คอลัมนิสต์

ผลงานสุดท้ายในสภาของ "ปิยบุตร" เรียกร้องล้างมรดกคสช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลงานสุดท้ายในสภาของ "ปิยบุตร" เรียกร้องล้างมรดกคสช. คอลัมน์...  Special Weekend

 


          จะว่าเป็นความบังเอิญก็ได้สำหรับพรรคอนาคตใหม่ เพราะย้อนกลับไปก่อนเหตุการณ์ยุบพรรคการเมืองในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้เสนอรายรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง "ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน" ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของพรรคอนาคตใหม่

 

อ่านข่าว...  "ปิยบุตร" เคยไหว้ "อนุทิน" ข้องใจ "ภูมิใจไทย" ดูด 9 ส.ส.
 

 

 

          สำหรับรายงานฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้
          1.กรณีผลกระทบจากการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร การที่ระบบกฎหมายไทยอนุญาตให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน เป็นระบบกฎหมายที่มีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของพลเรือนเป็นอย่างมาก จึงสมควรอย่างยิ่งที่รัฐสภาควรจะปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและป้องกันไม่ให้มีการนำศาลทหารมาเป็นเครื่องมือทางกฎหมายของผู้ถืออำนาจรัฐอีกต่อไป โดยควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 29 เพื่อรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของบุคคลที่เป็นพลเรือน ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ไม่อาจถูกพิจารณาโดยศาลทหาร และยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2557 เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน


          2.ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง เพื่อสร้างกลไกในการค้นหาความจริงต่างๆ และทำความจริงให้ปรากฏที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีจำเลยที่เป็นพลเรือนภายหลังรัฐประหาร รัฐสภาสมควรตรากฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบการใช้อำนาจและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหารปี 2557 กลไกในการค้นหาความจริงดังกล่าว

 



          ทั้งนี้ ควรจัดตั้งในรูปแบบคณะกรรมการที่มีหน้าที่ในการค้นหาความจริงตามหลักการสิทธิที่จะทราบความจริงของผู้เสียหาย เพื่อนำความจริงเป็นฐานในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษชนต่อไป


          กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการแต่ละรายต้องไปเป็นตามหลักความเป็นอิสระ ปราศจากอคติและสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นความโปร่งใส ในการคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการ ต้องประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนจากหลากหลายสาขารวมถึงตัวแทนของผู้เสียหาย นักกฎหมาย นักจิตวิทยา ผู้นำทางศาสนา นักพัฒนาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสัดส่วนผู้หญิง ผู้ชายและเพศสภาพอื่นให้สมดุล


          3.รัฐควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาสมควรออกแถลงการณ์ขอโทษกับเหตุการณ์ต่อสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับข้อเท็จจริงที่ได้ร่วมกันค้นหาและผลกระทบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสดงการรับรองว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ


          4.หน่วยงานภาครัฐควรเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กสทช. และเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่เคยปฏิบัติเพื่อควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนภายใต้ยุคสมัยของ คสช. ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดว่ามีการกระบวนการ “ขอความร่วมมือ” หรือสั่งห้ามการนำเสนอข่าวสารประเภทใดบ้าง ด้วยเหตุผลใดบ้าง จำนวนกี่ครั้ง


          5.ยกเลิกการดำเนินคดีความตามประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากเป็นคดีที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีให้ยกเลิกการดำเนินคดีนั้น รวมทั้งยกเลิกหมายจับที่เคยออกไปแล้ว หากเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอีกต่อไป หากคดีใดที่ขึ้นสู่ศาลแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นใด ให้ศาลสั่งสิ้นสุดคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ