คอลัมนิสต์

บทเรียน"ป้าเกาหลี"...ไทยแจ้ง 3 ช.ม.มีอำนาจ"บังคับกักตัว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

                    หลังเกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่พุ่งทะยานหลายร้อยคน ภายในไม่กี่วัน ล่าสุดเช้าวันนี้  24 ก.พ. อยู่ที่ 763 ราย เสียชีวิต 7 ราย ทำให้ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการใช้กฎหมายบังคับผู้น่าสงสัยไปตรวจหาเชื้อ บทเรียน “ป้าเกาหลี” ที่แพร่เชื้อไปไม่ต่ำกว่าร้อยคน หากเกิดขึ้นในเมืองไทยจะมีมาตรการรับมือและเอาผิดทางกฎหมายได้อย่างไร....

อ่านข่าว-ไทม์ไลน์ คนไข้ที่ 31กับลัทธิชินชอนจี ..เกาหลีใต้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 

 

            

                     เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนเกาหลีใต้รายงานข่าวหญิงวัย 61 ปีในเมืองแทกู ห่างกรุงโซลไปประมาณ 280 กิโลเมตร ซึ่งปกปิดชื่อนามสกุลเรียกเป็นรหัสว่า “ผู้ป่วยลำดับที่ 31” หลังติดเชื้อไวรัสโคโรน่า(โควิด-19) โดยไม่รู้ตัว ได้ไปเผยแพร่ให้คนในครอบครัวและผู้อื่นจนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 100 ราย จากการเข้าร่วมพิธีในโบสถ์และทานอาหารบุฟเฟต์ในโรงแรม

 

 

            

                     ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ “ป้าเกาหลี” ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ และไม่มีร่องรอยไปพบปะพูดคุยผู้ที่น่าจะติดเชื้อไวรัสตัวนี้มาก่อน เพียงมีประวัติเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองแทกูวันที่ 7 ก.พ เพราะประสบอุบัติเหตุบางประการ แพทย์สังเกตว่าป้ามีอาการไอและเจ็บคอ เลยขอร้องให้ตรวจร่างกายหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ป้าไม่ยอมตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็ไม่ได้บังคับ สุดท้ายปล่อยให้ออกจากโรงพยาบาลไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ.

                    

                     คาดการณ์ว่าป้าเกาหลีอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาแต่ไม่ได้ป่วยหนักมากนัก จนทำให้เดินทางไปโบสถ์และสถานที่ต่าง ๆ ได้ สำหรับคนที่ “ติดต่อใกล้ชิด” กับป้านั้นอาจมีไม่ต่ำกว่า 1 พันคน ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเมืองแทกูเป็น "เขตบริหารพิเศษด้านสาธารณสุข"  เพื่อช่วยเปิดทางใช้กฎหมายพิเศษควบคุมโรคระบาด

 

                    หนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลเกาหลีใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างรวดเร็ว เพราะเรียนรู้จากความผิดพลาดกรณี “ไวรัสเมอร์ส” หนึ่งในสายพันธ์ไวรัสโคโรนาที่ระบาดปี 2558 เนื่องจากละเลยปล่อยให้ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” (super-spreader) หรือ“ผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติในการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นอย่างรวดเร็วและรุนแรง” เดินทางไปมาหลายแห่งโดยไม่ได้กักบริเวณเพื่อรักษาอย่างจริงจัง

 

                    ย้อนไปเดือนพฤษภาคม 2558  “ลุงเกาหลี” วัย 68 ปี หลังเดินทางไปเที่ยวคูเวตแล้วมีอาการไม่สบายจึงไปรักษาในคลินิกและโรงพยาบาล 4 แห่งในเกาหลีใต้ กว่าจะรู้ว่าติดไวรัส “โรคเมอร์ส” ลุงรายนี้ก็กลายเป็น “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” แพร่เชื้อไวรัสตัวนี้ให้คนอื่นมากถึง 122 คนภายใน 20 วัน ในที่สุดพบผู้ติดเชื้อเมอร์สในเกาหลีใต้ทั้งหมด 186 คน เสียชีวิต 36 คน

 

                    จนถึงวันนี้ชาวเกาหลีใต้ยังรู้สึกโกรธแค้น “รัฐบาล” ที่ไม่มีมาตรการรับมืออย่างรวดเร็ว และปกปิดข้อมูลการระบาดในช่วงแรก ทำให้ชาวบ้านและบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ระมัดระวังป้องกันตัวเองเพียงพอ

 

ใครคือ super-spreader "ซูเปอร์แพร่เชื้อโรค" 

 

                    เหตุการณ์ไวรัสเมอร์สระบาดเป็น “บทเรียนสำคัญ” ที่ทั่วโลกต้องจดจำ โดยเฉพาะประเทศไทยได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ “พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558”  มีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาสำหรับคนที่แอบปกปิดหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ควบคุมโรคติดต่ออันตราย

 

                    ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ประจำกระทรวงสาธารณสุข อธิบายให้ “คมชัดลึก” ฟังว่า กรณีของ “ป้าเกาหลี” นั้น เจ้าหน้าที่แพทย์ของไทยก็กำลังเป็นห่วงเช่นกัน เพราะปกติก่อนไปตรวจวินิจฉัยโรคใครนั้น ต้องได้รับการยินยอมจากคนไข้ก่อน ถือเป็นสิทธิผู้ป่วย หมอหรือโรงพยาบาลจะบังคับตรวจหาเชื้อไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาโชคดีว่าผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งคนไทยและต่างชาติ

 

                    “ถ้าจะบังคับตรวจก็ต้องประกาศกฎหมายให้ชัดเจน แม้ว่าไทยมี พ.ร.บ. โรคติดต่อแล้ว แต่การบอกว่าโรคไหนระบาดต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศชื่อโรคติดต่ออันตรายอย่างเป็นทางการ ตอนนี้ประกาศแล้ว 13 โรค ในปี 2559 ประกาศ 12 โรค และในปี 2561 ประกาศเพิ่มอีก 1 โรค ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ ช่วงเริ่มมีข่าวระบาดจากจีน พวกเราก็พยายามเสนอให้ โคโรน่าไวรัส 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย อันดับที่ 14 แต่ว่าตอนนั้นสถานการณ์ยังไม่รุนแรงมากนัก เลยถูกชะลอไว้ก่อน แต่ตอนนี้คงจะประกาศในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563” พร้อมอธิบายต่อว่า

 

           

                    ที่ผ่านมาไทยประกาศ “โรคเฝ้าระวัง” 55 โรค ที่บังคับให้รายงานภายใน 7 วัน แต่ไม่“บังคับกักกัน” ส่วน “โรคติดต่ออันตราย” ประกาศแล้ว 13 โรค บังคับรายงานภายใน 3 ชม.

             

                     หมายความว่า หลัง โควิด-19 ประกาศเป็นโรคอันตรายอันดับที่ 14 แล้ว เจ้าหน้าที่จะทำงานได้ง่ายขึ้นเพราะที่ผ่านมาต้องใช้ดุลพินิจเป็นส่วนใหญ่ จะสั่งให้อยู่โรงพยาบาลนานก็ไม่ได หากตรวจไม่เจอก็อาจถูกต่อว่า หรือโรงพยาบาลบางแห่งไม่ตรวจหรือไม่แจ้งก็ไม่มีความผิดอะไร เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจ แต่หลังประกาศ ใครสงสัยสั่งตรวจทันที ที่สำคัญคือต้องแจ้งให้ “กรมควบคุมโรค” รับทราบภายใน 3 ชั่วโมง และให้อำนาจกักตัวได้ รวมถึงผู้สัมผัสที่ยังไม่มีอาการด้วย

 

                    กฎหมายไทยให้อำนาจบังคับกักกันตัว บังคับตรวจร่างกาย บังคับเก็บตัวอย่าง บังคับรักษา บังคับให้รับวัคซีน !

         

                     “หมายความว่า 4 หน่วยงานสำคัญต่อไปนี้ หากพบใครน่าสงสัยหรืออาจติดเชื้อ โควิด-19 ต้องแจ้งกรมควบคุมโรคทันที คือ 1 เจ้าหน้าที่การแพทย์ 2 โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน 3 ห้องแล็บหรือห้องปฎิบัติการตรวจเชื้อ 4 เจ้าของสถานประกอบการ หรือ เจ้าของพาหนะที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก โรงหนัง โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า เครื่องบิน รถทัวร์ รถไฟฯลฯ พร้อมกักตัวไว้ถ้าไม่แจ้งอาจโดนโทษปรับและโทษจำคุกได้ ตอนนี้สถานการณ์เริ่มน่าเป็นห่วง ถ้าคนไทยทุกคนช่วยกัน น่าจะรับมือได้ไม่ยาก หากมีระบบคัดกรองที่ดีพอ โดยเฉพาะการรีบแจ้งข้อมูลการติดเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่เชื้อจะระบาดขยายไปสู่ผู้คนในสังคม” ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวแนะนำ

           

                    ทั้งนี้  รายชื่อโรคติดต่ออันตรายที่ประกาศแล้ว 13 โรค ได้แก่ 1 กาฬโรค 2 ไข้ทรพิษ 3ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4ไข้เวสต์ไนล์ 5 ไข้เหลือง 6 โรคไข้ลาสซา 7 โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์  8 โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9 โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10 โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11 โรคซาร์ส 12 โรคเมอร์ส และ 13 วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก

         

                    ส่วน “บทลงโทษ” นั้น หากไม่แจ้งข้อมูลมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท สำหรับเจ้าของพาหนะหรือสถานประกอบการหากปกปิดข้อมูลไม่ทำตามคำสั่ง อาจโดนโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 5 แสนบาท

           

                    ในการประชุม “คณะกรรมการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ” วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย “นายกบิ๊กตู่” นั่งเป็นประธานนั้นคาดการณ์ว่าอีก1 - 2 เดือน อาจมีผู้ป่วยเพิ่มเป็นหลักพันต่อวัน

 

                    หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “แผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคี”  ชื่อสวยหรูของรัฐบาล จะสามารถดึงความร่วมมือของคนไทยทุกคน มาช่วยกันควบคุมและลดผลกระทบจาก “ไวรัสร้ายโคโรนาพันธ์ใหม่” ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิด “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” !?!

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ