คอลัมนิสต์

บูมเมอแรงสะเทือน ครม. "ยุทธพร อิสรชัย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บูมเมอแรงสะเทือน ครม. "ยุทธพร อิสรชัย" คอลัมน์... Exclusive Talk

 


          ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาเสร็จสิ้น ยังเป็นคลื่นใต้น้ำภายในพรรคพลังประชารัฐ จากกลุ่มก๊วนภายในหลายมุ้งที่มาจากการควบรวมทางการเมือง ยังเคลื่อนไหวกดดันไปถึงผู้นำรัฐบาล ในเกมอำนาจต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

 

 

          ถึงแม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยปรับครม. ตั้งแต่รัฐบาล “ประยุทธ์ 1” เป็นต้นมา แต่ถือเป็นครั้งแรกในสถานการณ์ปรับ ครม.ในยุคที่มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ “ศึกใน” พลังประชารัฐขณะนี้กำลังกลับมาปะทุอีกครั้ง “เนชั่นสุดสัปดาห์” ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ทิศทางกระแสข่าวการปรับ ครม. “ประยุทธ์ 2” ในช่วงที่รัฐบาลกำลังถูกล็อกเป้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ


          เริ่มที่ รศ.ดร.ยุทธพร  มองถึงการปรับ ครม. ถือเป็นเรื่องปกติในการประเมินการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ในรอบประมาณ 1 ปี โดยมาจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย ปัจจัยที่ 1 ผลงานของรัฐมนตรีเป็นอย่างไร บวกกับภาพลักษณ์ และคำวิจารณ์ที่มีต่อรัฐมนตรีท่านนั้นยังมีประเด็นอะไรที่สังคมยังสงสัยอยู่หรือไม่ ปัจจัยที่ 2 เป็นเรื่องภายในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเราเรียกว่าการต่อรองภายนอก กับการต่อรองภายในซึ่งมาจากพรรคพลังประชารัฐ


          รศ.ดร.ยุทธพร  ขยายให้เห็นถึงใน 2 ส่วนนี้กำลังมีการต่อรองเพื่อสลับเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีให้บุคคลอื่นเข้ามา โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ จะเห็นได้ว่า มีนักการเมืองหลายคนแสดงออกถึงความเคลื่อนไหว อาทิ กรณีกลุ่มสามมิตรแสดงออกถึงสิ่งที่ต้องการ เพราะหากจะว่าไปแล้วทุกวันนี้กลุ่มสามมิตรยังได้เก้าอี้รัฐมนตรีต่ำกว่าสิ่งที่จะได้และยังไม่ใช่กระทรวงเกรดเอ ถึงแม้จะมีสมาชิก ส.ส.ในกลุ่มมากถึง 30-40 คน จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มสามมิตรได้เคลื่อนไหวในการปรับ ครม.


          “ขณะที่ปัจจัยที่ 3 มาจากสถานการณ์นอกสภา ตั้งแต่เรื่องภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ปัญหาไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังรุมเร้ารัฐบาลพอสมควร เพราะหากไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคลากรทางการเมือง ดังนั้นทั้ง 3 ส่วนจะเป็นปัจจัยหลักในการปรับครม. โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นจะเป็นหนึ่งในข้อมูลที่ถูกนำไปใช้พิจารณา”




          ขณะที่ช่วงเวลาการปรับครม.จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น รศ.ดร.ยุทธพรเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น เพราะยังไม่ครบ 1 ปีในช่วงการเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลชุดนี้จะครบ 1 ปีการบริหารประเทศในเดือนกรกฎาคม 2563 ทำให้เชื่อว่าจะมีการพูดถึงผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป จากข้อมูลที่รัฐมนตรีท่านใดถูกอภิปรายและเป็นปัญหาต่อการได้รับคะแนนเสียง “ไว้วางใจ” น้อยที่สุด


          ส่วนประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์จะปรับ ครม.ครั้งแรกในยุคที่มีนักการเมืองเคลื่อนไหวต่อรองอย่างหนักนั้น รศ.ดร.ยุทธพรมองว่า ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยสัมผัสการต่อรองทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งมากนัก แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์เริ่มมีความคุ้นเคยและจะมีส่วนสำคัญทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถปรับตัวในเรื่องนี้ได้ จึงคิดว่าการปรับ ครม.คงไม่มีปัญหาสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะการตัดสินใจต่างๆ คงไม่ได้เกิดขึ้นจากพล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว ถึงแม้ภาพจะออกมาให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจฝ่ายเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะมาจากการตัดสินใจจากคณะทำงานและทีมยุทธศาสตร์ในบุคคลระดับแกนนำต้องมาช่วยกันคิด


          “ในกระบวนการตรงนี้ยังคิดว่าท่านจะปรับตัวได้กับการต่อรองแต่ละกลุ่ม และอยู่ที่มือไม้ทางการเมืองจะไปเจรจาทำให้ประเด็นตรงนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่”


          รศ.ดร.ยุทธพร  ยังมองถึงท่าที พล.อ.ประยุทธ์ต่อการปรับครม. หากต้องการสร้างสมดุลใน 3 ปัจจัยข้างต้น โดยต้องมีบุคลากรทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีภาพลักษณ์ที่ดี สังคมยอมรับ สามารถแก้ปัญหาได้ และมีผลงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องโควตารัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าทุกอย่างจะเดินต่อไปได้ แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้คำนึงในปัจจัยเหล่านี้ในการปรับ ครม. สุดท้ายจะเป็นบูมเมอแรงที่จะย้อนกลับมาที่รัฐบาลนั่นเอง


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ