คอลัมนิสต์

กรรมาธิการ ป.ป.ช. เมื่อไรจะเลิกตีกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรรมาธิการ ป.ป.ช. เมื่อไรจะเลิกตีกัน โดย...   ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

 


          ในเว็บไซต์ของกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร เขียนไว้ว่ามีหน้าที่หลักคือ “มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ”

 

 

          อ่านแล้วพบว่าเป็นข้อความที่ดูดีถ้าทำได้ทำจริง ด้วยการอุทิศเวลาไปกับการหาข้อมูลการทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและเสนอแนะแนวทางการแก้ไข แต่ที่ผ่านมาพบแต่ข่าวกรรมาธิการทะเลาะกันเอง ขุดคุ้ยและแฉกันเองแบบจงใจห้ำหั่นกัน เหมือนเป็นคู่กัดกันแต่ชาติปางก่อนหรือมีเคมีไม่ตรงกัน ไม่ทราบว่ากรรมาธิการ ป.ป.ช. จะตระหนักหรือไม่ว่าประชาชนเขาเบื่อพฤติกรรมพวกท่านแค่ไหน ถ้าไม่รู้จะขอทบทวนให้ฟังถึงผลการสำรวจของนิด้าโพล เมื่อ 1 ธันวาคม 2562 เรื่อง ปัญหาในกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร


          จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งในกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.71 ระบุว่า น่าเบื่อ ควรหยุดทะเลาะกัน หันมาทำงานให้ประชาชนได้แล้ว รองลงมา ร้อยละ 24.74 ระบุว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธานกรรมาธิการที่แข็งแกร่ง มีจุดยืน ร้อยละ 12.33 ระบุว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นประธานกรรมาธิการที่แข็งกร้าวเกินไป ร้อยละ 10.50 ระบุว่า ประธานเสนอแต่เรื่องเดิมๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น เรื่องการถวายสัตย์ของนายกฯ ร้อยละ 9.71 ระบุว่า กรรมาธิการที่มีอายุน้อยบางคนไม่มีสัมมาคารวะในการพูดกับประธานที่มีอาวุโสมากกว่า ร้อยละ 6.68 ระบุว่า ประธานยึดมั่นในความถูกต้อง เสนอให้กรรมาธิการพิจารณาเรื่องที่สำคัญ ร้อยละ 4.46 ระบุว่า ประธานไม่มีวุฒิภาวะในการโต้เถียงกับกรรมาธิการที่มีอายุน้อยกว่า ร้อยละ 4.06 ระบุว่า กรรมาธิการบางคนสนใจแต่จะปลดประธาน ไม่ทำอย่างอื่นเลย ร้อยละ 1.27 ระบุว่า กรรมาธิการบางคนจำเป็นต้องเสนอปลดประธานเพื่อให้การทำงานของกรรมาธิการไปต่อได้

 



          ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปลี่ยนประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร (พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์) พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.57 ระบุว่าไม่ควรเปลี่ยนประธาน รองลงมา ร้อยละ 34.77 ระบุว่า ควรเปลี่ยนประธาน ร้อยละ 17.18 ระบุว่า ไม่แน่ใจ


          ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงระดับความขัดแย้งหากมีการเปลี่ยนประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 46.38 ระบุว่า ความขัดแย้งในกรรมาธิการจะยังคงเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 24.82 ระบุว่า ความขัดแย้งในกรรมาธิการจะลดลง ร้อยละ 15.04 ระบุว่า ความขัดแย้งในกรรมาธิการจะมากขึ้น


          ในกรรมาธิการ มีบุคคล 3 คนที่ทำให้การทำงานของกรรมาธิการ ดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยคนหนึ่งก็พูดแต่เรื่องเดิมๆ เหมือนพายเรือในอ่าง อีกสองคนก็สนใจแต่จะปลดประธานกรรมาธิการ และป่วนการประชุม
  

          ขอเริ่มจากคนแรก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. ที่เป็นถึงอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควรจะหยุดหมกมุ่นกับเรื่องเดิมๆ ที่ไม่สร้างประโยชน์ใดๆ ขึ้นมา เช่น ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินมาแล้ว ก็ควรจะจบได้แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ควรจะใช้ความรู้ สติปัญญา และสมรรถนะที่มีในการทำงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าพายเรืออยู่แต่ในอ่างเดิมแต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรให้ประชาชนเลย ในขณะเดียวกันด้วยความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกรรมาธิการ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ควรจะมีความอดทนหนักแน่นมากกว่านี้มากๆ...จากการถูกยั่วยุให้โมโหโดยกรรมาธิการที่มีวัยวุฒิต่ำกว่า แต่ไร้มารยาท การเป็นประธานกรรมาธิการ แต่หลุดคำพูดที่ไม่เหมาะสมออกมาจะถูกมองว่าไม่มีวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ควรจะเลิกสนใจการกระทำที่ยั่วโมโหเหล่านั้นแล้วก้มหน้าก้มตาทำงานให้ประชาชนดีกว่า เพราะเท่าที่ได้ข่าวมาจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ประจำกรรมาธิการคนหนึ่งว่า ประธานกรรมาธิการเป็นคนมีความตั้งใจ ขยันติดตามงานตลอด ในขณะที่ผลโพลล์ในเดือนธันวาคม ก็บอกอยู่แล้วว่าประชาชนยังสนับสนุนให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ทำงานต่อ ฉะนั้นหยุดสนใจเรื่องไร้สาระแล้วหันมาทำงานได้แล้ว
  

          คนที่สอง ปารีณา ไกรคุปต์ ที่เป็น ส.ส. มาแล้วถึง 4 สมัย การศึกษาก็ดี ในขณะที่คุณพ่อทวี ไกรคุปต์ ก็เป็นอดีต ส.ส.รุ่นเก่าลายครามน้ำดี ที่คิดว่าน่าจะสั่งสอนสิ่งดีๆ และการเป็นส.ส.ที่ดีให้ลูก (แต่ไม่รู้ว่าลูกฟังหรือเปล่า) ปารีณาจะทำอะไรก็ให้นึกถึงหน้าพ่อและชาวราชบุรีที่เลือกปารีณาเข้ามาบ้าง ปารีณารู้หรือไม่ว่าประชาชนทั่วๆ ไปเขากำลังมองปารีณาอย่างตัวตลกในกรรมาธิการที่หาสาระอะไรไม่ได้เลย นอกจากบทบาทสร้างความบันเทิงให้ผู้เฝ้าติดตามการประชุมกรรมาธิการ ว่าวันนี้ปารีณาจะก่อกวนหรือมีพฤติกรรมอะไรแปลกๆ ในการประชุมอีก ในขณะที่พฤติกรรมบางครั้งของปารีณาก็ไม่ได้แสดงถึงมารยาทที่ควรมีในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ ไม่รู้ว่าสมัยเด็กเคยมีใครสอนเรื่องมารยาทและการรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่บ้างหรือเปล่า ฉะนั้นหยุดพฤติกรรมเดิมๆ แล้วเริ่มใช้ความรู้ที่มีและประสบการณ์ ส.ส. 4 สมัยให้เป็นประโยชน์ในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยได้แล้ว
  

          กรรมาธิการ ป.ป.ช. คนที่สามที่ต้องพูดถึงคือ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.ใหม่ที่ขยันทำงานมาก แต่ก็ขาดวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะในที่ประชุมหรือในที่สาธารณะ ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ภูเก็ต แสดงอำนาจใหญ่โตข่มขู่ตำรวจไปจนถึงการแสดงบทบาทก้าวร้าวไร้มารยาทในกรรมาธิการ รวมถึงการข่มขู่ประธานกรรมาธิการ เช่น “ปากอย่างนี้ เดี๋ยวมีคดีอีก ตอนแก่ก็ต้องไปเจอกันที่ศาล แม้ท่านจะอายุมากกว่าผม แต่ผมจะถอนหงอกท่าน” นอกจากนั้นแล้วนายสิระยังเข้าใจผิดในบทบาทของตนเองที่ควรจะเป็นในฐานะส.ส.ของคนไทยทั้งประเทศ เช่นการโต้เถียงกับนายอิทธิพร สังข์แก้ว รองนายกเทศมนตรีตำบลกะรน จ.ภูเก็ต ในการประชุมกรรมาธิการ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 โดยเริ่มจากนายสิระถูกถากถางเกี่ยวกับการไปกินข้าวที่โรงแรมกะตะธานี แทนที่นายสิระจะรู้จักสงบสติอารมณ์แล้วตอบกลับด้วยสติปัญญาในฐานะส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ในทางตรงกันข้ามนายสิระกลับตอบโต้ว่า “ผมไม่ใช่เพื่อนเล่นคุณ ขอให้ประธานกรรมาธิการควบคุมด้วย โดยอย่าให้บุคคลภายนอกมากล่าวล้อเล่นกับกรรมาธิการแบบนี้” ถูกต้องครับนายสิระไม่ใช่เพื่อนเล่นนายอิทธิพร แต่ต้องเป็นผู้ทำงานรับใช้นายอิทธิพรเพราะนายอิทธิพรเป็นประชาชนที่เข้ามาร้องเรียนต่อกรรมาธิการ และนายสิระในฐานะส.ส.และกรรมาธิการ ต้องมีหน้าที่รับฟัง ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ไปแสดงอารมณ์ไม่พอใจใส่ประชาชน ไม่รู้ว่านายสิระฟังนายไพบูลย์ นิติตะวัน พูดอธิบายให้ฟังหรือเปล่าว่า ส.ส. คือผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น นายสิระคือผู้แทนของนายอิทธิพร คนภูเก็ตด้วย ฉะนั้นนายสิระควรจะหัดควบคุมอารมณ์และมารยาทในที่ประชุมและหันมาใส่ใจเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยอย่างเต็มความสามารถ ไม่ใช่มุ่งเน้นเพียงแค่การโต้แย้ง ตรวจสอบและหาทางปลดประธานกรรมาธิการเท่านั้น
  

          ส่วนกรรมาธิการที่เหลือก็อย่าไปสนุกกับการเฝ้าดูการเถียงกันของสองกลุ่มนี้ แต่ควรพยายามห้ามปรามและหยุดการทะเลาะกันในเรื่องไร้สาระแล้วดึงการประชุมกลับเข้าสู่ระเบียบวาระที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นของสังคม
  

          คนไทยเสียภาษีให้ ส.ส. เข้าสภามาทำงานเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น ไม่ใช่ให้เข้ามาตีกันในเรื่องไร้สาระหรือสร้างความบันเทิงให้คนดูไปวันๆ


          ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออกไปให้หมดเลย...รำคาญ


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ