คอลัมนิสต์

ก้าวแรก-ก้าวไกล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยัน ก้าวไกลไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล...คอลัมน์เกาะขอบรั้วสภา

          ไม่มีอะไรพลิกโผภายหลัง พรรคก้าวไกล มีมติเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นหัวหน้าพรรค ประกาศแนวทางการทำงานโดยยืนยันว่ายังคงสานต่องานของ พรรคอนาคตใหม่ ตามเดิม พร้อมกับระบุว่าไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่

          ขณะที่ พรรคก้าวไกลกำลังก้าวเดินไปในอีกด้านหนึ่งจะพบว่าอดีตพรรคอนาคตใหม่ก็เริ่มปฏิบัติการ “เราไปต่อ” เช่นกัน ภายหลังเตรียมเปิดตัว “คณะก้าวหน้า” เพื่อขับเคลื่อนการทำกิจกรรมทางการเมืองนอกสภาอย่างเข้มข้น ซึ่งไม่รู้ว่าชื่อของพรรคก้าวไกลกับคณะก้าวหน้าที่มีความใกล้เคียงกันนั้นเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ประการใด

          อย่างไรก็ตาม แม้พรรคก้าวหน้าจะเพิ่งก่อรูปกันได้ไม่นาน ทว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ต้องเดินไปสู้คดีเสียแล้ว ภายหลังเมื่อไม่นานมานี้ ‘พิธา’ เพิ่งไปรับข้อกล่าวหาการจัดชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แต่ถึงกระนั้นพิธายืนยันว่าจะเดินหน้าต่อสู้คดีเต็มที่

          “เราเชื่อมั่น​ในสิทธิ​เสรีภาพของการชุมนุมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิไตย​ ไม่ใช่แค่ 4 วินาทีตอนเข้าคูหาเลือกตั้ง ถ้าคนกลุ่มหนึ่งที่มีความเห็น​หรือมีความทุกข์​ร้อนอะไรจะรวมตัวกันเพี่อแสดงออก ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ในประเทศที่มีระบอบ​ประ​ชาธิปไตย​ ผมคิดว่าการใช้วิธีทางกฎหมายในเกมการเมือง แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศ​ทางการเมืองของประเทศไทย​ที่ไม่ต้องการให้มีคนหน้าใหม่เข้ามา ผมอยากให้มีบรรยากาศที่เอื้อให้คนเก่งๆ ให้เลือดใหม่ หรือคนที่มีความสามารถจริงๆ มีโอกาสที่จะเข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น” พิธา ระบุ

ก้าวแรก-ก้าวไกล

          เปลี่ยนจากเรื่องการเมืองในพรรคการเมืองมาเป็นการเมืองของสภากันบ้าง การทำงานของคณะกรรมาธิการในสภาคงไม่มีคณะไหนน่าสนใจเท่ากับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพราะเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือ การพบกับแกนนำนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้จัดแฟลชม็อบเป็นครั้งแรก เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก้าวแรก-ก้าวไกล

          ทั้งนี้ กลุ่มผู้นำนักศึกษาส่วนใหญ่ต่างนำเสนอความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าต้องการให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องผ่านการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถสรุปออกมาได้เป็น 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.เรื่องสิทธิเสรีภาพ จะต้องห้ามไม่ให้นำกฎหมายความมั่นคงมายกเว้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกกรณี 2.ขอเสนอให้แก้มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวณ ส.ส. เรื่องนี้ข้อดีคือจะทำให้พรรคใหญ่ไม่มีเสียงที่มากจนเกินไป และให้พรรคเล็กได้มีพื้นที่ 3.ควรแก้ไขมาตรา 159 ว่าด้วยที่มานายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ ควรมาจากส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องไม่ให้ ส.ว.ที่มาจาก คสช. เข้ามาเป็นอุปสรรค และ 5.สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระอย่างเป็นรูปธรรม

          ข้อเสนอทั้งหมดเหล่านี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เข้ามานั่งฟังและร่วมแลกความคิดเห็นกับนักศึกษาด้วยตัวเอง โดยยืนยันว่าจะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ