คอลัมนิสต์

สถานการณ์เปราะบาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถานการณ์เปราะบาง # บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2563 #

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เพียงแค่จะส่งผลให้มีผู้ป่วยผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หรือจะเรียกว่าวิกฤติด้านสุขภาพของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดแรงงานครั้งใหญ่ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับประชาชน โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เปิดเผยรายงานล่าสุดชื่อ “COVID-19 and the world of work: Impacts and responses” ระบุว่า ประชาชนทั่วโลกจะตกงานราว 5.3-24.7 ล้านตำแหน่ง อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจและแรงงานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งสูงกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2551-2552 ที่ทำให้มีคนตกงาน 22 ล้านตำแหน่ง

             รายงานของไอแอลโอยังได้มีการคาดการณ์ว่า การทำงานต่ำกว่าระดับจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ชั่วโมงการทำงาน และค่าจ้างลดลง ผู้ประกอบอาชีพอิสระในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมักช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง อาจไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ในเวลานี้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของประชาชนและสินค้า ผลของการจ้างงานที่ลดลงจะทำให้แรงงานสูญเสียรายได้จำนวนมากราว 8.6 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 2563 ความสูญเสียมหาศาลดังกล่าวนำมาซึ่งข้อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจออกมาตรการเร่งด่วนขนาดใหญ่และประสานงานกันใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การปกป้องแรงงานในสถานที่ทำงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน และการส่งเสริมงานและรายได้

 

 

 

             หลายประเทศประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมถึงรัฐบาลสหรัฐที่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่ชาวอเมริกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 เช่นเดียวกันกับรัฐบาลไทยเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในหลายๆ ด้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการประเมินกรณีเลวร้ายสุดคือการเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้คนตกงานทันที 1 ล้านคน ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และมีข้อเสนอแนวทางให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนรับมือสถานการณ์โควิด-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริการ และค้าปลีก

 

           

             มรสุมที่รุมเร้าในขณะนี้ส่งผลให้กำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศซบเซา ปัญหาด้านการผลิต การจำหน่าย การขนส่งสินค้าและนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมีความล่าช้า โดยประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและกระจายไปทั่วโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติลดน้อยถอยลง ขณะเดียวกันคนไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการของทางรัฐทำให้หลายคนต้องตกงานและหยุดประกอบอาชีพเป็นเวลานาน เมื่อเงินขาดมือจึงต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ประกอบกับปัญหาภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบการเกษตรลดลง ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเร่งให้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะมีแผนการช่วยเหลือใดๆ ออกมาอีก ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการปิดประเทศหรือปิดเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคให้ลุกลามไปสู่ระยะที่ 3 ให้ช้าที่สุด คงจะมีผลกระทบตามมาอีกเป็นระลอกคลื่น ในเมื่อจำเป็นทุกคนก็ต้องยอมเจ็บ แต่กระนั้นก็ต้องคำนึงว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุดด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาคำตอบว่าเราจะอยู่กันอย่างไรในช่วงที่ประเทศไทยเปราะบางและอ่อนไหวที่สุดในขณะนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ