คอลัมนิสต์

วิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่ คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬา

 

 


          การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีมติวินิจฉัยสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจจากประชาชนจำนวนมาก ตามมาด้วยกระแสประท้วงหลากหลายแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคอนาคตใหม่

 

อ่านข่าว...  ยุบ "พรรคอนาคตใหม่" รัฐบาลได้อย่าง - เสียอย่าง

 

 

          คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าประเด็นการยุบพรรคดังกล่าวควรนำมาวิเคราะห์และเสวนาเพื่อเข้าใจถึงที่มาของการวินิจฉัยคดี ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงได้จัดเวทีเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ เรื่องวิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ขึ้น


          ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้นำการเสวนาอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มิได้บัญญัติการห้ามการกู้ยืมชัดเจน แต่มีการใช้คำว่าพรรคการเมือง “อาจ” มีรายได้ และมิใช่บทบังคับ ดังนั้นจะไม่มีบทลงโทษ


          “ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่าในเมื่อมาตรา 62 เขียนว่าพรรคอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้ แปลว่ามีทางอื่นได้ไหม เราต้องมาพิจารณาด้วยว่าพรรคการเมืองมีสถานะเป็นอะไร เพราะตามหลักกฎหมาย ถ้าหากเป็นองค์กรรัฐ เมื่อไม่มีกฎหมายเขียนว่าทำได้ องค์กรรัฐนั้นๆ จะทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพลเมือง ถ้าไม่มีกฎหมายห้าม ย่อมกระทำได้ ซึ่งตามนิยามของพรรคการเมืองคือคณะบุคคลที่รวมตัวกัน จัดตั้งเป็นพรรคและจดทะเบียน”


          อาจารย์ปริญญาชี้ว่าในเมื่อพรรคการเมืองจึงมิใช่องค์กรรัฐ เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามกระทำ ก็ย่อมกระทำได้ การกู้เงินจึงน่าจะทำได้ เพียงแต่พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายมหาชน ทั้งนี้ ในมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีการเขียนบทลงโทษหากบริจาคเกิน 10 ล้านบาท หากการกู้เป็นการบริจาคตามที่วินิจฉัย โทษที่กำหนดก็ไม่ถึงขั้นยุบพรรค เพราะโทษตามมาตรา 66 ตัดสินโทษทางอาญา เป็นการจำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

 



          การสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้บทลงโทษของมาตรา 72 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ห้ามพรรคการเมืองรับเงินที่มีแหล่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือรู้ว่าได้มาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษคือการยุบพรรค


          “องค์ประกอบความผิดของมาตรา 66 และ 72 ต่างกัน ในกรณี 72 คือรับเงินบริจาคที่เป็นเงินผิดกฎหมาย เช่น เงินที่ได้จากการขายยา หรือการฟอกเงิน ซึ่งก็ไม่ใช่ และเมื่อตัดสินยุบพรรค ก็กระทบสิทธิไม่เพียงนักการเมืองที่ลงเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว


          รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้ข้อสงสัยที่ระบุว่าการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่มีความผิดปกติอยู่ 5 ประการ ได้แก่


          งบการเงินของพรรคปี 2561 มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เพียง 1.4 ล้านบาท แต่เพราะเหตุใดถึงทำสัญญากู้เงินครั้งแรกถึง 191 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า แม้มีการชำระคืนหลายครั้ง แต่ชำระหนี้ครั้งแรกในวันที่ 4 มกราคม 2562 คืนเงินสดเพียง 14 ล้านหลังทำสัญญาเพียง 2 วัน จึงผิดปกติ


          สัญญาฉบับที่ 2 รับเงินเพียง 2.7 ล้าน จากที่ทำเรื่องกู้ 30 ล้าน ทำสัญญากู้ใหม่โดยมีเงินกู้เดิมค้างอยู่ ไม่เป็นไปตามปกติการค้าและปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน
  

          “ผมเองก็อยากถามในเรื่องความผิดปกติตามที่ศาลท่านวินิจฉัยว่า แปลกหรือไม่หากนิติบุคคลหนึ่งต้องการขอสภาพคล่องทางการเงินและกู้เงินเพื่อให้ชำระหนี้ในอนาคต น่าเสียดายที่ศาลไม่ได้ชำระข้อเท็จจริงนี้หรือดูว่าใบแจ้งหนี้ของพรรคเป็นอย่างไร”
  

          ส่วนประเด็นดอกเบี้ยที่มีการระบุว่าไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า อาจารย์ณรงค์เดช ชี้ว่าจากการค้นคว้าหาข้อมูล ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารใหญ่ 5 รายแรกของประเทศไทยอยู่ที่อัตราร้อยละ 7.187 และตามกฎหมายแพ่งทั่วไปคือต้องคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15
  

          “สำหรับผมถ้าหากมองว่าดอกเบี้ยจะผิดปกติหรือไม่ ต้องดูดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ซึ่งอยู่ที่อัตรา 1.57 ถ้าหากคุณธนาธรเอามาให้กู้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 อย่างนี้ผมมองว่าผิดปกติมากกว่าว่าทำไมถึงยอมขาดทุน แต่ในความจริงคิดดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 คำถามที่ตามมาคือแล้วอะไรคือดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า”
  

          อาจารย์ณรงค์เดชชี้ว่า การตั้งข้อสงสัยหรือการสันนิษฐานว่ามีความผิดปกติทำให้ไม่เห็นการชี้แจงหรือเจตนาที่แท้จริงของพรรคการเมือง เพราะพรรคเองอาจจะมีคำอธิบายในข้อสงสัยที่ศาลตั้งคำถาม
  

          “อย่างข้อสงสัยข้อที่ 3 ก็อาจจะเป็นไปได้ไหมหากพรรคต้องการลดภาระดอกเบี้ยเลยรีบคืนเงินต้นก่อน และการชำระเงินสด 14 ล้าน เข้าบัญชีไหนก็ไม่มีการไต่สวน หรือแม้แต่ข้อสงสัยที่ 4 ก็เป็นความจำเป็นของพรรคหรือไม่ที่ถอนมาใช้แค่เท่าที่จำเป็น” อาจารย์ณรงค์เดชระบุ
  

          ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาถึงศาลรัฐธรรมนูญต้องป้องกันมิให้พรรคถูกครอบงำ ซึ่งอาจารย์ณรงค์เดชอธิบายว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่าห้ามมิให้บุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำ มิใช่บุคคลภายในพรรค และหากศาลรัฐธรรมนูญมุ่งหวังที่จะรักษาหลักประชาธิปไตยในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ก็ได้กำหนดหลายมาตรการที่จะคุ้มครองหลักประชาธิปไตยอยู่แล้ว ควรใช้วิธีการขจัดบุคคลผู้ครอบงำพรรคออกจากพรรค มิใช่การยุบพรรค

 


          ข้อเท็จจริงคดียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟังได้


          ข้อมูลจากการนำเสนอของ รศ. ดร. ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เวทีเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ เรื่องวิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้จากการฟังแถลงการณ์วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ


วันที่ เหตุการณ์
3 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2561
งบการเงินของพรรคอนาคตใหม่ ค่าใช้จ่าย > รายได้ 1,490,537 บาท


2 ม.ค. 2562
ทำสัญญากู้ฉบับแรก 161.2 ล้าน ดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ส่งดอกทุกเดือน หากผิดนัด เบี้ยปรับวันละ 100 บาท


4 ม.ค. 2562
จ่ายบางส่วน เงินสด 14 ล้าน


21 ม.ค. 2562
จ่ายบางส่วน เงินสด 8 ล้าน


29 ม.ค. 2562
จ่ายบางส่วน โอน 50 ล้าน (เข้าออมทรัพย์ BOA)


11 เม.ย. 2562
ทำสัญญากู้ฉบับที่สอง 30 ล้าน รับเงินสด ณ วันทำสัญญา 2.7 ล้าน ส่วนีท่เหลือจะรับในภายหลัง ดอกเบี้ย 2% ต่อปี (แต่ในคำวินิจฉัยไม่ได้ระบุว่ามีการรับเงินสดส่วนที่เหลืออีกหรือไม่)


ประมาณเดือน พ.ค. 2562

มีการแก้ไขสัญญาจากส่งดอกเบี้ยทุกเดือนเป็นส่งดอกเบี้ยทุกปี
ก.ค. 2562
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บริจาค 8.5 ล้าน


27 ธ.ค. 2562
ชำระดอกเบี้ยและเงินกู้บางส่วน 3 ครั้ง
ดอกเบี้ยพร้อมเงินปรับ 5,859,200 บาท
เงินกู้บางส่วนของสัญญาแรก (2 ม.ค.) 5 ล้าน
ดอกเบี้ยพร้อมเบี้ยปรับ 1,449,998.04 บาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ