คอลัมนิสต์

เช็คง่าย 2 เกณฑ์ "ผู้มีประวัติเสี่ยง"โควิด-19.ตามเงื่อนไขสธ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยทีมรายงานพิเศษ ....คมชัดลึก

 

 

                               จากกรณี “ลุง” วัย 65 ปี ผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสปกปิดข้อมูล จนโดนผู้คนในสังคมประณามนั้น ปรากฎว่าขณะนี้เกิดกระแส “คนไทย” สงสัยว่าตัวเองเป็น "ผู้มีประวัติเสี่ยง" แย่งกันไปโรงพยาบาลขอตรวจเชื้อ เพราะกลัวมีตราบาปกลายเป็น “ผู้ปกปิดข้อมูล” ไปด้วย สร้างความเดือนร้อนให้สถานพยาบาลหลายแห่ง เพราะต้องเสียเวลามาตรวจประเมินทั้งที่ไม่ได้มีประวัติเสี่ยงจริง ...ทำให้เกิดคำถามว่า "ผู้มีประวัติเสี่ยง" ในความหมายกระทรวงสาธารณสุขมีเกณฑ์ตัดสินอย่างไรบ้าง

 

 

                                การปกปิดข้อมูลเดินทางไปญี่ปุ่นของ “ลุงวัย 65 ปี” ที่ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด -19 ( Covid – 19) นั้น  นอกจากทำให้ภรรยาและหลานติดเชื้อแล้ว ยังส่งผลกระทบให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกว่า 30 คนต้องหยุดงานเฝ้าระวังอาการ 14 วัน รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนและปิดสถานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว และประกาศให้ผู้ที่คิดว่าตัวเองอาจสัมผัสใกล้ชิดกับครอบครัวของ “ลุง” รีบมารายงานตัว เพื่อประเมินว่าเป็น "ผู้มีประวัติเสี่ยง" หรือไม่

 

                               เช่น (1) คนที่เข้าร่วม “กรุ๊ปทัวร์เกาะฮอกไกโด” (2) ผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย ดอนเมือง-ซัปโปโร (3) ผู้ใกล้ชิดหลานชายวัย 8 ขวบ ที่ติดเชื้อจากลุงแล้วไปเรียนหนังสือโรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง (4) ผู้เกี่ยวข้องธนาคารธนชาตสาขาดอนเมือง ที่ถูกสั่งปิดเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค 3 วัน

 

                               นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ยืนยันขณะแถลงข่าวเมื่อ 27 ก.พ. ว่า “ปู่ ย่า หลาน” ที่เข้ารับการรักษามีอาการปลอดภัยแล้ว ส่วนผลการติดตามกลุ่ม "ผู้มีประวัติเสี่ยง" ข้างต้นทั้ง 4 กลุ่มนั้น ได้ติดตามมาตรวจเบื้องต้น 101 คน ผลตรวจออกมาว่าไม่ติดเชื้อ 97 คน ส่วนอีก 4 คนอยู่ระหว่างส่งตรวจ และจะมีการติดตามผู้สัมผัสทั้งหมดจนครบ 14 วันต่อไป

 

 

           

                               จากกรณีข้างต้น ทำให้กลุ่มชาวไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศช่วงนี้ เริ่มสงสัยว่าตัวเองเป็น “ผู้มีประวัติเสี่ยง” หรือไม่ ?

         

                               โดยเฉพาะคนที่พึ่งกลับจากญี่ปุ่นมา เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ข้อมูลองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าปี 2562 มีชาวไทยไปเที่ยวกว่า 1.13 ล้านคน ถ้าเทียบกับจีนแล้วถือว่าชนะกันเกือบครึ่ง เพราะคนไทยไปจีนปีละประมาณ 6 แสนคน

                 

                               นอกจากญี่ปุ่นแล้วมีประเทศใดอีกที่ต้องรายงานประวัติเสี่ยงบ้าง ?

             

                       

 

 

 

                               แม้ว่าจะมี 40 ประเทศที่พบโควิด -19 แต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากจีนแล้ว องค์การอนามัยโลก ยกระดับให้มี “16 ประเทศ” เท่านั้น ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างสูงซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากมีรายงานการติดเชื้อในลักษณะเป็น “การระบาดของโรคภายในประเทศ” (Local transmission) หมายถึงมีการระบาดในชุมชนโดยผู้ติดเชื้อไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ หรือไปบริเวณแหล่งแพร่เชื้อเบื้องต้น รายชื่อ 16 ประเทศมีดังนี้ 1 ญี่ปุ่น 2 สิงคโปร์ 3 เกาหลีใต้ 4 มาเลเซีย 5 ไทย 6 อเมริกา 7 เยอรมัน 8 ฝรั่งเศส 9 อังกฤษ 10 สเปน 11 อาหรับเอมิเรตส์ 12 เวียดนาม 13 อิตาลี 14 ออสเตรเลีย 15 อียิปต์ และ 16 อิหร่าน  

 

                               ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทย ประกาศเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ว่าชื่อประเทศที่อยู่“กลุ่มเสี่ยง” และควรงดเดินทางในช่วงนี้อย่างเด็ดขาด “ 7ประเทศ + 2 เกาะ” ได้แก่ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน รวมถึง ฮ่องกง มาเก๊า

             

                               โดยกำหนดให้กลุ่มที่เรียกว่า “ผู้มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อโคโรนาวัส 2019 ” มี 4 กลุ่ม  แบ่งเป็น

                                กลุ่ม 1 มีประวัติเดินทาง “ไป” หรือ “อาศัยอยู่” ในพื้นที่มีการะบาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ 7ประเทศ + 2 เกาะ” ข้างต้น ภายใน 14 วัน นับจากวันที่ออกจากพื้นที่ระบาด พบไวรัสโคโรนาระบาดในชุมชน

                                กลุ่ม 2 ผู้มีอาชีพสัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวจากพื้นที่มีการะบาดต่อเนื่อง

                                กลุ่ม 3 ผู้มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันหรือน่าจะเป็น

                                กลุ่ม 4  หมอ พยาบาลหรือ เจ้าหน้าที่การแพทย์หรือสาธารณสุขที่สัมผัสกับผู้ป่วยเป็นประจำ

 

                               ใครสงสัยว่าตัวเองเป็น “ผู้มีประวัติเสี่ยง” ต้องพิจารณา 2 เกณฑ์ก่อนเบื้องต้น ได้แก่ เกณฑ์ที่ 1 เป็นผู้อยู่ใน 4 กลุ่มข้างต้นหรือไม่ เมื่อผ่านเกณฑ์ข้อที่ 1 แล้ว ต้องพิจารณา เกณฑ์ที่ 2 ต่อไปคือ มีอาการป่วยในลักษณะแบบนี้หรือไม่ ซึ่งอาการที่เข้าเกณฑ์คือ “ตัวร้อนมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป” หรือมีประวัติว่ามีไข้ และต้องมีอาการระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อย หายใจหอบ

           

                               หากมีแค่อาการปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย แต่ไม่มี “ไข้” ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ หรือ  รู้สึกคลื่นใส้ อาเจียน แต่ไม่มี “ไข้” ก็ไม่เข้าเกณฑ์ เพราะฉะนั้นก่อนไปโรงพยาบาลแจ้งว่า ตัวเองอาจติดไวรัสโคโรนานั้นต้องพิจารณาว่าอยู่ใน 2 เกณฑ์ข้างต้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ

             

                               สำหรับสถานพยาบาล เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการ “เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค” (Patient underinvestigations: PUI) จะสอบสวนประวัติและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ถ้าผลออกมาติดเชื้อนี้จริง ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับว่า คนไข้รายนี้ไปสัมผัสใกล้ชิดหรือไปอยู่ในสถานที่ใดมาบ้าง เพื่อตามผู้สัมผัสมากักกัน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจต่อไป

           

                               ขณะนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลรองรับ สถานการณ์การแพร่เชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งเป็น โรงพยาบาลในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 4 แห่ง คือ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี และ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ส่วนต่างจังหวัดได้จัดเตรียมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปไว้เรียบร้อยแล้ว

           

                               สรุปคือ “ผู้มีประวัติเสี่ยง” ติดเชื้อโคโรนาไวรัสตามเงื่อนไขเบื้องต้นของกระทรวงสาธารณสุข คือ ผู้ที่ผ่านทั้ง “เกณฑ์ 1 และ 2”  หมายถึงเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงภายใน 14 วัน แล้วมีอาการไข้ตัวร้อน “ร่วมกับ” อาการระบบทางเดินหายใจ

         

                               ต้องอย่าลืมว่า 2 เกณฑ์ข้างต้นเป็นเพียงการวินิจฉัยด้วยตัวเองเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกแห่กันไปตรวจที่โรงพยาบาล แต่อาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ก็เป็นได้

 

                               ดังนั้นใครรู้สึกป่วยไม่สบายรุนแรง ควรไปพบแพทย์ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม และอย่าลืมแจ้งประวัติการเดินทางด้วยทุกครั้ง !!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ