คอลัมนิสต์

วิเคราะห์จังหวะก้าว...เกมยาว "คณะอนาคตใหม่"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิเคราะห์จังหวะก้าว...เกมยาว "คณะอนาคตใหม่" คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว

 


          สิ่งที่ทุกฝ่ายสนใจกันมากหลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ก็คือ ทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจังหวะก้าวของ “คณะอนาคตใหม่” เขาจะทำอะไรกันต่อ

 

          ที่คนกังวลกันมาก คือจะปลุกม็อบลงถนนกันเลยหรือไม่ ตอนนี้บางฝ่ายถึงขนาดเตรียมการรับมือการชุมนุมยืดเยื้อกันแล้ว เพราะแกนนำพรรคที่ปัจจุบันเป็น “อดีต” ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช และคนอื่นๆ ต่างแสดงท่าทีปลุกระดมมวลชนชัดเจน โดยใช้การเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นหลัก (ทั้งๆ ที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ก็ยังเหลืออยู่ 65 คน และกำลังจะพากันย้ายไปสังกัดพรรคอื่น)

 


          แต่จากการประเมินของฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่าในช่วงแรกๆ จะมีการเคลื่อนไหวแบบ “รูทีน” ยังไม่มีการนัดชุมนุมใหญ่ เพราะเงื่อนไขยังไม่สุกงอม แต่จะมีการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ล้อกับสถานการณ์การเมืองและอารมณ์ของผู้คน อย่างเช่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่มีการอภิปรายนอกสภาโดย “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช


          ส่วนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ก็จะมีการจัดกิจกรรมประเภท “แฟลชม็อบ” และ “เวทีสัมมนา” โดยคนที่ออกมาเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะยังเป็นกลุ่มเดิมที่เคยต่อต้าน คสช. และนิสิตนักศึกษาในเครือข่ายอนาคตใหม่เดิม รวมถึงคนเสื้อแดงบางส่วน แต่จะยังไม่มีการเกณฑ์หรือนัดชุมนุมใหญ่

 

 

 

วิเคราะห์จังหวะก้าว...เกมยาว "คณะอนาคตใหม่"

 


          การเคลื่อนไหวช่วงนี้จะเป็นการสมประโยชน์กันระหว่าง “คณะอนาคตใหม่” และกลุ่มต่างๆ ที่จะมีพื้นที่ให้เคลื่อนไหวต่อเนื่อง สามารถสร้างประเด็นได้โดยโหนกระแสยุบอนาคตใหม่ การเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียจะรุนแรง หนักข้อ และสุ่มเสี่ยงละเมิดกฎหมายมากขึ้น แต่รัฐบาลก็มีการตั้งทีมไว้รับมือและดำเนินคดีพวกล้ำเส้นมากๆ เช่นกัน

 

          ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นแล้ว และน่ากังวลในสายตาของหลายฝ่ายก็คือ การใช้เทคนิคทางโซเชียลมีเดียในการสร้างกระแสให้สังคมเข้าใจผิด หรือรับรู้ข้อมูลที่อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เช่น การแขวนป้ายผ้าที่อาคารเรียนคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยชื่อดัง พร้อมแคปชั่นแรงๆ อาจทำให้คนรู้สึกว่านักศึกษามหาวิทยาลัยนี้เป็นแนวร่วมกับ “คณะอนาคตใหม่” และต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วเป็นการกระทำของคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

          การนำภาพเหตุการณ์อื่นในอดีต มาโพสต์ใหม่ด้วยแคปชั่นใหม่ที่โยงกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ซึ่งเข้าข่าย “เฟคนิวส์”





          หรือการสร้างเทรนด์ในทวิตเตอร์ เพื่อให้สื่อกระแสหลักในเครือข่ายนำมารายงานซ้ำในวงกว้างอีกที ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ใช่เทรนด์จากกระแสความสนใจที่แท้จริงของสังคม แต่เป็นเทรนด์ที่สร้างขึ้นจากเอไอ หรือผู้ใช้โซเชียลฯ ปกปิดตัวตนที่เรียกว่า “อวตาร”


          เป้าหมายสุดท้าย มีการประเมินว่าจะใช้ “ฮ่องกงโมเดล” แต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมที่จะสร้างกระแสสนับสนุน เช่น การทุจริตอย่างชัดเจนของรัฐบาล, ปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสจริงๆ ฯลฯ ฉะนั้นในช่วงแรก “คณะอนาคตใหม่” จะเคลื่อนไหวเลี้ยงมวลชนรอสถานการณ์ไปพลางๆ ขณะที่ในสภาก็จะใช้ “แกนนำแถวสอง” นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหอกทำงานต่อไป โดยเน้นการยื่นกระทู้ ยื่นญัตติ ในประเด็นที่จะดิสเครดิตรัฐบาลไปเรื่อยๆ


          แต่อุปสรรคของพรรคสำรองที่จะมามีบทบาทแทนอดีตพรรคอนาคตใหม่ คือความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้จริงหรือไม่


          อาจารย์คมสัน โพธิ์คง จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า ส.ส.ที่เคยสังกัดพรรคอนาคตใหม่จะสามารถย้ายพรรคได้เฉพาะ ส.ส.เขตเท่านั้น ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่สามารถย้ายได้ เนื่องจากคะแนนที่คำนวณมาเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่่อ เป็นคะแนนของพรรค เมื่อพรรคถูกยุบ คะแนนก็หายไปด้วย


          ส่วนคะแนนของ ส.ส.เขต เป็นคะแนนติดตัวของ ส.ส. ฉะนั้น ส.ส.เขตจึงสามารถย้ายไปสังกัดพรรคไหนก็ได้ รวมถึงพรรคใหม่ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ด้วย


          อาจารย์คมสัน อธิบายว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาใช้ระบบ “บัตรเดียว” คะแนนจากผู้สมัคร ส.ส.เขต ทั้งแพ้และชนะ ถูกนำมาคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ฉะนั้น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงไม่มีคะแนนติดตัว แต่คะแนนติดกับพรรค การย้ายไปสังกัดพรรคที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงทำไม่ได้เลย เพราะพรรคการเมืองนั้นไม่มีฐานคะแนนรองรับ


          ถ้า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เคยสังกัดพรรคอนาคตใหม่ย้ายพรรคไม่ได้เลยจริงๆ หรือ “สูญพันธุ์” ย่อมหมายความว่าพรรคสำรองของอนาคตใหม่อาจกลายเป็นพรรคต่ำสิบ เพราะ ส.ส.เขตจำนวนไม่น้อยจะย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล


          การผลักดันวาระในสภาเพื่อเดินเกม 2 ขา “แยกกันเดินรวมกันตี” จึงไม่ง่ายนัก


          เงื่อนไขสำคัญจึงอยู่ที่กระแสนอกสภา ถ้าประชาชนต้านรัฐบาลมากๆ หรือมีปัญหาในกองทัพ ก็จะเปิดโอกาสให้ “ม็อบลงถนน” และชุมนุมยืดเยื้อเพื่อขับไล่รัฐบาล โดยมีบทบาทของชาติตะวันตกช่วยกดดันอีกแรง โดยเฉพาะสหรัฐ


          ฉะนั้นเกมของ “คณะอนาคตใหม่” จึงเป็นเกมยาว แม้จะยังไม่เห็นผลในระยะเวลาอันใกล้...แต่ก็น่ากลัว !

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ