คอลัมนิสต์

29 ปี "รสช." ยึดอำนาจ บทเรียนขุนศึก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

29 ปี "รสช." ยึดอำนาจ บทเรียนขุนศึก คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนา - บางปะกง 

 

 


          ปี 2534 เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟู อสังหาริมทรัพย์คึกคัก ตลาดหุ้นบูม และการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มชาติอินโดจีนกำลังเบ่งบาน ตามนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า

 

 

          แม้ช่วงปลายปี 2533 จะมีการขยับของ “ท็อปบู๊ต” ตบเท้าให้กำลังใจอดีตนายทหารใหญ่ แต่คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ธุรกิจชั้นนำ ก็มั่นใจว่า การยึดอำนาจเป็นสิ่งล้าหลัง ไม่มีนายทหารคนไหนกล้าทำหรอก


          ในที่สุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะทหารในนาม “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 

 

 

 

29 ปี "รสช." ยึดอำนาจ บทเรียนขุนศึก

นสพ.ไทยรัฐ เมื่อ 29 ปีที่แล้ว

 


          คณะ รสช.นี้ มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า แต่ผู้ที่ก่อการตัวจริงคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ 


          เค้าลางของการยึดอำนาจ น่าจะเริ่มมาจากการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในกองทัพ จาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งควบ 2 ตำแหน่งคือ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด มาแต่สมัยรัฐบาลเปรม โดย พล.อ.ชวลิตให้คำสัญญาสุภาพบุรุษว่า จะลาออกจาก 2 ตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ เพื่อเปิดทางให้รุ่นน้องขยับ


          หลังเลือกตั้งทั่วไป ปี 2531 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม สถานการณ์ในกองทัพยังปกติ จนกระทั่ง “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” เริ่มแผลงฤทธิ์


          วันที่ 1 สิงหาคม 2532 พล.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. และผบ.สส.ในเวลานั้น ออกมาพูดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 ว่า คอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 90% ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ออกมาโต้นายพลจิ๋ว


          พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท (ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก-ตำแหน่งขณะนั้น) แกนนำ จปร.5 จึงจัด “ม็อบท็อปบู๊ต” ชุมนุมกันที่โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เรียกร้องให้นายกฯ ชาติชาย ปลดสุขุมพันธ์ออกจากตำแหน่ง สุดท้ายแล้ว สุขุมพันธ์ก็ยื่นใบลาออกจากการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

 

29 ปี "รสช." ยึดอำนาจ บทเรียนขุนศึก

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ




          นัยว่า การแสดงพลังของ จปร.5 เป็นการ “ซื้อใจ” พล.อ.ชวลิต เนื่องจาก “พี่จิ๋ว” ของน้องๆ สัญญาว่า จะลาออกก่อนเกษียณ เพื่อเปิดทางให้นายทหารรุ่นน้องได้ขยับขึ้นมาเป็นผู้นำเหล่าทัพ


          จากนั้น พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ในวันที่ 27 มีนาคม 2533 โดย พล.อ.สุจินดา ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.สุนทร เป็น ผบ.สส. ก่อนหน้านั้น ฤดูกาลโยกย้ายปี 2532 พล.อ.ชวลิต ก็โยก พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ออกจาก บก.สูงสุด คืนรังเป็น ผบ.ทอ.


          ปลายปี 2533 พล.อ.สุจินดา ผบ.ทบ. และแกนนำกลุ่ม จปร.5 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ทหารเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล” โดยเฉพาะท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (ขณะนั้น)


          เมื่อมีการปรับ ครม.ชาติชาย โดยแต่งตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม ซึ่งถูกจับจ้องว่าตั้งขึ้นมาเพื่อปลดนายพลเสื้อคับ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ.


          ในที่สุด พล.อ.สุจินดา คราประยูร วางแผนร่วมกับ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี จากนั้น เขาจึงไปปรึกษา พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ก่อการยึดอำนาจ โดยเชิญ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ มาเป็นหัวหน้า รสช.


          มีเรื่องเล่าว่า พล.อ.สุนทร เคยคิดก่อการยึดอำนาจ ถ้าจำกันได้ นายกฯ ชาติชาย เชิญ พล.อ.ชวลิต ให้เข้าร่วมรัฐบาล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่ พล.อ.ชวลิต ก็ลาออกจากทั้งสองตำแหน่ง เพราะถูกโจมตีอย่างหนักจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน(ขณะนั้น)


          พล.อ.สุนทรก็แค่คิด แต่นายทหาร จปร.5 ยึดอำนาจจริง แรกทีเดียว พล.อ.สุนทร ก็นึกว่าเป็นการทำให้ พล.อ.ชวลิต ผู้เป็นทั้งนายเก่าและเพื่อนรัก

 

 

29 ปี "รสช." ยึดอำนาจ บทเรียนขุนศึก

พล.อ.ชวลิต ปราศรัยท้องสนามหลวง ปี 2534 ดับเครื่องชน รสช.

 


          หลังจากที่มีการแต่งตั้งอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุนทร ก็รู้ว่า พล.อ.สุจินดา มิได้ยึดอำนาจเพื่อ “เพื่อนจิ๋ว” หากแต่เป็นการสืบทอดอำนาจของ จปร.5 หรือคณะทหารรหัส 0143


          อารมณ์ผิดหวัง และแค้นใจที่ถูกรุ่นน้องหักหลัง คือเชื้อไฟในใจนายพลจิ๋ว ได้ประกาศทำศึกกับนายทหารรุ่นน้อง จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นพฤษภาทมิฬ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ