คอลัมนิสต์

5 ก๊ก พปชร.วุ่น แย่งเก้าอี้รมต. 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5 ก๊ก พปชร.วุ่น แย่งเก้าอี้รมต.  คอลัมน์...  special report 

 

 


          เริ่มแน่ชัดแล้วว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คงจะต้องจำใจปรับเปลี่ยนตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี หลังจากที่รัฐบาลเลือกตั้งนี้ บริหารงานมาเป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้ว

 

 

          สัญญาณที่แน่ชัดของการปรับ ครม. มาจากความเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐเอง ที่พากันขยับเข้าหา “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งมีอำนาจเลือกสรรคนมาดำรงตำแหน่งต่างๆ บ้างเป็นการขอให้พิจารณาตำแหน่งใหม่ และบ้างก็ขอให้เก้าอี้ของตนยังคงอยู่ต่อไป


          เหตุผลสำคัญของการจะปรับ ครม.หนแรกนี้ มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เมื่อรัฐบาลใหม่ไม่สามารถเดินหน้าเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว ให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีได้ ด้วยเหตุนี้ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคแกนนำรัฐบาล จึงส่อเค้าว่าจะวุ่นวายอีกครั้ง เมื่อกลุ่มก๊วนต่างๆ ต่างวิ่งขอเก้าอี้กันให้จ้าละหวั่น


          สำหรับก๊วนต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ มีด้วยกันหลายก๊วนและกำลังขยับตัว ดังนี้
          1. "สามมิตร” นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท ซึ่งมี ส.ส.ทั้งขาประจำและขาจรอยู่ในมือกว่า 30-40 คน กำลังแอ็กชั่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เห็นว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นองครักษ์ รับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณามอบตำแหน่งรัฐมนตรี ให้แก่ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา ซึ่งนั่นจะทำให้ “สามมิตร” ได้โควตารัฐมนตรีถึง 3 เก้าอี้


          2. "ก๊วนสมคิด” นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง หัวหน้าพรรค พปชร. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.พลังงาน เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี กระนั้นตอนนี้ “ก๊วนสมคิด” ก็ตกอยู่ในสถานะลำบาก เพราะบางก๊วนพยายามแซะเก้าอี้ โดยยกเหตุผลความจำเป็นอันมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สมคิดและพวกกำลังเผชิญอยู่ นั่นเป็นเหตุผลให้สมคิดต้องเริ่มขยับจับมือกับ “สามมิตร” โดยหวังว่า นายสุริยะ ซึ่งเป็นคนที่เขารักและไว้วางใจ จะช่วยเหลือได้บ้าง

 



          3. "กลุ่ม กทม.” นำโดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มี ส.ส.กทม.อยู่ในมือ กลุ่มนี้มีเครดิตสูง เพราะกำลังจะทำเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างให้ความไว้วางใจต่อสองเทพบุตร กทม.นี้ จึงถูกใช้งานอยู่บ่อยๆ เรียกได้ว่า เป็นคนวงในตัวจริง


          4. “กลุ่มวิรัช-สุชาติ” นำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ในมุ้งอยู่ประมาณ 20 คน จนชูลูกชายนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ขึ้นนั่งรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ได้อย่างสบายๆ แม้กระนั้น “ป๋าดัน” อย่างนายวิรัช ก็ยังพยายามจะดึงให้นายสุชาติได้มีโอกาสนั่งเป็นรัฐมนตรีอีกคน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกับบางก๊วนในพรรคเดียวกัน


          5. “กลุ่มธรรมนัส” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล ร่วมก๊วนด้วย มี ส.ส. 15-20 คน โดยที่ผ่านมา ร.อ.ธรรมนัส ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างดีจาก พล.อ.ประวิตร ในการดีลแจกกล้วยให้บรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็ก นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส ไม่พอใจนายวิรัช จนถึงขั้นขอให้ “บิ๊กป้อม” สั่งปลดจากประธานวิปรัฐ รวมถึงแซะเก้าอี้ รมช.คมนาคมของนายอธิรัฐ ด้วย


          นั่นคือ 5 กลุ่มหลักๆ ที่มีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ สาธารณชนจะได้เห็นเรื่องวุ่นๆ ของกลุ่มก๊วนเหล่านี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ