คอลัมนิสต์

เตรียมใจให้พร้อม บิ๊กตู่ เตรียมงัดพ.ร.บ.มั่นคงฯสู้'โควิด-19'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ้น มี.ค.นี้.. หากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ยังคุมไม่อยู่ รัฐบาลจ่อประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  

     ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทยอยเพิ่มขึ้นและกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค กำลังส่งสัญญาณให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องตัดสินใจงัดมาตราการขั้นสูงสุด หรือที่เรียกว่า 'ยาแรง' ออกมาบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม หากมาตราการต่างๆของรัฐบาลที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

     หน่วยงานความมั่นคง กำลังสังเคราะห์และประเมินผล ภายหลังรัฐบาลออกมาตรการสกัดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือว่าได้ผลระดับหนึ่ง สำหรับการยับยั้งเชื้อไวรัส ทั้ง "ทางบก-ทางเรือ-ทางอากาศ" ที่กำหนดให้ ชาวต่างชาติที่มาจากกลุ่มเสี่ยง 4 ประเทศและ 2 เขตปกครอง ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ,มีประกันสุขภาพ ,ติดแอพพลิเคชั่นติดตามตัว และถูกกักโรค 14 วัน

     แต่การควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ เป็นเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงแสดงความกังวล แม้รัฐบาลจะประกาศปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ เวทีมวย โรงภาพยนตร์ ฯลฯ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกนอกบ้าน เพื่อสกัดแพร่ระบาด แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กลับเพิ่มขึ้นทุกวัน

      ปัจจัยหนึ่งมาจากกลุ่มคนเสี่ยงติดโรค แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ตามขั้นตอนกระทรวงสาธารณสุข และกลับไปใช้ชีวิต เที่ยว ดื่ม สังสรรค์ ช็อปปิ้ง ซึ่งมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น เช่น กรณี สนามมวยลุมพีนี รามอินทรา ที่มีกลุ่มเสี่ยงติดโรคประมาณ 500 คน แต่ตรวจพบเพียงกว่า 100 คนเท่านั้น

เตรียมใจให้พร้อม บิ๊กตู่ เตรียมงัดพ.ร.บ.มั่นคงฯสู้'โควิด-19'

   พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งซีล กทม.เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในพื้นที่ ด้วยมาตราการปิดห้างสรรพสินค้า- สนามกอล์ฟ ตลาดทั่วทั้ง กทม.เป็นเวลา 22 วัน เป็นการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 

     นอกจากนี้ หน่วยงานความมั่นคง ได้รับข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข ที่ประเมินสถานการณ์แนวโน้มผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น สถานการณ์รุนแรงที่สุดจะมีผู้ติดเชื้อ16.7 ล้านคน ภายใน 1 ปี แต่หากสถานการชะลอได้ จะมีผู้ติดเชื้อ 9.9 ล้านคนภายใน 2 ปี และหากสถานการณ์ควบคุมได้ จะมีผู้ติดเชื้อ 400,000 คนใน 2 ปี และการแพร่ระบาดจะเป็นไปตามฤดูกาล

เตรียมใจให้พร้อม บิ๊กตู่ เตรียมงัดพ.ร.บ.มั่นคงฯสู้'โควิด-19'

     ภายใน 14 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 18 -31 มี.ค. หากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส "โควิด-19" ยังไม่เป็นผลต่อการควบคุม หรือยังไม่เป็นผลตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้ หรือบางพื้นที่ บางจังหวัด พบผู้ป่วย "โควิด-19" เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะตัดสินใจใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกมาให้มีผลบังคับใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในสิ้นเดือน มี.ค.นี้

     "ขณะนี้คิดเอาไว้ แต่ยังไม่ประกาศ เพราะต้องดูว่ามาตราการทั้งหมดที่ประกาศออกไป หากใช้ได้ผล ก็ใช้ไปก่อน เพราะต่อให้ออก พรบ.ความมั่นคงฯ และ พรก.ฉุกเฉินฯ มาตรการๆก็คล้ายกับของเดิม แต่จะเพิ่มความเข้มข้น ซึ่งต้องดูไปถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ หากยังเอาอยู่ มีแนวโน้นต้องขยายตามมาตรการ ขณะนี้การลดการเอาเชื้อเข้าประเทศได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ต้องดูการแพร่ระบาดภายในประเทศ ว่ามีขีดความสามารถนำตัวคนไทยติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการได้มากน้อยแค่ไหน" หน่วยงานความมั่นคง ระบุ

   

  แต่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากมองในแง่ของกฎหมายเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องของ ครม. และอยู่บนฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพราะกฎหมาย 2 ฉบับนี้ มีความคล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันที่ความเข้มข้นการบังคับใช้ ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลต้องพิจารณา

   หากเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะมีขั้นตอนมากกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ต้องเสนอผ่าน สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ก่อนนำเข้า ครม.อนุมัติประกาศใช้ โดยอาศัยมาตรา 15 ตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบ ส่วนมาตรา 16 จัดตั้งพื้นที่ และผู้บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการจัดการ ขณะที่มาตรา 18 ห้ามออกจากเคหาสน์สถานในยามวิกาล

   ในขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะปฏิบัติงานได้รวดเร็วกว่า เพราะผ่านเพียงขั้นตอนคณะรัฐมนตรี( ครม.)เท่านั้น  รวมถึงมาตราการเข้มข้น และให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากกว่า โดยสามารถตรวจค้นและควบคุมตัวได้ 7 วัน
    แต่มีข้อเสียก็คือ นานาประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่อต้าน อีกทั้งยังกระทบธุรกิจ

    จึงเป็นที่มาของ อัครราชทูตประจำประเทศไทยหลายประเทศ ได้ขอรับทราบถึงมาตราการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 ของไทยในอนาคต จาก นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมการรองรับหากรัฐบาลไทย เตรียมประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้

   ขณะนี้รัฐบาลกำลังเพิ่มระดับความเข้มข้น ในการออกมาตราการต่างๆยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว แต่อีกไม่กี่วันนับจากนี้ หากสถิติผู้ติดเชื้อไม่ลดลง แต่ก้าวกระโดดเหมือนประเทศในยุโรป พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือคิวต่อไป

    อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :เปิดไทม์ไลน์ 12 เดือน ไทยติดเชื้อโควิด-19เท่าไหร่?

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ