ระยะเวลา 3 เดือน

          6.ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้า ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้า ที่ใช้รักษาและป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลา 6 เดือนถึงช่วงกันยายน 2563

          7.ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียม จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Non-Bank) โดยให้เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลีสซิ่ง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563–31 ธันวาคม 2564

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ