คอลัมนิสต์

แนะเคล็ดลับ เช็ก 4 เงื่อนไข...ก่อนซื้อ "ประกันโควิด-19"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตัวแทนขายประกันแนะเคล็ดลับ 4 เงื่อนไขที่ต้องตอบตัวเอง ก่อนซื้อ "ประกันโควิด-19" ที่สำคัญคือต้องรู้เงื่อนไขว่า ตรวจพบโควิด – 19 เท่านั้นถึงจ่ายค่าคุ้มครอง

                   หลายคนกำลังเป็นห่วงภาวะแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการหาซื้อ “ประกันภัยโควิด-19” เพื่อลดภาระทางการเงิน หากโชคร้ายติดเชื้อนี้ขึ้นมา... แต่ใครจะรู้ว่าผู้ซื้ออาจกลายเป็นเหยื่อของกลุ่มธุรกิจที่ฉวยโอกาส... ก่อนควักเงินซื้อโปรดอ่านคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตัวแทนขายประกัน!

 

                   ตอนนี้ตลาดแข่งขันขายประกันโควิด–19 กำลังเดือดสุดขีด เปิดราคาสู้กันตั้งแต่ถูกสุด 99 บาทจนถึง 1,500 บาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจไม่ถูกว่าควรเลือกซื้อแบบไหนดี เพราะแม้แต่ในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ยังมีขายประกันภัยแบบเลือกซื้อเบี้ยเพียง 117 บาทต่อปี หรือใช้แต้มสะสมแลกก็ยังได้ หากพบเชื้อโควิดจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล 7 พันบาท และป่วยขั้น “ภาวะโคม่า” จ่ายให้ทันที 7 หมื่นบาท หรือกรณีบางบริษัทเสนอแผนความคุ้มครองจ่ายค่าเบี้ย 1,300 ตรวจพบโควิด-19 จ่ายทันที 2 แสนบาท หากเข้ารักษาในภาวะโคม่าจะมีวงเงินคุ้มครองอีก 1 ล้านบาท

              

             หลายคนสับสนว่าควรดูเงื่อนไขก่อนซื้อประกันอย่างไรบ้าง?

 

              ตัวแทนขายประกันจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึก” ว่าก่อนเลือกซื้อประกันภัยโควิด–19 ต้องอ่านรายละเอียดและพิจารณา 4 เงื่อนไขสำคัญดังนี้

 

                1. บริษัทที่เลือกต้องเป็นบริษัทมีชื่อเสียงเชื่อถือได้เท่านั้น ไม่ควรเลือกซื้อบริษัทเล็กหรือเปิดใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะที่ผ่านมาเคยมีบริษัทเปิดใหม่ขนาดเล็กมาขาย “ประกันวินาศภัย” แล้วสักพักก็ปิดตัวเองหายไป เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเคลมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของลูกค้าที่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้หลายรายในเวลาใกล้เคียงกัน

 

                2.ไม่ควรซื้อประกันที่ราคาถูกมากเกินไป เช่น 99 บาท เพราะจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียงแค่ 1-2 หมื่นบาท ซึ่งไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่ายในกรณีที่เกิดติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ควรเลือกซื้อราคาตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จะจ่ายประมาณ 1 แสนบาท

 

                 3. ไม่ต้องจ่ายซ้ำซ้อนหากมี “กรมธรรม์ประกันชีวิต” พ่วง “ประกันภัยสุขภาพ” ซึ่งปกติจะมีการคุ้มครองโรคร้ายอยู่แล้ว เพราะการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วป่วย ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จะได้รับการคุ้มครองตามสิทธิเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าเจ็บป่วยไม่สบายจากเชื้อไวรัสตัวใดก็ตาม นอกจากอยากซื้อ“ประกันภัยโควิด-219” เพิ่มเติมเป็นพิเศษ

 

                  4.ควรศึกษา “เงื่อนไขที่เขียนซ่อนไว้” หรือรายละเอียดยิบย่อยในกรมธรรม์ ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละบริษัท เช่น บางแห่งระบุว่า “ผู้ซื้อ” ต้องไม่เคยมีประวัติเดินทางออกนอกประเทศไทยเป็นเวลา 30 วัน ในวันเริ่มต้นที่กรมธรรม์คุ้มครอง หรือ ต้องมีร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว“ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้ติดโรค” หรือ“ไม่เคยอยู่ในกลุ่มที่เคยถูกสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือบางบริษัทกำหนดว่าขายเฉพาะคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น อยู่ต่างประเทศซื้อไม่ได้

 

                   ตัวแทนขายประกันข้างต้นกล่าวแนะนำต่อว่า“ ที่สำคัญคือต้องรู้เงื่อนไขว่า ตรวจพบโควิด – 19 เท่านั้นถึงจ่ายค่าคุ้มครอง หลายคนเข้าใจผิดว่าถ้าไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจก็คุ้มครองแล้ว จ่ายค่าตรวจไป 5 -7 พันบาทแต่ไม่พบโควิด แล้วมาเคลมว่าไปตรวจโควิด บริษัทไม่จ่ายเด็ดขาด จ่ายเฉพาะคนที่ตรวจแล้วเจอโควิด ตอนนี้คนสูงอายุก็ซื้อได้ เพราะระบุอายุตั้งแต่ 1 – 99 ปี แนะนำว่าอย่าซื้อราคาถูกเกินไป ตอนนี้มีบางบริษัทประกันภัยปิดการขายไปแล้ว ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร ให้พิจารณาว่าต้องการวงเงินคุ้มครองแบบไหน บางแห่งตรวจพบจ่ายทันที 5 หมื่นบาทแล้วจบกันไป คนที่ซื้อแบบนี้ควรเป็นผู้ที่เคยซื้อประกันสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว แต่ซื้อเพิ่มเพื่อความอุ่นใจ แต่ถ้าใครไม่มีอาจต้องซื้อแบบที่จ่ายหลักแสนบาทขึ้นไป เพื่อให้ครอบคลุมขณะที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เพราะแต่ละคนมีอาการหนักเบาไม่เท่ากัน”

 

              ล่าสุด “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย” (คปภ.) มีคำสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยใช้ภาวะการประกาศโรคระบาดของรัฐบาล ในกรณีเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 มาเป็น“ข้ออ้าง”หรือเป็น“ข้อยกเว้น”  ไม่ยอมจ่ายค่าคุ้มครองกรณีผู้ที่ซื้อกรมธรรม์ชีวิตหรือประกันสุขภาพไว้แล้ว

 

               นอกจากนี้คปภ. ยังมีนโยบายช่วยเหลือการทำประกันให้กับชาวบ้านทั่วไปที่เป็นสมาชิกกองทันหมู่บ้านทั่วประเทศด้วย โดย“รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ระบุว่าปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านมีสมาชิกทั่วประเทศ 8 หมื่น กองทุน แต่ละกองทุนมีสมาชิกประมาณ 100 คน สำนักงาน คปภ.จะนำระบบประกันภัย หรือ “กรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิด-19”เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านพิจารณาร่วมกัน โดยเฉพาะ สำหรับสมาชิกกองทุนมีความเสี่ยง

 

              ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจอยากตรวจสอบรายชื่อ “บริษัท” และ “สาขา” ของบริษัทประกันชีวิตสามารถเช็คได้ที่เวบไซด์สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  http://www.oic.or.th/th/industry/statistic/data/27/2

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ