คอลัมนิสต์

ศึกซักฟอก'จุดเปลี่ยน' ที่ไม่เปลี่ยน 'รัฐบาล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเลือกตัว รมต.ที่ถูกซักฟอกชัดเจนว่าเพื่อหวังลดความน่าเชื่อถือและเซาะความศรัทธาต่อรัฐบาลและหากสังคมไม่ไว้วางใจ การวางหมากและเดินเกมของพรรคการเมืองคู่แข่งรัฐบาล ก็ไม่ยาก

         ส่งท้ายการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ด้วย ญัตติของพรรคฝ่ายค้าน นำโดย พรรคเพื่อไทย ที่ขอให้สภาฯ เปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล จะเริ่มประเดิมศึกซักฟอก​ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์​ ลากยาวไปถึง วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 

     และลงมติกันโดยเสียงของส.ส. ทั้งสภาฯ ว่าจะให้ความไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรี ที่ถูกขุดพฤติกรรม แฉกลางสภาฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันส่งท้ายสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง  พอดิบพอดี

       ช่วงเวลา 4 วัน 3 คืน ที่สภาฯ ผ่านการหารือจากหลายฝ่าย ที่จัดให้​ แน่นอนว่า คำนึงถึง จำนวนรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปราย ทั้ง 6 ชื่อ ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ, 3.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 4.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, 5. วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ 6. ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

      โดยรัฐมนตรี 3 ลำดับแรก เป็นผู้ที่มีสัญลักษณ์ ​"พรรคพลังประชารัฐ" ติดเป็นโลโก้ประจำตัว ขณะที่ 3 คนหลัง คือ รัฐมนตรีที่เคยปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ช่วงการยึดอำนาจ-รัฐประหาร ภายใต้ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)"  แม้จะสังกัดพรรคแกนนำรัฐบาล แต่ถือเป็น คีย์แมนสนับสนุน คนสำคัญในทางการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาล โดยเฉพาะ "บิ๊กป๊อก - รองฯวิษณุ"

     ตามบทบาทของ 3 แกนนำทางการเมือง กับ 2 ผู้สนับสนุน จึงไม่แปลกใจเท่าไร ที่ "พรรคการเมืองคู่แข่ง" จะเลือกตัวบุคคล เพื่อหวังลดความน่าเชื่อถือ และเซาะความศรัทธาทางการเมือง เพราะหากทำให้สังคมเห็น คล้อยตามข้อมูลการอภิปราย และนำไปสู่ความ "ไม่ไว้วางใจจากสังคม" ขั้นตอนทางการเมืองต่อไป จึงวางหมากและเดินเกมไม่ยาก  

    และอาจหมายถึง การเจรจาดีลเปลี่ยนขั้ว กลืนเลือดเพื่อชาติ กับ "กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล" ทั้ง พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติพัฒนา, พรรคชาติไทย รวมถึงกลุ่มพรรคการเมืองขนาดเล็ก

     แม้ "สมพงษ์​ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" จะปฏิเสธต่อความคิด"บิ๊กดีล"นั้น ว่าไม่ใช่เหตุผลที่ไม่ปรากฎรายชื่อ "รัฐมนตรีในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล" ในศึกซักฟอกรอบแรกของฝ่ายค้าน แต่เป็นเพราะ ผลการพิจารณาเนื้อหาและข้อมูล ยังไม่หนักแน่นพอ เปิดศึกซักฟอก 

    แต่ในเชิงทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ การสานสัมพันธ์อันดีไว้ สานต่อผลทางการเมืองระยะต่อไป

     กับข้อกล่าวหาของ 6 รัฐมนตรี ที่ "พลพรรคฝ่ายค้าน" จั่วหัวไว้ในเอกสารที่ยื่นประกอบญัตติ สาระสำคัญ คือ พฤติกรรมที่อันชวนสงสัย และเชื่อได้ว่า นำไปสู่ความไม่สุจริตในการบริหารราชการแผ่นดิน 

    สำหรับข้อกล่าวนั้น มีสาระที่จำแนกเป็นรายบุคคล ได้แก่ 

     กรณีของ "รัฐมนตรี - ดอน" คือ พฤติกรรมที่เอื้อให้กับบริษัทข้ามชาติ ผ่านการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงซึ่งส่อว่าพาชาติไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ  

      ซึ่งเคสนี้ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ฐานะหัวเรือใหญ่ของศึกซักฟอก" เคยบอกโจทย์แล้วว่า เป็นกรณีที่เกี่ยวกับบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจบุหรี่ ต่อกรณีที่มีเรื่องฟ้องร้องต่อศาล และการให้สัมภาษณ์ กรณีที่ สหรัฐอเมริกา มีความขัดแย้งกับ อิหร่าน​ ในทำนองว่ารู้ล่วงหน้าจะมีการโจมตี ซึ่งมองว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน โดยใช่เหตุ

      กรณี "รองนายกฯ - วิษณุ" ข้อกล่าวหาที่จะซักฟอก คือ ใช้ตำแหน่งแทรกแซง การปฏิบัติหน้าที่กระบวนการยุติธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง เป็นเหตุให้เสียหายด้านการเงินของรัฐ รวมถึงตีความกฎหมายโดยไร้หลักการและความถูกต้อง เพื่อช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง รวมถึงชี้นำการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ 

      กรณี "รัฐมนตรี-ธรรมนัส" จั่วหัวที่ประเด็น การขาดคุณสมบัติที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงพบการบริหารที่บกพร่อง ผิดพลาด วางมาดเป็นผู้มีอิทธิพล ปกป้องพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ชาติ 

       กับรายละเอียดนั้นเดาได้ว่า จะเป็นกรณีที่เคยถูกศาลประเทศออสเตรเลียตัดสิน คดียาเสพติด ที่ประเด็นนี้ใช้กลไกของ "กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาฯ" ตรวจสอบข้อมูลไว้พร้อมซักฟอก รวมถึงกรณีที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อปกป้องและช่วยเหลือ คดีรุกป่าของ "ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ" ที่จ.ราชบุรี และกรณีที่มีอิทธิพลทางการเมือง ที่ถูกตีตราว่าเป็น "เจ้าของสวนกล้วย" เลี้ยงลิง ให้สนับสนุน "งานรัฐบาล" ในสภาหินอ่อน

       ขณะที่กรณีของ "บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร" , "บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์" พฤติกรรมที่ตั้งเป็นประเด็น มีลักษณะคล้ายกัน คือ ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิชอบให้กับตนเอง พวกพ้อง และมีพฤติกรรมละเมิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง  

      หากประเมิน ข้อกล่าวหาของ "บิ๊กป้อม" ที่มีข่าวสะพัดก่อนหน้านั้นว่า "มีดีล ไม่อยู่ในข่ายถูกซักฟอก" นั้นดูแสนจะเบาหวิวกว่าใคร

     เพราะในกรณีของ "บิ๊กป๊อก" ที่ข้อกล่าวหาคล้ายคลึงกับ "พี่ใหญ่" แต่เมื่อดูให้ดีแล้ว มีพฤติกรรมที่เพิ่มเติม คือ กลั่นแกล้ง แทรกแซงข้าราชการประจำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงปล่อยให้เกิดกรณีทุจริตขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

      สำหรับกรณีของ "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์"  ถือเป็น ไฮไลต์ใหญ่ ตามสาระของญัตติที่ฝ่ายค้านยื่น แบ่งเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ 1.ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะมีพฤติกรรมล้มล้างรัฐธรรมนูญ ฐานะกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามวิถีและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 

      นัยของเรื่องนี้ เชื่อแน่ว่า หมายถึงพฤติกรรมสมัยที่ยึดอำนาจการปกครองจาก "รัฐบาลพรรคเพื่อไทย" เมื่อปี 2557 

      2.ใช้อำนาจการปกครองที่ได้มาโดยไม่ชอบ เพื่อละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวาง ซึ่งประเด็นนี้ เฉพาะเจาะจงต่อการออกคำสั่งในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งกรณี การจับกุม คุมขัง ฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามต่อเนื่องตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจ รวมถึงใช้ศาลทหารเข้าดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้เห็นต่างทางการเมือง 

      3.เป็นผู้นำที่มีพฤติกรรมกร่าง เถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง และชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม

     4.พฤติกรรมที่สืบทอดอำนาจ ผ่านกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

      5. ปล่อยให้มีการทุจริต ใช้อำนาจในตำแหน่งเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง รวมถึงเข้าข้างคนชั่วโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ

      6.บริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถ และทำงานผิดพลาด บกพร่องร้ายแรง

      7.ขาดคุณธรรม จริยธรรม แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม และใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติ ขัดหลักเสมอภาค รวมถึงไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่โดยไร้ความซื่อสัตย์ สุจริต และไม่มีความเสียสละ รวมถึงละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

     8.มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ

      9.ใช้งบประมาณเพื่อมุ่งสร้างคะแนนเสียง ขาดวินัยการเงินการคลัง และพบความล้มเหลวทางเศรษฐกิจระหว่างบริหารราชการ ทั้งราคาพืชผลทางการเกษตร ค่าแรงขั้นต่ำ และล้มเหลวด้านการแก้ปัญหา เช่น อากาศเป็นพิษ ภัยแล้ง

     10. เป็นผู้นำที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง

      11.หลอกลวงประชาชน ด้านการปฏิบัติตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียง   

      ที่ข้อกล่าวหามาก และ เยอะกว่า 5 รัฐมนตรี ที่เริ่มต้นทำงานมาพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2562 นั้น บางพฤติกรรม ส่อให้เห็นถึงนัยของความคับแค้นใจ จาก "ฝ่ายการเมืองที่ถูกกระทำโดยรัฐ" - "การถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง"- "การไม่ได้รับความเป็นธรรมในบางประเด็นที่เกี่ยวกับการเสียผลประโยชน์" 

        แน่นอนว่า ประเด็นของ "บิ๊กตู่" นั้น คือการย้อนความ - เรื่องอดีต พ่วงการบริหารราชการที่ต่อเนื่องในปัจจุบัน ฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดทั้ง ครม.ชุดปัจจุบัน และ ครม. ชุดก่อนหน้านั้น 

        สำหรับรายชื่อ ฝ่ายค้านที่จะอภิปรายนั้น ล่าสุดตัวเลขยังไม่แน่ชัดทั้งหมด แต่จากการเปิดเผย ผ่าน "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่" พอทราบว่า พรรคอนาคตใหม่จัดทัพอภิปรายไว้พร้อม ผ่าน 16 ขุนพล รวมเวลาอภิปราย 11 ชั่วโมง สำหรับสาระสำคัญ แน่นอนว่าพุ่งเป้าไปที่ "หัวหน้ารัฐบาล" 

         โดยประเด็น "ธนาธร" บอกกล่าว คือ ตั้งแต่หลังการทำรัฐประหาร 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยถูกตรวจสอบ และมีพฤติกรรมปกปิดความผิดต่อสาธารณะ ผ่านคำอ้างของการรักษาความสงบและคอรัปชั่น ดังนั้นโปรเจ็คของขุนพลพรรคอนาคตใหม่ คือ การกระชากหน้ากาก ผ่านการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ หยิบเนื้อหาที่ได้จากเอกสาร, หลักฐานแวดล้อม, กฎหมาย และความเสียหายที่เกิดขึ้น

       "เราต้องการย้ำให้ประชาชนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ พาประเทศไทยไปผิดทาง  และข้อมูลการอภิปรายเชื่อว่าจะทำให้ประชาชน และสภาฯ เห็นถึงความล้มเหลว และเหตุผลที่ควรลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายได้" ธนาธร ระบุ

   เมื่อโจทย์ซักฟอกของพรรคฝ่ายค้านถูกเฉลย และพอให้ "กุนซือรัฐบาล" คลำทางได้ จึงไม่แปลกใจที่ พลพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ "พลังประชารัฐ" และเครือข่ายเด็กบิ๊กป้อม จะตั้งทีม เพื่อรอจังหวะตอบโต้ ด้วยการ "ประท้วง" ในสภาฯ​ และ ตั้งทีมส่งข้อมูลให้ "รัฐมนตรี" แก้ต่างข้อกล่าวหา รวมถึงส่งข้อมูล เพื่อชี้แจง หวังใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลที่ผ่านมากับประชาชน

       ดังนั้นเกมซักฟอกในสภาฯ ที่เป็นกลไกควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และตรวจสอบการกระทำทุจริต และประพฤติมิชอบของรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารนั้นถูกต้อง โปร่งใส จึงเป็นมากกว่างานตรวจสอบธรรมดา เพราะแฝงไปด้วยเกมที่แต่ละฝ่ายจ้องเอาชนะกันทางการเมือง

      กับงานแรกของขุนพลของพรรคฝ่ายค้าน ที่มี พรรคเพื่อไทย-พรรคอนาคตใหม่ เป็นแกนนำ แม้จะเป็น "มือใหม่" แต่เชื่อแน่ว่าจะเตรียมความพร้อมอย่างดี เพื่อทำให้ภารกิจ  "ซักฟอกรัฐบาล" เกิดผลในการลดความเชื่อถือ-ศรัทธา มากที่สุด 

       เพราะรู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ต่อให้ลงมติเต็มจำนวนของฝ่ายค้านในสภาฯ ไม่มีทางที่จะลงมติขับ "รัฐมนตรี" พ้นจากตำแหน่งได้ เพราะเช็คเสียงเลือดแท้ ล่าสุดมีเพียง 229 เสียง ซึ่งไม่พอขับรัฐมนตรีให้พ้นไปได้ 

       เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 151 ระบุต้องใช้เสียงไม่ไว้วางใจ เกินกึ่งหนึ่งของส.ส.ที่มีอยู่ในสภาฯ และตอนนี้มี ส.ส.ในสภาฯ ทั้งหมด 498 คน นั่นหมายถึง ต้องได้เสียงไม่ไว้วางใจ เกณฑ์ขั้นต่ำ 250 เสียง หรือมากกว่านั้น ขึ้นไป 

     และแม้ "พรรคฝ่ายค้าน" จะหวังลึกๆ แบบไม่คาดหวังว่า "ส.ส.ร่วมรัฐบาล" จะหันหัวเปลี่ยนใจลงมติสนับสนุนญัตติของฝ่ายค้าน แต่เอาเข้าจริง ต่อให้ข้อมูลฝ่ายค้านดี ฟันเปรี้ยง ตรงประเด็นหรือมีหลักฐานชัดขนาดไหน อย่างมากสุด ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล แค่ "งดออกเสียง" หรือใช้สิทธิ "ไม่ลงคะแนน" ให้ 

      เพราะรู้ดีแก่ใจว่า สถานะของพรรคร่วมรัฐบาล คือ แต้มต่อที่จะสร้างบทบาท โกยคะแนน สร้างผลงานให้ประชาชนเห็นได้มากกว่า การเป็นฝ่ายค้าน ที่'อดอยาก-ปากแห้ง'

     อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : "พปชร." สู้ศึกรุมกินโต๊ะ ตั้งองครักษ์นอกสภาชนฝ่ายค้าน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ