คอลัมนิสต์

"คะแนนทุจริต-คอร์รัปชัน"...ใครสอบตกต้อง "ลงโทษ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

         

                       ข้าราชการไทยมีชื่อเสียง “ดี” หลายด้าน แต่ก็มี  “เสียหาย” หลายด้านเช่นกัน โดยเฉพาะ “ด้านทุจริต” ทุกครั้งที่โดนประเมินให้คะแนน ไทยแลนด์มักอยู่รั้งท้ายแถวเดียวกับประเทศด้อยพัฒนา...ความหวังอยู่ที่ “ป.ป.ช.” จะควงดาบอาญาสิทธิ์ “แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน” จริงจังแค่ไหน

 

                       รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามหาวิธีปฏิรูปแก้ไข “ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน” ในหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐ แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง เพราะทั้ง “คนโกง” และ “คนสนับสนุนให้โกง” ต่างร่วมมือกันอย่างดี และที่ทำให้คนไทย “เสียหน้า” อย่างมากคือเวลาที่มีการประกาศอันดับ “ภาพลักษณ์ทุจริตคอร์รัปชัน” (Corruption Perception Index: CPI) ของ องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ไทยแลนด์จะมี “คะแนน” อยู่ในระดับต่ำมาตลอด

 

 

 "คะแนนทุจริต-คอร์รัปชัน"...ใครสอบตกต้อง "ลงโทษ"

 

 

                       ย้อนหลังดู 5 ปี เห็นชัดว่าคะแนนเหล่านี้ไม่ได้กระเตื้องขึ้นมาเลย แช่นิ่งไม่เกิน 35 – 38 จากคะแนนเต็ม 100 เช่น ปี 2556 ได้ 35 คะแนน อันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศทั่วโลก ปี 2557  ได้ 38 คะแนน อันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศ ปี 2558  ได้ 38 คะแนน อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก ปี 2559  ได้ 35 คะแนน อันดับที่ 101  จาก 176 ประเทศ ล่าสุดข้อมูลปี 2561  ได้ 36 คะแนน อันดับที่ 99  จาก 180 ประเทศ

 

                       นิยามความหมาย “คอร์รัปชัน” คือ “การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน” ค่าคะแนนยิ่งต่ำหมายถึงยิ่งมีการคอร์รัปชันสูง “ไร้ความโปร่งใส”

 

 

 "คะแนนทุจริต-คอร์รัปชัน"...ใครสอบตกต้อง "ลงโทษ"

 

 

                       “ป.ป.ช.” สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงจัดการปัญหานี้ แต่ที่ผ่านมาทำเพียงนั่งกุมขมับจดบันทึก “รับเรื่องร้องเรียน”และเบาะแส “คดีทุจริต-คอร์รัปชัน” จากประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศ ฯลฯ คดีเพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน ๆ  จนเมื่อประมาณปี 2557 มีความพยายามจัดทำระบบ “ให้คะแนน ความโปร่งใสของข้าราชการและหน่วยงานรัฐ” ทั่วประเทศไทย ที่สำคัญคือการเปิดเผยคะแนนออกมาให้สังคมรับรู้พร้อม ๆ กัน หวังจะช่วยลดการทุจริตและเปิดทางให้ประชาชนมาช่วยกันให้คะแนนทุกภาคส่วน

 

               

                       แบบลงคะแนนประเมินเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ไอทีเอ” หรือ “การประเมิน ITA” จากชื่อเต็มว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) เจ้าหน้าที่รัฐไทยเริ่มคุ้นเคยกับคำนี้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงกลางปี 2562 มีการพัฒนากรอบ “การประเมินไอทีเอ” ที่ใช้มานานหลายปีให้ทันสมัยสากลและมีรายละเอียดหลายด้านเพิ่มเติม

 

                       โดยการประเมิน “หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศปี 2562” มีการให้คะแนนกระทรวง ทบวง กรม อบจ. อบต. ฯลฯ จำนวนทั้งสิ้น 8,299 หน่วยงาน โดยผู้ประเมินผลกว่า 1 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน   ได้แก่ 1 ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 4 แสนคน   2 ประชาชนที่มาติดต่อหน่วยงานภาครัฐ   6 แสนคน และกลุ่มที่ 3 ประเมินผ่านเว็บไซต์สำรวจความคิดเห็น 8,299 เว็บไซต์ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน

             

                       “วรวิทย์ สุขบุญ” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประเมินไอทีเอต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ว่า มีหน่วยงานภาครัฐผ่านเกณฑ์ ได้ระดับ A และ AA จำนวน 970 หน่วยงานเท่านั้น หรือเพียงร้อยละ 12 ที่เหลือส่วนใหญ่ได้คะแนนเฉลี่ยปานกลาง  B – C - D

           

                       โดยหน่วยงานที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ องค์กรศาล อัยการ หน่วยงานรัฐสภา รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ส่วนคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร

 

                       สำหรับกระทรวงที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กระทรวงการคลัง กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงดิจิทัลฯ ส่วนคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงเกษตรฯ

           

                        ทั้งนี้ “คะแนนเฉลี่ย” ที่ได้มาจากตัวชี้วัดนั้น 10 ตัวนั้นมีคะแนนรวมดังนี้

1) การปฏิบัติหน้าที่ ได้ 89 คะแนน  2 การใช้งบประมาณ 80 คะแนน  3) การใช้อำนาจ 83 คะแนน   4) การใช้ทรัพย์สินราชการ 78 คะแนน  5) การแก้ไขปัญหาการทุจริต 80 คะแนน  6) คุณภาพการดำเนินงาน 80 คะแนน  7) ประสิทธิภาพการสื่อสาร 78 คะแนน 8) การปรับปรุงการทำงาน 75 คะแนน  และตัวชี้วัดสำคัญสุด 2 ตัวสุดท้ายคือ  9) การเปิดเผยข้อมูล 53 คะแนน และ 10) การป้องกันการทุจริต ได้เพียง 42 คะแนนเท่านั้น  

           

                       เมื่อไม่มี “การเปิดเผยข้อมูล” ก็แสดงถึงปัญหาความไม่โปร่งใส เมื่อไม่มี“การป้องกันทุจริต” ก็แสดงถึงปัญหาคอร์รัปชัน !

 

         

                        นอกจากนี้ ยังพบว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกว่า เมื่อพบเห็นการทุจริตในหน่วยงานแล้ว การแจ้งเรื่องหรือส่งหลักฐาน ทำได้ยาก แจ้งเรื่องไปแล้วก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความปลอดภัย หรือไม่มั่นใจว่าจะมีการดำเนินการต่ออย่างจริงจัง และยังพบว่าประชาชนรู้สึกว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ค่อยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนหรือต่อส่วนรวมเท่าที่ควร

 

                       ในเมื่อคนไทยยังให้คะแนนกันเองต่ำเตี้ยขนาดนี้ แสดงว่าที่ผ่านมาหลายปีนี้ ฝรั่งให้คะแนน“ภาพลักษณ์ทุจริตคอร์รัปชัน” ไม่ผิดแท้แน่นอน คำถามต่อไปคือ เมื่อประเมินแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้เกิดการ “เปิดเผยข้อมูล” และ “ลดทุจริต-คอร์รัปชัน”

 

         "คะแนนทุจริต-คอร์รัปชัน"...ใครสอบตกต้อง "ลงโทษ"

 

 

                        “ดร.มานะ นิมิตมงคล” เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความคิดเห็นว่า การให้คะแนนแบบประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของ ปปช ถือเป็นเรื่องดีมาก เพียงแต่ที่ผ่านมา ยังมีปัญหาในเรื่องของ  “วิธีการ” และ “การบังคับใช้” เพื่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง เช่น การใช้วิธีจ้างให้หน่วยงานเอกชน หรือสถาบันการศึกษาไปช่วยทำแบบสอบถามนั้น บางครั้งผลที่ได้ออกมาอาจไม่โปร่งใสเสียเอง เช่น ทำไมกระทรวงสาธารณสุข หรือ มหาวิทยาลัยจุฬาฯ ถึงได้คะแนนต่ำกว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

           

                        “ปัญหาสำคัญ คือ ต้องได้คะแนนเฉลี่ย 85 ขึ้นไปถึงจะสอบผ่าน แต่ถ้าสอบไม่ผ่านแล้วยังไงต่อ เพราะไม่ได้มีบทลงโทษหรือการตัดสิทธิประโยชน์บางอย่าง หากเป็นไปได้รัฐบาลหรือ ปปช ต้องหาวิธีลงโทษที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงาน ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ผ่านการประเมินหรือได้คะแนนน้อยมาก เช่น ต้องถูกตรวจสอบเป็นพิเศษ หรือตัดงบประมาณสนับสนุนบางอย่าง หรือสิทธิประโยชน์บางประการ เพื่อสร้างความกระตือรือร้นให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเอง” ดร.มานะ กล่าวแนะนำ

           

                       ที่น่าสนใจมีข้าราชการกับหน่วยงานหลายแห่งที่สอบไม่ผ่าน ออกมาร้องเรียน “ขออุทธรณ์ผลคะแนน” กันแล้ว

             

                       เช่น กรณีของ  “พิพัฒน์ เอกภาพันธ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ทำหนังสือขออุทธรณ์ต่อเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากผลคะแนนได้แค่ 47.65 คะแนน ถือว่าต่ำที่สุดใน 74 จังหวัดที่เข้ารับการประเมิน โดยนายพิพัฒน์เชื่อว่ารูปแบบประเมินออนไลน์ มีความคลาดเคลื่อน ขอให้ตรวจสอบผลประเมินใหม่

               

                       ปัญหาเรื่องคุณภาพของ “วิธีการประเมิน” และ “บทลงโทษ” ผู้ได้คะแนนต่ำหรือสอบไม่ผ่าน คือเรื่องท้าท้ายที่ ปปช. ต้องเข้าไปจัดการอย่างจริงจัง อย่าให้ “คนไทย 1 ล้านคน” ที่เข้าไปช่วยลงคะแนนประเมินผล เกิดความรู้สึกว่าคล้าย ๆ กันว่า... “เสียเวลา ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร ! “

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ