คอลัมนิสต์

เครือข่ายผู้บริโภคชี้ "เงื่อนงำเงินประกันไฟฟ้า" จี้คืนเงินย้อนหลังให้หมด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรณี "สำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน" ประกาศคืนเงิน "หลักประกันการใช้ไฟฟ้า" ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย จำนวนกว่า 23 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 33,000 ล้านบาทนั้น

 

 

                           ได้เกิดคำถามมากมายว่าทำไมต้องเก็บเงินส่วนนี้ในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้า...โดยเฉพาะการพบเงื่อนงำน่าสงสัยหลายประการ มีเสียงเรียกร้องให้แสดงตัวเลขทั้งหมดให้โปร่งใสและคืนเงินย้อนหลังให้หมดด้วย !

 

 

                           ล่าสุด “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึก” ว่า หลังจากฟังข้อมูลตัวแทน “ผู้บริหาร” หน่วยงานเกี่ยวข้องกับการไฟฟ้าฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้า” กว่า 3 หมื่นล้านที่จะคืนให้ประชาชนนั้น ไม่ได้เป็นเงินค่าประกันมิเตอร์อย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่เป็นเงินที่ถูกเก็บมาเพื่อใช้กรณี ผู้ใช้ไฟไม่สามารถค้างชำระค่าไฟฟ้าได้  หรือค้างชำระค่าไฟฟ้าเกินระยะเวลาที่กำหนด

 

                           “เครือข่ายผู้บริโภคก็เลยเริ่มสงสัยแล้วว่า ต้องมีเงื่อนงำบางอย่าง หรือการเอาเปรียบประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมา ใครไม่จ่ายเงินค่าไฟตรงตามเวลาแค่ 7 วันก็โดนตัดไฟแล้ว และยังต้องให้พวกเราไปแจ้งเปิด และจ่ายค่าค่าธรรมเนียมต่อไฟคืนอีก 107 บาท  หมายความว่า ถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าโดนเก็บค่าหลักประกันล่วงหน้าไปแล้วเฉลี่ย 2 เดือน หากไม่ได้ไปจ่ายค่าไฟก็ไม่ควรต้องโดนตัดไฟอย่างน้อย 2 เดือน ถูกหรือไม่ ?

 

 

 

                            ตัวแทนผู้บริโภคข้างต้นกล่าวต่อว่า นอกจากเก็บเงินแบบไม่ยุติธรรมแล้ว ยังมีเงื่อนงำอีกว่าเอาเงินค่าประกันที่คนไทยจ่ายไปบ้านละ 2 – 4 พันบาท รวมสะสมมาหลายปีน่าจะหลายหมื่นล้านบาทนั้น เอาไปทำอะไรบ้าง มีข้อมูลมาว่าเงินส่วนนี้ โดนเอาไปเป็นค่าลงทุนในการขยายเขตเสาไฟฟ้าให้ทุกพื้นที่ แต่ตอนนี้แทบทุกบ้านก็มีไฟฟ้าไปถึงแล้ว เงินก้อนนี้ผู้บริหารการไฟฟ้าทุกหน่วยงาน ต้องชี้แจงให้ละเอียดเอาตัวเลขย้อนหลังมาเปิดกางแจกแจงให้ประชาชนเห็นว่าเอาเงินไปทำอะไรบ้าง เพื่อความโปร่งใสและความสบายใจของทุกฝ่าย

 

                           “ตอนนี้พวกเรากำลังช่วยกันสืบหาข้อมูลว่า มีอะไรซ่อนอยู่ในเงินประกันค่าไฟนี้ เอาไปลงทุนอยู่ที่ไหน เอาไปหาผลประโยชน์อะไรบ้าง  และจะดูด้วยว่าถ้าเป็นเงินหลักประกันค่าไฟฟ้ากรณีจ่ายช้าเกิน 2 เดือนจริง ก็ต้องโอนเงินที่เคยเก็บค่าธรรมเนียมต่อไฟ 107 บาทคืนย้อนหลังด้วย ถ้าใครไม่ได้จ่ายช้าไปมากกว่า 2 เดือน ตามที่การไฟฟ้าฯอ้าง พร้อมทั้งเงินผลประโยชน์ที่ได้จากเงินก้อนนี้ด้วย ต้องคืนมาให้หมด ไม่ใช่คืนเฉพาะเงินต้นอย่างเดียว” สารี อ๋องสมหวัง กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

 

 

เครือข่ายผู้บริโภคชี้ "เงื่อนงำเงินประกันไฟฟ้า" จี้คืนเงินย้อนหลังให้หมด

 

 

                           ทั้งนี้ “เงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้า” เป็นเงินที่กำหนดให้ผู้ขอใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมาต้องจ่ายวางไว้ตั้งแต่ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าครั้งแรก ตามอัตราที่กำหนดไว้ เช่น เครื่องวัดขนาด 5 (15) แอมแปร์ ประมาณว่ามีการใช้ไฟฟ้าเดือนละไม่เกิน 150 บาท จึงกำหนดหลักประกันไว้ 300 บาท เครื่องขนาด 15 (45) แอมแปร์ใช้ไฟเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 1,000 บาท กำหนดหลักประกัน 2,000 บาท เครื่องขนาด 30 (100) แอมแปร์หลักประกัน 4,000 บาท เครื่องขนาด 50 (150) แอมแปร์หลักประกัน 6,000 บาท ฯลฯ

 

                            เดือนธันวาคม 2562 สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่ามี “ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย”  22 - 23 ล้านรายวาง “เงินค่าประกันการใช้ไฟ” ประมาณรายละ 2 – 4 พันบาท คิดเป็นวงเงินรวมมากกว่า 2 หมื่นล้าน โดยคิดจากค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 เดือน เพื่อนำไปใช้กรณีมีผู้ไม่ยอมบิลค่าไฟ หรือกรณีถูก “งดจ่ายไฟฟ้าจริงเท่านั้น” ที่ผ่านมาหากใครจ่ายช้าเกินกำหนด  5-7 วันจะโดนตัดไฟ แต่เมื่อปี 2559 มีการเปลี่ยนแปลงเป็น10 วัน โดยจะมีหนังสือแจ้งเตือนก่อนอย่างน้อย 5 วัน เท่ากับว่ามีเวลาประมาณ  15 วัน ก่อนโดนงดจ่ายไฟฟ้า

 

 

 

                           หากผู้ใช้ไปจ่ายค่าไฟแล้ว ต้องจ่าย ค่าธรรมเนียมเลยกำหนดไม่จ่ายค่าไฟฟ้า 2  แบบ คือ ค่าธรรมเนียมการงดจ่ายไฟของการไฟฟ้านครหลวง 40 บาท  และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 107 บาท แม้จะยังไม่มีการตัดไฟจริงก็ตามแต่ต้องจ่าย หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า “ค่าต่อไฟคืน”  

                             โดยเงินค่าธรรมเนียม “ค่าต่อไฟคืน”  ส่วนนี้ เครือข่ายผู้บริโภคกำลังตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องมีในเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าหลักประกันไฟฟ้าไปแล้ว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ