คอลัมนิสต์

นักจุลชีววิทยาวิเคราะห์ "ยาโควิด-19"... ยังไม่ได้ผล 100 %

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

            

                         ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ชาวโลกต่างดีใจที่แพทย์หลายประเทศประกาศผลสำเร็จการทดลองใช้ “ยารักษา” โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า “โควิด -19” ในผู้ป่วย โดยมีชื่อยาหลายชนิดเผยแพร่ออกมา แต่ปรากฏว่า ผอ.องค์การอนามัยโลกให้สัมภาษณ์ 23 มีนาคม ถึงความไม่แน่ใจว่ายาที่ใช้นั้นได้ผลจริง...แถมอาจส่งผลอันตรายกับผู้ป่วยด้วย !

 

 

                          “SARS-CoV-2” ชื่อรหัสไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้มีอาการ “โรคปอดอักเสบรุนแรง” เริ่มจาก ไข้สูง ไอ จาม มีเสมหะ เจ็บคอ มีน้ำมูก หากอาการหนักมากจะเหนื่อยหอบ หายใจติดขัด ถ้ารักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
           

                          เนื่องจากเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่กลุ่มแพทย์ทั่วโลกได้พยายามพลิกตำราค้นหา “ยา” ที่รักษาเชื้อโรคกลุ่มต่าง ๆ มาทดลองใช้กับคนไข้ขั้นโคม่า ได้แก่

             

                         “กลุ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี” ที่ใช้รักษาผู้ป่วยเอดส์” เช่น “รีโทรนาเวียร์” (Ritonavir) และ “โลพินาเวียร์”(Lopinavir) เป็นสูตรผสมกันรักษาผู้ป่วย

             

                         “กลุ่มยารักษาไวรัสไข้หวัดใหญ่” เช่น โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir)  “บาลอกซาเวียร์ มาร์โบซิล” (Baloxavir marboxil)

               

                         “กลุ่มยาฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัส”  โดยเฉพาะยาชื่อ “ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่เคยใช้ได้ผลกับผู้ป่วยไวรัสอีโบลา ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสโรคปากและเท้า ฯลฯ

                 

                         “กลุ่มยารักษามาลาเรีย” ที่ชื่อว่า คลอโรควิน (chloroquine)  หรือ ไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine)

   

                         

                        โดยยากลุ่มหลังนั้น ฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และฝั่งอเมริกามีการใช้กันมาก แพทย์เลือกที่จะทดลองใช้ยาคลอโรควินกับผู้ป่วยโควิด-19 เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นยาเก่าแก่ใช้รักษาผู้ป่วยมาลาเรียได้ผลมานานหลายสิบปีแล้ว

         

                        เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของอเมริกาถึงกับเอ่ยปากชมว่า ยาคลอโรควิน จะเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้สถานการณ์ของการระบาดโควิด – 19 เปลี่ยนแปลงไป

           

                        สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขเลือกใช้กลุ่มยามีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์” เป็นหลัก จากการศึกษาของทีมแพทย์จีน ที่อ้างว่าได้ผลดีในคนไข้ที่ป่วยในระยะปานกลาง   

 

                        “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมต.สาธารณสุข รีบติดต่อไปยังรัฐบาลจีนกับญี่ปุ่นขอซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธุ์ ตอนนี้ของไทยสั่งมาเตรียมไว้แล้วประมาณ 1 แสนเม็ด โดผู้ป่วย 1 คนใช้ประมาณ 70 -80 เม็ด หมายความว่ามีสำรองให้ผู้ป่วยหนักประมาณ 1.5 พันคน ยาตัวนี้มีคุณสมบัติสำคัญช่วยให้อาการปอดอักเสบดีขึ้น ด้วยกลไกออกฤทธิ์ไม่ให้ไวรัสขยายจำนวนเพิ่มในร่างกาย

                        ทั้งนี้หากวิเคราะห์ถึง “สูตรยา” ที่ทีมแพทย์ไทยใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเกือบ 800 คนในปัจจุบันนั้น มีการเลือกใช้ยาทั้ง 4 กลุ่มข้างต้นผสมผสานกัน

                         น.พ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลสื่อมวลชนถึง 4 สูตรยาสำคัญ ที่ทีมแพทย์ไทยทดลองใช้รักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ได้แก่ 

สูตรที่ 1 ยาต้านไวรัสเอชไอวี  +  ยารักษาไวรัสไข้หวัดใหญ่

สู ตรที่ 2 ยาต้านไวรัสเอชไอวี + ยาฟาวิพิราเวียร์  

สูตรที่ 3  ยาต้านไวรัสเอชไอวี + ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ + ยาคลอโรควิน

สูตรที่ 4  ยาต้านไวรัสเอชไอวี + ยาฟาวิพิราเวียร์ + ยาคลอโรควิน

     

นักจุลชีววิทยาวิเคราะห์ "ยาโควิด-19"... ยังไม่ได้ผล 100 %

 

 

                        “รศ.ดร. จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์”  กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา ระดับอาจารย์สอนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ให้ “คมชัดลึก” ฟังว่า โควิด – 19 มีขนาดเล็กมาก ๆ ประมาณ 0.125 ไมครอนหรือ125 นาโนเมตร เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรม “อาร์เอ็นเอสายบวก” ทำให้มีคุณสมบัติในการเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว

 

นักจุลชีววิทยาวิเคราะห์ "ยาโควิด-19"... ยังไม่ได้ผล 100 %

         

                          “ต้องเข้าใจก่อนว่า ตอนนี้ยังไม่มียาที่ใช้จัดการตัวไวรัสโควิด-19 ได้โดยตรง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่แพทย์กำลังพยายามทดลองใช้กลไกออกฤทธิ์ของยาตัวอื่นที่เคยผลิตมาแล้ว เช่น ฟาวิพิราเวียร์ ที่เป็นยามีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัสได้หลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย  ไวรัสไข้เหลือง แต่ยาตัวนี้มีผลข้างเคียงพอสมควร คือ ยาผ่านรกและขับออกทางน้ำนม ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง อาจทำให้ทารกในท้องพิการได้ โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาในขนาดสูง

 

 

 

นักจุลชีววิทยาวิเคราะห์ "ยาโควิด-19"... ยังไม่ได้ผล 100 %            

 

 

                              ส่วนยาคลอโรควิน แม้เป็นยารักษามาลาเรียที่ผลิตขายมานานมาก แพทย์มาทดลองใช้กับผู้ป่วยโควิดเพราะมีกลไกออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบได้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจมีผลข้างเคียงทำอันตรายต่อระบบตาได้เช่นกัน”

           

                        พร้อมกล่าวต่อว่า ตอนนี้รู้สึกเป็นห่วงว่า คนไทยเข้าใจผิด คิดว่ามียารักษาแล้วไม่ต้องป้องกันตัวเองมากก็ได้ บางคนถึงขนาดไปหาซื้อยามากินป้องกัน เช่น ยาคลอโรควินที่วางขายทั่วไปเพื่อให้ผู้ป่วยมาลาเรีย ซึ่งอาจทำให้เกิดผลค้างเคียงอันตรายต่อร่างกาย คนไข้ที่กินยาเหล่านี้ต้องให้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นสูตรยาที่นำมาทดลองรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 ก็เป็นการใช้ยาหลายกลุ่มผสมกัน

 

                          “ยืนยันอีกครั้งว่า ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบยารักษาไวรัสโคโรนาตัวนี้ แพทย์แต่ละประเทศเลือกรักษาตามความเหมาะสม เอายาที่ออกฤทธิ์ดีกับเชื้อโรคอื่นมาปรับใช้ ล่าสุดมีข่าวดีว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของเอนไซม์ (Enzyme) ย่อยโปรตีนของโควิด-19 แล้ว ซึ่งถ้ากำจัดเอมไซน์ตัวนี้ได้เมื่อไร ก็สามารถหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสตัวนี้ในร่างกายมนุษย์ได้ แต่คงต้องรอสักพักกว่าจะมีการทดลองว่าได้ผลจริงหรือไม่”  รศ.ดร. จันทร์เพ็ญ กล่าวอธิบาย

       

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ