คอลัมนิสต์

สภาพัฒน์แนะ 6 ข้อ พยุงเศรษฐกิจ 63

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาพัฒน์แนะ 6 ข้อ พยุงเศรษฐกิจ 63 คอลัมน์...  อินไซด์ ครม. 

 

 


          วงถกคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัปดาห์นี้ (18 ก.พ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ซึ่งมีปัจจัยมาจากหลายด้าน

 

 

          สภาพัฒน์ ยังรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล


          สภาพัฒน์ ประมาณการเป็นข้อๆ 1.การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากร้อยละ 4.5 ในปี 2562 ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและฐานรายได้ในภาพรวมที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และฐานรายได้ในภาคเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2562 สอดคล้องกับกรอบวงเงินรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปี 2563


          2.การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2562 โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 2.8 ในปี 2562


          3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในการประมาณการที่ผ่านมา


          นอกจากนี้ สภาพัฒน์ ยังมีประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2563 ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ
          1.การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจใน ครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง




          2.การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยการ (1) ยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีผิดนัดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (2) รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (3) จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี (4) พิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และ (5) ติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว


          3.การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (ไม่รวมทองคำ) โดยมุ่งเน้น (1) การขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 2563 (2) การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 (3) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย-จีน และ (4) การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ


          4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 91.2 ร้อยละ 70.0 และร้อยละ 75.0 ตามลำดับ


          5.การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย
          (1) การติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน (2) การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ (3) การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญๆ และ (4) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ


          6.การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับ (1) กลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูการเพาะปลูกและฤดูการเก็บเกี่ยว (2) กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง (3) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs (4) การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และ (5) การบริหารจัดการน้ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ