คอลัมนิสต์

ตารางชีวิต "เทพไท" 4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตารางชีวิต "เทพไท" 4.0 คอลัมน์ Special Weekend 

 

 

 

          เป็นอีกหนึ่งนักการเมืองที่ชื่อว่าใช้การสื่อสาร “โซเชียลมีเดีย” ในการทำงานมานานหลายปี สำหรับ “เทพไท เสนพงศ์” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เปิดพื้นที่ความคิดเห็นส่วนตัวและข้อเสนอ ต่อประเด็นสำคัญในสถานการณ์ทางการเมือง และส่งต่อในกลุ่มไลน์สื่อมวลชนประจำพรรคประชาธิปัตย์ไม่เว้นแต่ละวัน

 

 

          “เทพไท” เล่าถึงที่มาที่ไปการใช้โซเชียลมีเดียว่า ที่ใช้มานานแล้วคือทวิตเตอร์ (ยอดติดตามในทวิตเตอร์ @Theptai นับถึงวันที่ 10 มี.ค.2563 อยู่ที่ 37,130 แอคเคานท์) ซึ่งรสนิยมของผู้นำทั่วโลกส่วนใหญ่จะใช้ทวิตเตอร์ในการสื่อสารเป็นหลัก อาทิ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถือเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความรวดเร็ว จึงมีไว้สำหรับการติดตามข่าวในทวิตเตอร์เพราะส่วนใหญ่ผู้สื่อข่าวมีกันทุกคน ทำให้ในทวิตเตอร์เป็นช่องทางรายงานข่าวได้รวดเร็วกว่าช่องทางอื่น สามารถดูได้ง่าย ไม่ยาว ไม่เยิ่นเย้อ


          “เทพไท” บอกว่า หลังจากนั้นก็หันมาใช้เฟซบุ๊กในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง (ยอดติดตามในเฟซบุ๊ก 7,996 แอคเคานท์) โดยเฉพาะการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ในช่วงการลงพื้นที่พบประชาชน โดยเฟซบุ๊กไลฟ์จะมีประโยชน์ตรงที่หากเราปราศรัยจะมีคนมาฟังเต็มที่ได้ประมาณ 1,000 คน แต่หากมีการเพิ่มช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์เข้าไปด้วย จะมีผู้เข้ามาติดตามได้ไม่จำกัด บ้างครั้งมีผู้มาติดตามเป็นหมื่นๆ คน


          “ในพื้นที่ผมจะใช้เฟซบุ๊กเป็นส่วนใหญ่ โดยตั้งแต่เช้าเดินตลาดนัดเราก็ไลฟ์ได้ในช่วงพบแม่ค้าต่างๆ จากนั้นช่วงสายจะขยับมาที่สภากาแฟ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ได้ โดยสื่อมวลชนจะจับประเด็นในการไลฟ์ตรงนี้นำไปเขียนข่าวต่อไป หรือช่วงสายอีกหน่อย หากมีงานผ้าป่าหรืองานภาคบันเทิง ก็จะเฟซบุ๊กไลฟ์เช่นกัน หากในช่วงเดินทางไปร่วมงานศพในภาคใต้สามารถปราศรัยได้ ก็จะเฟซบุ๊กไลฟ์อีกครั้ง ส่วนตอนค่ำหากเป็นงานแต่งงานหรือขึ้นบ้านใหม่ ก็ร้องเพลงบนเวที ก็ใช้เฟซบุ๊กไลฟ์อีกเช่น”




          ไม่ใช่แค่นั้นหากวันใดที่ภารกิจ “เทพไท” รัดตัว เขาจะใช้ช่วงเวลาเดินทางหยิบโทรศัพท์มาเฟซบุ๊กไลฟ์ได้อีก ส่วน “อินสตาแกรม” หรือไอจี เป็นอีกช่องทางที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้งาน ก็เป็นอีกช่องทางที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ผู้นี้ เข้าไปใช้งานเช่นกัน ถึงจะไม่บ่อยครั้งเมื่อเปรียบเทียบกับ “ทวิตเตอร์-เฟซบุ๊ก” โดยกิจกรรมที่จะเข้าใช้งานใน “ไอจี” ส่วนใหญ่จะเข้าไปดูภาพแฟชั่นต่างๆ ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา ถือเป็นช่องทางบันเทิงที่เทพไทมีไว้ติดตามเช่นกัน


          ตั้งแต่ “เทพไท” ผันตัวเข้าสู่วงการการเมือง จนมาเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์สมัยแรกเมื่อปี 2548 ได้ใช้รูปแบบการสื่อสารทั้งการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยิ่งในช่วงที่เป็นโฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เวลาจะแถลงข่าวต้องเดินทางมาที่ห้องแถลงข่าวของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วต้องมาแถลงข่าวด้วยตัวเองทุกวัน โดยก่อนแถลงข่าวต้องมอนิเตอร์ข่าวสารจากแหล่งต่างๆ แต่ขณะนี้ไม่ต้องแล้วเพราะโทรศัพท์อยู่ในมือ สามารถมอนิเตอร์ได้เลย หรือมีเพจเฟซบุ๊กจำนวนมากที่ติดตามข่าวสารได้ตลอด


          “เทพไท” ยอมรับว่าการปรับมาใช้สังคมออนไลน์ ทำให้เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนได้รวดเร็วมากขึ้นสามารถอัดคลิปวิดีโอหรือเฟซบุ๊กไลฟ์ได้ทันที โดยเฉพาะการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา ทำได้สะดวกเช่นกัน เพราะขณะนี้ในสภาถือว่ามี 2 กลุ่ม ภายหลังสภาเว้นวรรคมา 4-5 ปีทำให้บริบทเปลี่ยนไปมากมาย อาทิ พบว่าเวลา ส.ส.รุ่นเก่าอภิปรายจะมีแผ่นข้อมูลประกอบการอภิปราย แต่ ส.ส.สมัยใหม่หลายคนมีเพียงโน้ตบุ๊กตัวเดียวก็อภิปรายได้เลย ถือเป็นความเปลี่ยนไปอย่างมาก


          “ถึงเราจะไม่ใช่ ส.ส.รุ่นเก่า แต่ก็ไม่ใช่เป็น ส.ส.รุ่นใหม่ซะทีเดียว ยังเป็นรุ่นกลางๆ ก็ต้องพยายามประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดีย ถึงแม้จะไม่เชี่ยวชาญ แต่ก็พยายามทำให้ได้ไม่ตกขบวน”


          ส่วนเสียงสะท้อนในสังคมออนไลน์จากเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านที่มาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กนั้น “เทพไท” ยอมรับว่า ได้อ่านคอมเมนต์เหล่านั้นบ้างเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ในเฟซบุ๊กของตัวเองจะเป็นแฟนคลับที่เป็นขาเชียร์มากกว่า แต่บางครั้งจะไปดูคอมเมนต์จากเพจข่าวอื่นๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ซีเรียสเพราะถือว่าโดยธรรมชาติของคนไทยแล้ว จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “นักเลงคีย์บอร์ด” เป็นกลุ่มที่ไม่ว่าใครพูดอะไรก็ด่าอย่างเดียว


          “ส่วนใหญ่ผมก็อ่านแล้วเฉยๆ ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เต้นตามหรือหลงกระแส เพียงเราต้องกำหนดจุดยืนของเราว่า สิ่งใดถูกต้องก็เดินหน้าต่อไป”


          “เทพไท” ยังกล่าวถึงเรื่องที่มีการพูดถึงขบวนการ “ไอโอ” ขึ้นมานั้น ถ้าไปเต้นตามคอมเมนต์เหล่านี้ ก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะถ้ามีไอโอในเฟซบุ๊กของตัวเอง ก็ถือว่ามีน้อยมาก ส่วนไอโอในข่าวตามเพจสื่อออนไลน์ต่างๆ จะมาถล่มก็ไม่ว่าอะไร เพราะไม่ได้อ่านอะไรมากอยู่แล้ว


          สุดท้ายการวางบทบาทของตัวเองในสังคมโซเชียลมีเดียหลังจากนี้ “เทพไท” บอกว่ามีคนเสนอให้ทำรายการทอล์กอีกครั้ง แต่ทำผ่านทางมือถือโดยมีห้องส่ง แต่ขณะนี้ยังไม่คิด เพราะไม่มีเวลาขนาดนั้น เนื่องจากต้องใช้ทีมงานและอุปกรณ์หลายส่วน ทำให้ยังไม่อยากจะทำตรงนี้ แต่หากถึงเวลาจริงๆ อาจจะต้องทำ เพราะอีกด้านมีคนเรียกร้องอยากให้กลับมาจัดรายการทีวี เหมือนการจัดรายการ “สายล่อฟ้า” ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่สื่อสารกับประชาชนได้


          “แต่การจัดรายการประเภทนี้ต้องใช้เวลาอย่างมาก แล้วเราเป็น ส.ส.ด้วยทำให้ไม่มีเวลาเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังเก็บไว้คิดก่อนว่าจะทำอย่างไร จะพยายามหาช่องทางไว้สื่อสารกับประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็จะทำต่อไป”


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ