คอลัมนิสต์

"เคล็ดลับกลับบ้าน" ไม่แพร่โควิด-19 ปู่ย่าตายาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย..ทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก



            หลังรัฐบาลประกาศ “คำสั่งควบคุมการออกนอกบ้าน”  เพื่อป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และ 5 จังหวัดใกล้เคียง จำนวน 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 ทำให้พนักงานหรือคนทำงานที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดหลายกลุ่มทยอยเดินทางกลับบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนงานในธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรง 26 ประเภท เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สนามกีฬา สถานบันเทิง ศูนย์ประชุม อาบอบนวด ฯลฯ คาดว่าคนกลุ่มนี้อาจถึงฉุกเฉินไม่ต่ำกว่าแสนคน

 

 

           จากสถิติผู้ขอขึ้นทะเบียน ”ว่างงาน” ในระบบประกันสังคมเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีมากถึง 8.4 หมื่นคน โดยเดือนมีนาคมตัวเลขจะเพิ่มเป็นหลักแสนคน ยังไม่รวมกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประกอบอาชีพรับจ้างส่วนตัว กลุ่มนี้คือผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง “คำสั่งควบคุมการออกบ้าน” โดยตรง เมื่อไม่มีงานทำก็ต้อง  “กลับบ้านเฮา”

            ทำให้มีคำเตือนจากเครือข่ายผู้สูงอายุ ขอให้พี่น้องแรงงานที่ทยอยเดินทางกลับบ้านในชนบท ช่วยกันดูแลป้องกันตัวเอง เพราะอาจแพร่เชื้อสู่ “ปู่ย่าตายาย” แบบไม่รู้ตัว โดยเฉพาะหลังอิตาลียืนยันว่าผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วเกือบ 5 พันคนในไม่กี่วันนั้น ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

 

 

 

            “นพ.วิชัย โชควิวัฒน์” ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ฯ กล่าวแนะนำเคล็ดลับว่า ผู้จำเป็นต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาในชนบท ช่วงระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ช่วง 1- 2 อาทิตย์แรกควรแยกตัวไม่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ ทั้งปู่ย่าตายาย ผู้เฒ่าในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้ หากผู้ติดเชื้อมีร่างกายแข็งแรง อาจไม่มีอาการป่วยอะไรเลย แต่มีความเป็นไปได้ที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่นแบบไม่รู้ตัว

 

            “ตอนนี้เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ในพื้นที่ต่างจังหวัดและในชนบทของไทยส่วนใหญ่ ยังไม่พบการติดเชื้อตัวนี้ ขอร้องให้คนจากพื้นที่เสี่ยงหากหยุดงานแล้วกลับไปอยู่ในหมู่บ้าน ช่วยกันรักษาสุขภาพอนามัย ใส่หน้ากาก ล้างมือ แยกตัวห่างจากคนรอบข้างให้มากที่สุด แม้ว่าจะไม่มีอาการป่วยอะไรก็ตาม โดยเฉพาะต้องไม่เข้าใกล้คนสูงวัยที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าหนุ่มสาว เช่น ไม่นั่งทานข้าวด้วยกัน จานชามช้อนส้อมให้แยกชุดกันเด็ดขาด หากเป็นไปได้ต้องแยกห้องนอนด้วย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องพยายามหาวิธีอยู่ห่าง ๆ กันให้มากที่สุด แต่เป็นแค่ช่วงแรก ๆ แค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น”

 

 

"เคล็ดลับกลับบ้าน" ไม่แพร่โควิด-19 ปู่ย่าตายาย

 

               ทั้งนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มคนทำงานเท่านั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องระวังตัว ดังเช่นกรณี “อุดรธานี” พบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นตำรวจ 191 ชุดปฏิบัติสนามมวยลุมพินี 1 ราย แม้ต้นสังกัดสั่งให้กักตัวเฝ้าดูอาการ แต่กลับขัดขืนเดินทางไปเยี่ยมบ้านที่ “อำเภอกุดจับ” ด้วยรถโดยสาร  จนรู้สึกตัวเป็นไข้ก็ไปตรวจในโรงพยาบาลวันที่ 14 มีนาคม ในที่สุดจนผลตรวจวันที่ 19 มีนาคม ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด- 19 (COVID-19)

          ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่า ตำรวจคนนี้เข้าตรวจที่โรงพยาบาลกุดจับ 2 ครั้ง และปิดบังข้อมูลสาเหตุอาการป่วย ไม่บอกว่าเข้าร่วมชุดปฏิบัติสนามมวยลุมพินี กลับมาอุดรแล้วยังไปเที่ยวล่องแพกับเพื่อน ไปสนามซ้อมไก่ในหมู่บ้าน ไปงานแต่งงาน ฯลฯ สร้างความเดือนร้อนให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นอย่างมาก ตอนนี้ชาวบ้านในชุมชนหรือสถานที่เกี่ยวข้องรู้สึกวิตกกังวล โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ

 

 

 

           ตามกฎหมายแล้ว ตำรวจผู้ป่วยโควิด-19 ผู้นี้ต้องโดนโทษปรับและจำคุกตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 พฤติกรรมปกปิดประวัติ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน อาจมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท

 

            ล่าสุด “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” ประกาศคำสั่งขอความร่วมมือจัดทําแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอําเภอและหมู่บ้าน กรณีผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  โดยขอให้มีการจัดตั้งทีมอาสา COVID-19 ระดับอําเภอและหมู่บ้าน เพื่อดําเนินการค้นหาและเฝ้าระวัง  จัดทําฐานข้อมูลผู้เดินทางกลับไปภูมิลําเนา ตั้งแต่ 22 มีนาคมเป็นต้นไป และ 3 ให้ความรู้เรื่องวิธีการแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดผู้อื่นในบ้านจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมากลับถึงภูมิลําเนา

 

                            ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายละเอียด แจ้งผู้เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่ง “คมชัดลึก” นำมาสรุปได้ 5 ข้อดังนี้  

1  กินข้าวแยกต่างหาก ไม่ร่วมกับผู้อื่น

2  แยกของใช้ส่วนตัว  เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม  ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม

3  ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่นาน 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70 % ลูบมือจนแห้ง

4 หลีกเลี่ยงพูดคุยใกล้ชิดกับ “ผู้สูงอายุ และ “ผู้ป่วยเรื้อรัง”

5 หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

            วินาทีนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปกป้อง “ปู่ย่าตายาย” ของพวกเรา เพราะเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้ “ติดง่าย แพร่ง่าย” คนแข็งแรงทั่วไปอาจไม่ป่วย แต่ผู้สูงอายุสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน ติดแล้วเสี่ยงอันตรายทันที !

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ