คอลัมนิสต์

มองต่างมุม 'เหมือน-ต่าง' คณาจารย์นิติศาสตร์ 'ยุบอนาคตใหม่' 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยังมีเสียงสะท้อนตามมามากมายหลังศาล รธน.สั่งยุบอนาคตใหม่ คณาจารย์นิติศาสตร์ มธ.คัดค้านไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็มีการ 'มองต่างมุม' ต่อ' เหล่าอาจารย์'และ'ศาล รธน.'

           กรณี 36 คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่(อนค.)และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)เป็นเวลา 10 ปี ในคดีที่พรรคอนาคตใหม่ กู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคฯ จำนวน 191 ล้านบาท
     โดยคณาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์  ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น
     ประเด็นแรก- ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล องค์กรมหาชน 
                        แต่คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่าเป็นนิติบุคคลเอกชน ซึ่งหลักกฎหมายเอกชน ถ้ากฎหมายไม่เขียนห้ามไว้ในเรื่องใดก็ทำได้  ดังนั้นพรรคการเมืองซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเขียนไว้ให้ว่า พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้
   ประเด็นที่สอง- ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสัญญาของพรรคอนาคตใหม่ที่กู้เงินจากนายธนาธร มีการคิดดอกเบี้ยต่ำ เป็นเรื่องผิดปกติทางการค้า 
                  แต่คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่า การคิดดอกเบี้ยจากการกู้เป็นเสรีภาพของคู่สัญญาระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ที่จะตกลงกัน การคิดดอกเบี้ยต่ำ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด 
        ประเด็นที่สาม- ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า   การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตร 72 พรป.พรรคการเมือง ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่า ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งนำไปสู่การยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
           แต่คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่า เงินกู้ ไม่ใช่เงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 72ที่จะยุบพรรคการเมืองได้
      ประเด็นที่สี่  - ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พรรคอนาคตใหม่สมควรถูกยุบพรรค
                         คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่า การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม ต้องเป็นกรณีที่พรรคการเมืองนั้นทำความผิดอย่างร้ายแรง ดังนั้นกรณีไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคการเมืองทำผิดร้ายแรง ศาลต้องจำกัดอำนาจของตนเอง 

มองต่างมุม 'เหมือน-ต่าง' คณาจารย์นิติศาสตร์  'ยุบอนาคตใหม่' 
            อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้"มองต่างมุม"ในคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินนายธนาธร ซึ่งมีทั้งเห็นแย้ง คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์  และเห็นต่างศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็น
           นั่นคือ..    รศ.ดร. เจษฎ์  โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์  วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 60
           " ประเด็นแรก  พรรคการเมืองเป็นองค์กรมหาชน ผมพูดเรื่องนี้มานาน เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจมหาชนหรืออำนาจรัฐ อยู่ภายใต้กฎหมายมหาชน พรรคการเมืองเป็นต้นธารไปสู่อำนาจรัฐ โดยเฉพาะพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา  พรรคการเมืองจึงเป็นที่รวมของคนที่เข้าสู่วงจรอำนาจรัฐ ดังนั้นไม่มีประเทศไหนปล่อยให้พรรคการเมืองจะทำอะไรก็ได้ "

        เดิมทีการตั้้งพรรคการเมืองเมื่อ 200 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องของเอกชนใครจะทำอะไรก็ตามใจ แต่เมื่อวิวัฒนาการมาเรื่อย  ความเกี่ยวพันระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจรัฐ พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กรมหาชน เป็นนิติบุคคลภายใต้กฎหมายมหาชน  กฎหมายพรรคการเมืองเป็นกฎหมายมหาชน ดังนั้น อะไรที่กฎหมายไม่เขียนไว้ให้ทำได้ ก็ทำไม่ได้  ดังนั้นการกู้เงินพรรคการเมืองก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายพรรคการเมือง ไม่ได้เขียนให้ทำได้ ที่หลายประเทศพรรคการเมืองกู้เงินได้ ก็เพราะกฎหมายเขาเขียนให้ทำได้ "
           ประเด็นที่สอง  การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ต้องสมเหตุผล ไม่ใช่จะคิดดอกเบี้ยต่ำอย่างไรก็ได้  
           ปกติในทางการค้าเขาคิดดอกเบี้ยกัน 15% ถ้ากู้เงิน 100 ล้าน  ดอกเบี้ยเงินกู้ 15 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าคิดดอกเบี้ยแค่ 2 %  เหมือนกับให้ประโยชน์อันควรคำนวณเป็นเงินได้ 13ล้านบาทต่อปีกับคนที่กู้เงิน  ก็เป็นการไม่ปกติทางการค้า กู้เงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย เท่ากับเพื่อนให้เงินกับเพื่อน

         ดังนั้น ถ้ามีการให้กู้เงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย  ก็จะเกิดการช่วยเหลือกันได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญห้ามการครอบงำพรรคการเมือง ดังนั้นไม่ใช่จะคิดดอกเบี้ยต่ำอย่างไรก็ได้ ต้องสมเหตุผลด้วย กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินนายธนาธร คิดเงินเพียง 2 %- 7%  ที่จริงต้อง 15 %
        ประเด็นที่สาม  ไม่ถึงกับต้องยุบพรรค แต่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคในทางการเมือง
           กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินนายธนาธร มีความผิดปกติ มีเงื่อนงำ คืนเงินกันไปมา ดอกเบี้ยต่ำ  ทำสัญญากันเป็นสัญญากู้ยืมเงิน แต่ที่จริงคือการบริจาค เข้าข่ายเป็นการให้ หรือบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง เกิน 10 ล้านบาท  จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 พรป.พรรคการเมือง ผลทางกฎหมายคือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมือง 5 ปี  ริบเงินส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทเข้ากองทุนพรรคการเมือง

มองต่างมุม 'เหมือน-ต่าง' คณาจารย์นิติศาสตร์  'ยุบอนาคตใหม่' 

       แต่ไม่ควรไปถึงมาตรา 72 พรป.พรรคการเมือง อันนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง เพราะมีความผิดเฉพาะกรณีฝ่าฝืนมาตรา 66 อยู่แล้ว  ก็ควรจบลงตรงนั้น ไม่ใช่โยงต่อไปถึงมาตรา 72  อันนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของเงินที่พรรคการเมืองได้มานั้นเป็นเงินผิดกฎหมาย เงินสกปรก สีเทา สีดำ

      ประเด็นที่สี่ พรรคการเมืองต้องยุบได้ยาก คือต้องเป็นความผิดที่หนักหนาจริงๆ เช่น เป็นปฏิปักษ์หรือล้มระบอบ บ้านเมืองไหนเขาก็ไม่ให้พรรคการเมืองนั้นดำรงอยู่ ในส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็คงเห็นว่าพรรคการเมืองต้องยุบได้ยากเช่นกัน
      แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามกฎหมาย ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจที่อยากยุบ ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำผิดตามมาตรา 72 คือ รับเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญหมดทางเลือก เพราะจะเข้าข่ายมาตรา 92  ซึ่งต้องยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคในทางการเมือง ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนด กฎหมายกำหนดมาอย่างนั้นอยู่แล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ