คอลัมนิสต์

เทหน้าตัก ผู้ว่าฯ กทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เทหน้าตัก ผู้ว่าฯ กทม. คอลัมน์... Special Report


 


          จะเป็นสถานการณ์ชิงอำนาจจากหลายพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง ภายหลังคนกรุงเทพฯ ต้องเว้นวรรคการเลือกตั้งไปเกือบ 7 ปีเต็ม


          หากย้อนผลเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 3 มีนาคม 2556 เสียงคนกรุงเทพฯ 1,256,349 คะแนน ส่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่ 2 ด้วยคะแนนมากที่สุดในประวัติการณ์ เหนือคู่แข่งจากเพื่อไทย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพียง 1.7 แสนคะแนน ทำให้ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” เข้ามาต่ออายุการครองอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ในศาลาว่าการ กทม. ตั้งแต่ยุคนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 30 สิงหาคม 2547

 

 

          แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งใน กทม.ลดลงเหลือ 30 ที่นั่งจาก 33 เขต ในสภาพพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะตัวแปร “ผู้สมัครอิสระ” ที่เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ชื่อ “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา จนถึง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เพื่อชู “จุดแข็ง” ขายภาพไม่มีการเมืองหนุนหลัง กลายเป็นโจทย์หินในการต่อสู้ของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และอนาคตใหม่ มากขึ้นเรื่อยๆ


          ถึงแม้ “แชมป์เก่า” ประชาธิปัตย์ จะมีแต้มต่อจากประสบการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลายสมัย แต่จากบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป รวมถึงผลเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีเพียงพรรคพลังประชารัฐ ได้เก้าอี้ ส.ส.กทม.มากถึง 12 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 9 ที่นั่ง และพรรคเพื่อไทย อีก 9 ที่นั่ง ทิ้งให้ “ประชาธิปัตย์” ไม่ได้เสียง ส.ส.กทม.แม้แต่เขตเดียว


          ยิ่งสถานการณ์ไหลออกจากแกนนำระดับบิ๊กเนม จนถึงชื่อล่าสุด “กรณ์ จาติกวณิช” และ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ เป็นความท้าทายของพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่ความนิยมทางการเมืองกำลังถูกสั่นคลอน เพราะแต่ละพรรคยังยืนระยะในระดับการเลือกตั้งสนาม กทม. จากคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตที่ผ่านมา อยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ 804,272 คะแนน ตามมาที่พรรคพลังประชารัฐ 791,893 คะแนน และเพื่อไทย 604,699 คะแนน


          ถึงแม้ขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกเหนือจากพรรคอนาคตใหม่ ยังมีพรรคพลังประชารัฐเป็นหนึ่งในตัวเต็งยุคที่ถืออำนาจทางการเมืองภาพใหญ่ แต่ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐยังยืนอยู่ในเส้นทางเดียวกับหลายพรรคการเมืองที่ยังไม่เปิดตัวผู้สมัคร ปิดช่องถูกโจมตีจนช้ำก่อนถึงวันเลือกตั้งจริง แต่อีกด้านสถานการณ์ภายในกำลังเร่งสรรหา “ตัวแทน” มาลงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

 



          เน้นสเปกไปที่ต้องใหม่ ทำงานจริงจัง มีวิสัยทัศน์ ทุกนโยบายต้องทำได้จริง เป็นมือประสาน ส.ก. ส.ข. สามารถบริหารองค์กรใหญ่ คุ้นเคยเข้าใจระบบการบริหารในศาลา กทม. ขีดเส้นใต้ 3 เส้นต้องทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ “วันแมนโชว์” เพื่อสร้างจุดแข็งไปวัดกับกระแส “ชัชชาติ” และผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่


          จากเดิมที่ฐานเสียงคนกรุงเทพฯ มีตัวเลือกลงคะแนนแค่ “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” แต่การเลือกตั้งรอบนี้ชาว กทม.จะเต็มไปด้วย “ตัวเลือก” ทางการเมือง จะเปิดหน้าหาเสียงประกาศนโยบายสารพัด เพราะหากจับสัญญาณความตื่นตัวจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิมากถึง 72% หรือ 3,247,813 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,498,058 คน ถือเป็นตัวเลขสำคัญชี้ขาดตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่


          ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ผ่านมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2562 สภา กทม.ได้เห็นชอบร่างข้อบัญญัติฯ ประจำปี 2563 ด้วยวงเงิน 83,398 ล้านบาท จนเป็นขุมกำลังก้อนใหญ่ที่ทุกพรรคการเมืองจะเททุกหน้าตักเพื่อเข้ายึดสนาม กทม.มาคุมงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทต่อปี


          ระฆังยกแรกกำลังดังขึ้นอีกไม่ช้าสำหรับการเลือกตั้งเวทีเมืองหลวง ชี้วัดคะแนนความนิยมจากแต่ละพรรค กรุยทางชิงอำนาจทางการเมืองตั้งแต่ระดับชาติไปถึงสนามท้องถิ่น โดยมีเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นเดิมพัน


          

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ