คอลัมนิสต์

เก่าไป-ใหม่มาเส้นทางตุลาการศาลรธน.กับภารกิจสุดท้าย 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เก่าไป-ใหม่มาเส้นทางตุลาการศาลรธน.กับภารกิจสุดท้าย 

 


          การตัดสินคดียุบ “พรรคอนาคตใหม่” กรณีกู้เงิน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” 191.2 ล้าน ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 คำตอบจะออกหัวก้อย เหนืออื่นใดเราคงไม่มีวันลืมองค์กรที่มีความสำคัญยิ่งในการเมืองไทยอย่าง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เด็ดขาด !!

อ่านข่าว-ยุบ "พรรคอนาคตใหม่" รัฐบาลได้อย่าง - เสียอย่าง

 

 


          วันนี้ไม่ได้มาวิเคราะห์คำตัดสิน หรือทิศทางคดี แต่ชวนมาทบทวนความจำคนไทยอีกครั้งว่าเรารู้จักตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งชุดใหม่-ชุดเก่าขนาดไหน บอกเลย...เรื่องมันมีที่มา


++


          เส้นทางสายวิบาก
          ดังที่ทราบว่าภารกิจอันสำคัญในการพิจารณาตัดสินคดีทางการเมืองไทยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เคยง่าย


          ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ที่นั่งทุบโต๊ะมาแล้วหลายปีดีดักด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 มาจนถึงขณะนี้มีบางคนที่หมดวาระ และมีบางคนสรรหาใหม่เข้ามาแล้วเรียบร้อย


          ตามรัฐธรรมนูญ 2550 การสรรหามีที่มา 3 แบบ แบบแรกมีแยกย่อยว่า 1.มาจากที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน, 2.จากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน, 3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน, 4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 2 คน


          แบบต่อมาจากการสรรหาโดย สนช. โดย คสช.ออกคำสั่ง 48/2557 ให้การสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญ 2550


          แต่ตอนนั้นยังไม่มีเลือกตั้ง เลยยังไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน ทำให้คณะกรรมการสรรหามีเพียงประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และประธาน สนช. ทั้งยังมี สนช.ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบด้วย


          แบบที่ 3 มาจากการต่ออายุโดยใช้มาตรา 44 อันนี้เด็ด โดยเดิมทีมีศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่ได้รับแต่งตั้งตั้งแต่ปี 2551 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดวาระไว้ 9 ปี


          พอครบวาระในปี 2560 คสช.ได้มีประกาศ คสช.ที่ 24/2560 ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับ


          แต่พอรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้พร้อม พ.ร.ป.ดังกล่าว ปรากฏว่าในบทเฉพาะกาลก็พบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ยังได้ไปต่อ


          พูดง่ายๆ ว่าที่ยังไม่หมดวาระ-ก็ทำต่อไป ที่หมดวาระ-ก็ไม่ยังต้องไปไหน...จนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ


++


          ไผเป็นไผ
          ทีนี้มาดูหน้าตาศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน คนไทยจดจำไว้ให้ดี เพราะนี่คือผู้ปฏิบัติภารกิจยิ่งใหญ่และยากยิ่ง ดังนี้
          1.นุรักษ์ มาประณีต (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ) รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเริ่มดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 28 พฤษภาคม 2551 ก่อนจะได้รับการยืดอายุโดย คสช. หลังหมดวาระในปี 2560 อย่างไรก็ดีอรหันต์ท่านนี้จะพ้นตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเพราะครบวาระเช่นกัน ดังนั้นจะต้องมีการประชุมเพื่อลงมติเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย


          2.จรัญ ภักดีธนากุล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ เริ่มดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 28 พฤษภาคม 2551 ได้รับการยืดอายุโดย คสช. หลังหมดวาระในปี 2560


          3.ชัช ชลวร รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เคยเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 (ลาออกในเดือน ส.ค.2554) แต่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป และยังเป็นผู้ที่ได้รับการยืดอายุโดย คสช. หลังหมดวาระในปี 2560


          4.บุญส่ง กุลบุปผา รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เริ่มดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 28 พฤษภาคม 2551 ได้รับการยืดอายุโดย คสช. หลังหมดวาระในปี 2560


          5.อุดมศักดิ์ นิติมนตรี รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญช่วงปี 2549 ได้รับแต่งตั้งอีกครั้งเมื่อ 28 พฤษภาคม 2551 และได้รับการยืดอายุโดย คสช. หลังหมดวาระในปี 2560


          6.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้รับการสรรหาจากกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งในปี 2556


          7.วรวิทย์ กังศศิเทียม ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดในช่วงคาบเกี่ยวการรัฐประหารปี 2557 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งในปีเดียวกัน


          8.ปัญญา อุดชาชน ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และได้รับการรับรองโดย สนช. เริ่มดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2558


          9.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่มาคือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ เริ่มดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2558


++


          “ใหม่” มาเติม
          จากข้างต้นจะเห็นว่า 5 รายชื่อแรก ก็คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่หมดวาระไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งล่าสุดมีการสรรหาอรหันต์ชุดใหม่อีก 5 รายมาแทนที่แล้วเสร็จไปเรียบร้อย


          โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติลับให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีผู้ที่ผ่านความเห็นชอบ 4 คน ไม่ผ่านความเห็นชอบ 1 คน คือ
          1.อุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ที่ประชุมเห็นชอบ 216 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง
          2.วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ที่ประชุมเห็นชอบ 216 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง 
          3.จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ที่ประชุมเห็นชอบ 217 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง
          4.นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่มาจากสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประชุมเห็นชอบ 203 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง


          โดยผู้ไม่ผ่านความเห็นชอบ คือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ 52 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง งดออกเสียง 28 เสียง


          ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งจาก ส.ว.ทั้งหมดที่มีอยู่ คือเกิน 125 เสียง (ทั้งหมด 250 เสียง)


          แต่ก็นั่นแหละ ถึงตรงนี้หลายคนอาจแปลกใจว่าเหตุใดนับแต่มีการเปิดประชุมรัฐสภาชุดใหม่ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 หากนับถึงวันสรรหาแล้วเสร็จ 11 กุมภาพันธ์ 2563 รวม 8 เดือน กลายเป็นว่ารวมแล้วตุลาการที่หมดวาระยังนั่งทำงานต่อยาวเกือบ 12 ปีทีเดียว


          คำตอบคือ กว่าจะได้ของดีก็ต้องใช้เวลา


++


          “เก่า” เก็บงาน
          อย่างที่รู้ในการสรรหา 5 อรหันต์ (ใหม่)ก็ไม่ง่าย ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (จำนวน 9 คน) ซึ่งมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน, มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน, มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 1 คน, มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน และมาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับ หรือเคยรับราชการ อีก 2 คน


          โดยมาตรา 17 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว 


          ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการสรรหา 9 คน ก็ยังรัดกุมรอบคอบ เพราะมาจากฝ่ายข้าราชการ 7 คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และองค์กรอิสระอีกองค์กรละ 1 คน ได้แก่ ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการ ป.ป.ช., คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงแค่ 2 คน ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน


          สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 รายใหม่ได้เพิ่งรับการสรรหาแล้วเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 นั้น ก็ยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีกมาก คือขั้นตอนที่วุฒิสภาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติเมื่อ 2 กันยายน 2562 จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการส่งชื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จากนั้นก็ขั้นตอนการลงมติ ซึ่งต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด จนได้มาเป็นเห็นชอบ 4 ราย ไม่เห็นชอบ 1 รายตามข้างต้นเมื่อกุมภาที่ผ่านมา


          อย่างไรก็ดี ต้องหมายเหตุไว้ว่า กระบวนการข้างต้นจนถึงวันที่วุฒิสภาลงมติเห็นชอบเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563 รวมแล้ว 187 วัน ซึ่งเกินจำนวนเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนนั้น ถ้าถามว่าทำไมนานขนาดนี้ ถึงตอนนี้คงว่าไม่ได้ เพราะหลังจากนี้ประธานวุฒิสภาจะนำรายชื่อทั้ง 4 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไปแล้ว


          คำถามคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าที่หมดวาระ แต่ยังได้ทำ “ภารกิจสุดท้าย” คือการอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคส้ม กับชุดใหม่ที่อาจมาไม่ทันภารกิจนี้ (เพราะขั้นตอนยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และต้องมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 คน ในส่วนของสายปกครองที่ยังขาดอีกด้วย) จะมีนัยใดต่อคำตัดสินท้ายที่สุดหรือไม่


          หากถามชาวส้ม อะไรคงไม่สำคัญเท่ากับคำตอบและเหตุผลทั้งหมด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ