คอลัมนิสต์

ขีดเส้นจำกัด 'ความมั่นคง'ห้ามกระทบสิทธิเสรีภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขีดเส้นจำกัด 'ความมั่นคง'ห้ามกระทบสิทธิเสรีภาพ

 


          การทำงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แม้จะไม่ปรากฏเป็นข่าวหวือหวา แต่ด้านหนึ่งก็มีการทำงานที่มีความคืบหน้าไปพอสมควร

 

 

          โดยล่าสุด คณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน มีการเสนอรายงานความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชาวไทย


          โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการมีความเห็นให้มีการปรับปรุง มาตรา 25 ว่าด้วยการให้บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการมีความเห็นให้ปรับปรุงเป็นสองแนวทาง
   

          แนวทางที่ 1 เสนอโดย นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีความเห็นว่าบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะเป็นอันตรายต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น จากเดิมที่เคยกำหนดให้เรื่องความมั่นคงของรัฐมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน


          นายนิกร แสดงความคิดเห็นไว้ในรายงานสรุปความคิดเห็นถึงเหตุผลของการแก้ไขว่า เหตุที่ขอให้ตัดข้อยกเว้นเรื่องความมั่นคงของรัฐเพราะความมั่นคงของรัฐอาจตีความได้หลายมิติ การกำหนดไว้อาจเกิดการตีความที่ทำให้กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินควร
  

          แนวทางที่ 2 เสนอโดย นายชัยเกษม นิติสิริ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ที่เห็นว่าควรให้ตัดข้อยกเว้นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนออกไปทั้งหมด เนื่องจากการที่มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญระบุไว้ในส่วนต้นว่า “การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ” ถือว่าเป็นการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้นหากจะไปกำหนดห้ามมิให้ใช้สิทธิเสรีภาพในเรื่องใดก็ควรนำไปกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น



  

          นอกจากนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการยังมีความเห็นในประเด็นอื่นๆ ด้วยว่าควรให้มี การบัญญัติเรื่องสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อที่ประชุมประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ สิทธิในการเข้าชื่อร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการบัญญัติเพิ่มเติมเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เคยกำหนดไว้ในหมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้เป็นการรองรับสิทธิของประชาชนที่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
   

          ที่สำคัญ นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เสนอว่าควรบัญญัติหลักการแห่งการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งไว้ในมาตรา 3 ซึ่งอยู่ในหมวด 1 บททั่วไปว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ซึ่งอาจถูกถอดถอนได้โดยประชาชน ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ” เพื่อเป็นการรองรับสิทธิของประชาชนในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง
  

          ขณะที่มาตราอื่นๆ ที่สำคัญที่เริ่มมีอนุกรรมาธิการแสดงความคิดเห็นให้แก้ไข เช่น มาตรา 49 ว่าด้วยการให้สิทธิของประชาชนในการร้องโดยตรงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้เลิกการกระทำของบุคคลในการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเสนอแก้ให้ต้องเป็นกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอก่อนผู้ร้องขอถึงจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของอัยการสูงสุดก่อน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ