คอลัมนิสต์

ธนาธรปลุกม็อบไม่ขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธนาธรปลุกม็อบไม่ขึ้น โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์


 


          ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา คำถามทางการเมืองที่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนพันธุ์แท้การเมืองไทยพูดถึงมากที่สุดคือ พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่จากคดีการกู้ยืมเงิน และหากพรรค ถูกยุบ ประเทศจะเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมประท้วง และจบลงด้วยการรัฐประหาร เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ ในขณะที่แกนนำพรรคทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, ช่อ พรรณิการ์ วานิช ต่างออกมาปลุกสาวกพรรคให้ร่วมกันต่อต้านการยุบพรรค การประกาศเดินสายนอกสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี (ไม่รู้ว่าหมายความรวมถึงการปลุกม็อบลงถนนหรือเปล่า) การร่วมลงชื่อต่อต้านการยุบพรรค การกล่าวอ้างว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่คือการยุบความหวังของคนรุ่นใหม่ และรวมถึงล่าสุดประกาศจะรับสมัครสมาชิกพรรคในวันตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พฤติกรรมเหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นความพยายามกดดันศาลรัฐธรรมนูญให้คำนึงถึงผลที่จะตามมาหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ (สรุปว่าพรรคที่ได้ชื่อว่าเป็นของคนรุ่นใหม่จะเอากฎหมู่หรือกฎหมาย?)

 

 

          อย่างไรก็ตาม ผลนิด้าโพลเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าคนไทย ซึ่งรวมไปถึงคนรุ่นใหม่ด้วยมีอาการเบื่อม็อบอย่างมากและมีความต้องการเห็นการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าการเมืองบนถนน


          ในคำถามโพลล์ข้อแรกถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.87 ระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมือง ขณะที่ร้อยละ 8.13 ระบุว่า เคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมือง เมื่อดูข้อมูลในเชิงลึกพบว่าคนกรุงเทพฯ (20%) ผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี (19%) ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 40,000 บาทต่อเดือน (17%) และกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี (14%) คือกลุ่มที่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมากที่สุด


          ในข้อสองด้านการตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมประท้วงของประชาชน หากมีนักการเมือง/พรรคการเมือง/กลุ่มการเมือง รณรงค์ให้ชุมนุมประท้วงทางการเมืองบนท้องถนน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.87 ระบุว่า จะไม่ไปเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นการสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง กลัวเกิดการจลาจลเหมือนครั้งก่อนๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ขอติดตามข่าวทางโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน และไม่ชอบการเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ รองลงมา ร้อยละ 14.02 ระบุว่า ไม่แน่ใจ เพราะต้องดูรายละเอียดต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการชุมนุม เช่น วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการชุมนุม สถานที่ แกนนำ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องดูสถานการณ์ในขณะนั้น และร้อยละ 3.11 ระบุว่า จะไป เพราะมีอุดมการณ์ที่เหมือนกันเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้ประเทศพัฒนามากกว่านี้ และไม่ชอบรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 



          ในข้อนี้เมื่อแตกข้อมูลออกมาดูพบว่ามากกว่า 80% ของทุกกลุ่มบอกว่าจะไม่ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ในขณะที่กลุ่มที่เป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่อายุ 18 – 35 ผู้มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาถึงปริญญาตรี พนักงานเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักเรียนนักศึกษา ผู้มีรายได้ระหว่าง 10,001–40,000 บาทต่อเดือน สนใจจะไปร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่ถึง 4% ข้อมูลนี้บ่งบอกค่อนข้างชัดเจนว่าคนไทยไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม ต้องการความสงบทางการเมือง ไม่ต้องการการชุมนุมทางการเมืองที่จะนำพาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง การจลาจล การสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินและความบอบช้ำของประเทศในด้านอื่นๆ อีกมากมาย


          คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่กำลังสื่อสารกลับไปยังพรรคอนาคตใหม่ผ่านผลโพลล์นี้และผลโพลล์ความนิยมทางการเมืองในเดือนธันวาคม 2562 ว่า พวกเขาจะสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ตามวิถีทางประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาเท่านั้น พวกเขาส่วนใหญ่จะไม่ลงไปบนถนนเพื่อแสดงการสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่


          ในขณะที่ข้อสามถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ จะเดินสายอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 6 คน นอกสภา หากพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสินยุบพรรค พบว่า ร้อยละ 20.00 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นสิทธิที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล จะสามารถเดินสายอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ชอบรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยากให้ยุบสภา ร้อยละ 11.71 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะการอภิปรายนอกสภาเป็นการแสดงออกทางการเมือง ทำให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชอบนโยบายพรรคอนาคตใหม่เป็นการส่วนตัว ร้อยละ 11.16 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจควรทำเฉพาะในรัฐสภาเท่านั้น ไม่สมควรทำนอกสภา ร้อยละ 31.95 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจควรอยู่ในสภาเท่านั้น ถ้านอกสภาเปรียบเสมือนการประท้วง ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองแย่ลง และร้อยละ 25.18 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


          ในข้อนี้ มีคนประมาณ หนึ่งในสี่ไม่สนใจไยดีว่าพรรคอนาคตใหม่จะทำอะไร ในขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยและไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเดินสายอภิปรายนอกสภาของพรรคอนาคตใหม่ รวมกันมีถึงประมาณ 43% แต่บางคนอาจถามว่าทำไมคนเห็นด้วยและค่อนข้างเห็นด้วยรวมกันแล้วมีถึงประมาณ 32% ในประเด็นนี้สามารถอธิบายโดยเชื่อมโยงกับข้อสองว่า ตราบใดที่การเดินสายอภิปรายนอกสภาไม่ใช่การชุมนุมประท้วงทางการเมือง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีคนสนับสนุน แต่หากการอภิปรายนอกสภาเลยเถิดไปเป็นการชุมนุมประท้วง จลาจล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ก็มีโอกาสที่จะลดน้อยลงอย่างมาก


          โดยสรุปจากผลโพลล์นี้ อยากให้แกนนำและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ลองตรองดูอีกทีว่า ผู้สนับสนุนพรรค ส่วนใหญ่ต้องการวิธีการอย่างไรเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ระหว่างวิธีการตามระบบรัฐสภากับการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน


          สำหรับผู้ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องการการเมืองบนท้องถนนก็ควรคิดให้ลึกอีกหน่อยถึงผลที่จะตามมาหากคนมากกว่า 80% ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้


          อยากจะเตือนคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมประท้วงทางการเมืองว่า การเมืองบนถนนไม่เหมือนไปดูคอนเสิร์ตที่มีแต่ความสุขสนุกสนาน ได้มันหรือสะใจกับเสียงเพลงที่ดัง การเมืองบนถนนมีแต่ความลำบากทั้งผู้จัด ผู้สนับสนุนและผู้ร่วม คอนเสิร์ตอาจใช้เวลาแสดงประมาณ 3–6 ชั่วโมง แต่การชุมนุมเมื่อเริ่มขึ้นแล้วอาจใช้เวลา 3–6 เดือนหรือมากกว่านั้นจนทุกฝ่ายเหนื่อยอ่อน รวมถึงประเทศชาติด้วยที่ต้องอ่อนแอตามระยะเวลาและสถานการณ์ของการชุมนุมประท้วง และตอนจบของการเมืองบนถนนจะไม่งดงามมีความสุขเหมือนดูดนตรี เพราะอาจจะจบด้วยการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และความเสียหายอื่นๆ ต่อประเทศชาติ


          ...ลองคิดดูอีกทีนะ


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ