คอลัมนิสต์

ส่องมาตรการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องมาตรการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19 คอลัมน์... Inside ครม.

          การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะหนักเอาการ โดยผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของไวรัส ที่ยังไม่มีท่าทีจะเบาลงแม้แต่น้อย

          รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เตรียมมาตรการรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจไว้หลายมาตรการ เริ่มจากกระทรวงการคลัง ที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นเจ้ากระทรวง มีมาตรการ 1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 2 เป็นระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย โดยเน้นที่ผู้ประกอบการระดับกลางและระดับเล็ก รวมวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 150,000 ล้านบาท

         2.การพักเงินต้นลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเป็นมาตรการเสริมสำหรับผู้ที่ต้องการกู้เงินภายใต้กรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาท ตามมาตรการที่ 1 ดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

         3.การอำนวยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ดำเนินการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอื่น

        4.มาตรการเสริมจากกองทุนประกันสังคม เช่น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมวงเงิน 30,000 ล้านบาท เริ่มต้นที่ร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 ปี, มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ อาทิ การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1.5 เริ่มเดือนเมษายนถึงวันที่ 1 กันยายน 2563, ส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงาน โดยให้สถานประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้างในธุรกิจเอสเอ็มอี หักรายจ่ายได้ 3 เท่า, เร่งคืนภาษีมูลราคาเพิ่มให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ

 

 

 

         

          5.สำหรับผู้ที่ซื้อหน่วยการลงทุนในกองทุนออม ให้สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการชั่วคราวเพิ่มอีก 200,000 บาท ช่วงปีภาษี 2563 นี้

          ขณะที่กระทรวงพลังงาน โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ มีมาตรการสำคัญคือการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก จำนวน 21.5 ล้านราย วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะสามารถเริ่มทยอยคืนได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563

          ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.บ้านพักขนาดเล็ก ที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 แอมป์ มีการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 300 บาท, 2.บ้านเรือนส่วนใหญ่ ใช้มิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 2,000 บาท, 3.บ้านพักขนาดใหญ่ ใช้มิเตอร์ 30 แอมป์ วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 4,000 บาท และ 4.ประชาชนส่วนน้อยที่ใช้มิเตอร์ 15 แอมป์ ซึ่งมี 3 เฟส วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 6,000 บาท

 

 

 

         ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีมาตรการ เช่น การลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท 3 เดือน เมษายน-มิถุนายน งบประมาณ 5,160 ล้านบาท, ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะ ธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย 

       มาตรการลดค่าน้ำประปาในอัตราร้อยละ 3 ให้แก่ผู้ใช้น้ำทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน, ขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและห้องพัก โดยไม่คิดดอกเบี้ย สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน, คืนเงินประกันการใช้น้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำประเภทบ้านพักอาศัย 5.7 ล้านราย วงเงิน 2,838 ล้านบาท

       นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติงบประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อดูแลประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ