คอลัมนิสต์

จับตา"ชวน"จะออกอย่างไร กับ"ญัตติฝ่ายค้าน"เจ้าปัญหา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตา"ชวน"จะออกอย่างไร กับ"ญัตติฝ่ายค้าน"เจ้าปัญหา

 

 

  
          กลายเป็นประเด็นเดือดก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นมาทันที ภายหลัง คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ได้ส่งหนังสือถึง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ดำเนินการสั่งให้ ‘สมพงษ์ อมรวิวัฒน์’ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา แก้ไขเนื้อหาในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากเห็นว่ามีการกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ด้วยข้อความอันเป็นเท็จถึงสองกรณี

อ่านข่าว...  "ชวน" ระบุฝ่ายรบ.-ค้าน จัดคิวซักฟอกไม่ได้ จะเคาะเอง

 

 

          กรณีที่ 1 ในการเสนอญัตติปรากฏข้อความว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลัมล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวาง”
  

          พิจารณาแล้วเห็นได้ว่าเป็นการใช้ข้อความอันเป็นเท็จอันจะก่อให้เกิดความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและส่งผลให้เกิดความสับสนต่อประชาชน โดยเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มิได้กระทำการอันใดอันจะส่งผลเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เนื่องจากในปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็ยังมีผลบังคับใช้ เป็นการนำข้อมูลที่ไม่เป็นจริงสู่สาธารณะด้วยความอคติ
  

          กรณีที่ 2 ในการเสนอญัตติดังกล่าวปรากฏข้อความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “เป็นผู้นำประเทศที่กร่างเถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม” ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นได้ว่าญัตติที่เสนอดังกล่าวมีข้อบกพร่องในเรื่องการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพ มีลักษณะเป็นการเสียดสี อันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน
   

          ทั้งนี้ใน ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 176 ได้บัญญัติให้อำนาจประธานสภาทำการตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ โดยหากพบข้อบกพร่อง ประธานสภาต้องแจงผู้เสนอญัตติให้ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ
  


            อำนาจของประธานสภาในการตรวจสอบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมีเพียงแค่ตามที่ข้อ 176 กำหนดไว้เป็นหลักการเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าการตรวจสอบของประธานสภาจะลงลึกได้ในระดับใดซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณากันตามบรรทัดฐานที่ประธานสภาเคยปฏิบัติกันมา
  

          ในประเด็นนี้ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นว่าตามหลักการในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ประธานสภาจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติดังกล่าว แต่การตรวจสอบที่ว่านี้เป็นเพียงการตรวจสอบความถูกต้องในแง่ของกระบวนการเสนอญัตติมากกว่าที่จะไปตรวจสอบเรื่องความถูกต้องของเนื้อหาในญัตติ


          “หมายความว่าประธานสภาจะดำเนินการตรวจสอบว่าญัตติที่เสนอเข้ามามีจำนวนส.ส.เข้าชื่อครบตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ รวมไปถึงมีผู้รับรองครบตามข้อบังคับการประชุมหรือไม่ หากมีปัญหาจุดใดก็จะสั่งให้ผู้เสนอญัตติไปทำการแก้ไข ส่วนเรื่องเนื้อหานั้นที่ผ่านมาไม่ว่าสมัยใดประธานสภาจะไม่เคยให้ความเห็นและไม่สั่งให้ผู้เสนอญัตติแก้ไขเนื้อหาแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่จะถือหลักการว่าผู้ถูกกล่าวหาในญัตติสามารถใช้สิทธิ์ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในญัตติของฝ่ายค้านต่อที่ประชุมสภาได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาเปิดเผยกลางสภาเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสิน” นพ.สุกิจ กล่าว
  

          นพ.สุกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับญัตติการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นเรื่องสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ฝ่ายค้านได้ดำเนินการตรวจสอบรัฐบาลให้สมกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นธรรมดาที่เนื้อหาในญัตติที่ไม่ว่าใครเป็นฝ่ายค้านก็ต้องนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่แรงและเป็นการตั้งข้อกล่าวหา เพราะต้องการให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด อย่างไรก็ตามการกล่าวหาแบบนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวหาแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายในฐานะผู้ถูกกล่าวหาสามารถใช้เวทีของสภาชี้แจงต่อสาธารณะได้ด้วย ด้วยเหตุนี้แนวปฏิบัติของประธานสภาที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีการให้ผู้เสนอญัตติแก้ไขเนื้อหาในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่อย่างใด
  

          “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นอกจากสภาจะเป็นผู้ตัดสินแล้ว อีกด้านหนึ่งประชาชนจะเข้าร่วมเป็นผู้ตัดสินด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องได้รับโอกาสในการนำเสนอข้อมูลและชี้แจงให้มากที่สุด” นพ.สุกิจ กล่าวสรุป
  

          ทั้งหมดนี้พอจะเป็นการแสดงให้เห็นได้แล้วว่าต่อให้ประธานสภาจะใหญ่แค่ไหน แต่สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ทำหน้าที่ได้เพียงเป็นผู้เปิดเวทีเท่านั้น


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ