คอลัมนิสต์

ซ้ำซาก 'สื่อไทย' ดูถูก 'คนลาว'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซ้ำซาก 'สื่อไทย' ดูถูก 'คนลาว' คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง


 

          เกือบบานปลาย เมื่อผู้ประกาศข่าว รายการ “ข่าวเย็นช่องวัน” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง one 31 กล่าวทำนองไม่เชื่อมั่นว่า เมียนมาร์และลาว ไม่มีใครติดเชื้อโควิด เนื่องจากสองประเทศนี้ ไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจ คือไม่มีแล็บ แม้แต่ชุดตรวจก็ยังไม่มี แถมโรงพยาบาลไม่มีมาตรฐาน 

 

อ่านข่าว...  "ช่องวัน" ขอโทษแล้ว ดราม่าผู้ประกาศข่าวดังบูลลี่ลาว

 

 

          แล้วกรณีดังกล่าวก็จบลงด้วยดี หลังผู้บริหาร และผู้ประกาศข่าวได้เข้าขอโทษขออภัยประชาชนลาวผ่านทูตลาวประจำกรุงเทพฯ 


          จริงๆ แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับ “สื่อไทย” ย้อนไปก่อนหน้านั้น ก็มีหลายกรณี แต่ไม่อยากฟื้นฝอย แต่ขอตั้งข้อสังเกตบางประการ เกี่ยวกับการรับข้อมูลข่าวสารจากเพื่อนบ้าน สื่อไทยยังดูเบาเรื่องนี้


          ในยุคสมัยไร้พรมแดน มีเฟซบุ๊ก มียูทูบ เป็นเครื่องมือสื่อสาร คนลาวอ่านภาษาไทยได้ จึงติดตามข่าวสารฝั่งไทยได้ง่ายขึ้น อาศัยเสพข่าวฝั่งขวาจากสำนักข่าวออนไลน์ ไม่ต้องรอชมทางทีวีของไทยเหมือนในอดีต

 

ซ้ำซาก 'สื่อไทย' ดูถูก 'คนลาว'

 


          ขณะที่สำนักข่าวหลักในเมืองไทย ยังอาศัยการติดตามข่าวสาร “เพื่อนบ้าน” จากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์, วีโอเอ และซินหัว แต่สำนักข่าวเหล่านั้น ก็เลือกแปลบางข่าวจากเพื่อนบ้าน


          อันที่จริง สำนักข่าวของรัฐบาลลาว ได้พัฒนาการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวสารปะเทดลาว, นสพ.ลาวพัดทะนา, นสพ.เวียงจันทน์ใหม่ และ นสพ.เสดถะกิดการค้า รวมสำนักข่าวออนไลน์ลาวของเอกชนก็มีเยอะ




          หากสำนักข่าวหลักในเมืองไทย หาคนเกาะติดข่าวสารเพื่อนบ้านจากแฟนเพจเฟซบุ๊กของสำนักข่าวในลาว ก็จะรับรู้การเคลื่อนไหวในทุกมิติของ สปป.ลาว ไม่ต้องมารอให้สำนักข่าวฝรั่งแปล หรือฟังขี้ปากใครบางคน แล้วเอามาเล่าผ่านหน้าจอ


          ที่แย่ไปกว่านั้น สื่อออนไลน์ไทยบางจำพวก คอยส่องเฟซบุ๊กลาว เอาเรื่องไร้สาระ ไม่มีที่มาที่ไปมาเสนอ เรียกยอดไลค์ ยอดวิว รวมถึงนักข่าวภูมิภาคบางคน ดันไปหยิบเอาข่าวปลอมมาส่งส่วนกลาง ทำให้การเสนอข่าวจากเพื่อนบ้านไม่ตรงกับข้อเท็จจริง


          สำหรับเรื่องมาตรฐานการตรวจหาเชื้อโควิดของลาว เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 สื่อออนไลน์ลาวทุกสำนักได้รายงานข่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุขลาว ได้เชิญตัวแทนสถานทูตต่างชาติ มาฟังการแถลงเตรียมความพร้อมรับมือไวรัสโควิด โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด

 

 

ซ้ำซาก 'สื่อไทย' ดูถูก 'คนลาว'

 


          ถ้ากองบรรณาธิการช่องวัน ได้ติดตามข่าวนี้ ก็คงไม่ปล่อยให้ผู้ประกาศข่าวออกไปจ้อหน้าจอหยามหยันเพื่อนบ้านว่า ไม่มีเครื่องมือตรวจหาเชื้อโควิด


          ปัจจุบัน สปป.ลาว มีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโควิด 3 แห่งคือ 1.ศูนย์วิเคราะห์และระบาดวิทยา 2.สถาบันปาสเตอร์ ลาว โดยการช่วยเหลือของสถาบันปาสเตอร์ ฝรั่งเศส 3.ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ของโรงพยาบาลมะโหสด หรือ สูนวิใจพะยาดชมเชื้อลาว-คริสตีฟ เมอริเออร์


          เมื่อพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะเก็บตัวอย่างส่ง 3 ห้องแล็บ และเพื่อความมั่นใจในการวิเคราะห์แต่ละครั้ง กระทรวงสาธารณสุขลาว ยังได้ส่งตัวอย่างไปให้ห้องปฏิบัติการขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่ออสเตรเลียวินิจฉัย จึงจะแถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบ


          นับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม จนถึง 20 มีนาคม 2563 สปป.ลาว พบผู้ต้องสงสัย 106 กรณี เมื่อนำตัวอย่างมาตรวจหาเชื้อ ผลเป็นลบ 103 กรณี และกำลังรอผลจากออสเตรเลียอีก 3 กรณี


          สำนักข่าวซินหัวของจีน ได้แปลข่าวชิ้นนี้เป็นภาษาไทยเหมือนกัน บังเอิญกองบรรณาธิการช่องวัน หรือผู้ประกาศข่าวคนนั้น ไม่ได้ติดตามหาข้อมูล จึงด้นสดตามประสานักเล่าข่าว เลยเกิดเรื่องบาดหมางกับเพื่อนบ้าน

 

 

ซ้ำซาก 'สื่อไทย' ดูถูก 'คนลาว'

 


          กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่องวัน ก็มาจากความผิดพลาดในการเสาะแสวงหาข้อมูลข้างต้น เมื่อเจ้าตัวออกมาขออภัยประชาชนลาวผ่านหน้าจอ ก็จบด้วยดี แต่รู้สึกรำคาญพวกนักเล่าข่าวหน้าจอบางช่อง ที่ไปลากประวัติศาสตร์บาดแผลมาวิเคราะห์เป็นตุเป็นตะ


          เรื่องนี้แก้ไม่ยาก หากสื่อไทยให้ความสำคัญกับ “สื่อเพื่อนบ้าน” ไม่งอมืองอเท้ารอให้ฝรั่งแปลข่าวให้เราแต่ฝ่ายเดียว ภาษาลาว เขมร และเมียนมาร์ เรียนรู้ไม่ยากหรอก 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ