คอลัมนิสต์

'ไพบูลย์ นิติตะวัน' แก้รัฐธรรมนูญ แตะวุฒิสภาทุกอย่างจบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ไพบูลย์ นิติตะวัน' แก้รัฐธรรมนูญ แตะวุฒิสภาทุกอย่างจบ คอลัมน์... Excusive Talk


 

          แม้จะไม่ได้เป็นข่าวหวือหวาสำหรับความเคลื่อนไหวในการทำงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่ในอีกมุมคณะกรรมาธิการก็มีการทำงานที่มีความคืบหน้าเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ที่มี 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน

 

 

          คณะอนุกรรมาธิการชุดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของคณะกรรมาธิการก็ว่าได้ เพราะทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะนำไปสู่ข้อเสนอของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต ซึ่งการที่ ‘ไพบูลย์’ เข้ามานั่งเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการทางรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้เป็นสองรองใคร อย่างน้อยที่สุดก็เคยทำหน้าที่เป็นถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว รวมไปถึงการเคยเป็น ส.ว.ชุดเดียวกับ ส.ว.ในปัจจุบันหลายคน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมเป็นหนึ่งคนที่มีคอนเนกชั่นถึงส.ว.ชุดปัจจุบันไม่มากก็น้อย


          ในประเด็นเหล่านี้ทีมงานเนชั่นสุดสัปดาห์ได้มีโอกาสสนทนากับ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ถึงการทำงานที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ โดยไพบูลย์ ระบุว่า “เวลานี้มีการจัดกลุ่มการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาประมาณ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่น่าจะมีความเห็นร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาที่อยากจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายความว่า เมื่อมีการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเหล่านั้นน่าจะได้รับความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 จากส.ส.และส.ว. ซึ่งอาจจะดำเนินการได้เลย แต่จะมีกี่มาตรานั้นส่วนตัวไม่ทราบ”


          “ส่วนตัวผมเองก็น่าจะเป็นมาตรา 185 (1) เพื่อให้ส.ส.และส.ว.เข้าไปช่วยเหลือปัญหาของประชาชนได้ โดยไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือมาตรา 144 เกี่ยวกับงบประมาณ รวมไปถึงระยะเวลาของการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะเสนอให้เมื่อประกาศแล้วก็ให้เป็นไปตามนั้น นอกจากนั้นยังมีเรื่องของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอย่างเรื่องไพรมารีโหวต ผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด คิดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นพ้องต้องกัน ถ้าเห็นพ้องต้องกันส.ว.ก็คงมองว่ามันไม่เกี่ยว ส.ว.ก็คงคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร”

 



          “กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยแต่ยังไม่เห็นพ้องต้องกัน ซึ่งจะต้องมีการทำความเข้าใจกันอีกระยะหนึ่ง เช่น ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ เรื่องนี้ไม่ได้มีความเห็นร่วมกันแน่นอน เพราะบางพรรคต้องการให้แก้ไข แต่บางพรรคไม่ต้องการ อย่างไรก็ตามก็ยังมีหนทางที่จะพูดคุยกันได้ เป็นต้น”
   

          “กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มมาตราที่ไม่น่าจะทำได้ภายใน 5 ปี ตามระยะเวลาของส.ว.ชุดนี้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งควรต้องรอส.ว.ชุดใหม่ตามสหวิชาชีพให้เข้ามาพิจารณา เช่น มาตรา 256”
   

          ไพบูลย์ ย้ำว่า “ถ้าแบ่งเป็น 3 กลุ่มเช่นนี้โอกาสที่จะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ 1 โดยจะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ส่วนกลุ่มที่เหลือก็ใช้เวลาแล้วแต่กรณี
  

          กับคำถามที่พุ่งตรงไปว่าในกลุ่มที่ 3 ที่จัดออกมานั้นหมายความว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในช่วง 5 ปีใช่หรือไม่ ไพบูลย์ ตอบว่า “ใช่ เพราะว่าคงจะไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.บทเฉพาะกาล เช่น จะไปแก้บทเฉพาะกาลก็ไม่ต้องแก้ไขแล้ว เพราะ 5 ปีมันก็จบ หมดสภาพไปแล้ว การแก้ไขมาตรา 256 ที่ส.ว.เกินกว่า 80 คนก็แก้ไขไม่ได้ ก็ต้องรอส.ว.ชุดใหม่ ซึ่งอาจจะเห็นด้วยกับการแก้ไขก็ได้”
 

           "ผมก็เป็นอดีตส.ว.ก็มีเพื่อนเป็นส.ว.ชุดนี้มาก ค่อนข้างจะเข้าใจมากว่าเขาคิดอย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าเป็นเรื่องหลักการที่ส.ส.ตกลงกันได้ ส.ว.ก็ไม่ขัดข้อง อย่างเรื่อง 185 (1) ถ้าแก้ไขได้ก็จะเปิดโอกาสให้ส.ว.เข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้เหมือนกัน เขาก็ย่อมเห็นด้วย หรือเรื่องงบประมาณก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ส่วนบทเฉพาะกาลที่ไม่ได้กระทบส.ส.แต่ไปกระทบส.ว.โดยตรง เขาบอกแล้วว่าไม่ให้แตะ เพราะเขาไม่เห็นด้วย ถ้าเขาไม่เห็นด้วยคณะอนุกรรมาธิการก็ต้องบันทึกลงไปว่ามีความเป็นไปได้ที่ส.ว.จะไม่เห็นด้วย ต้องรอส.ว.ชุดใหม่"
  

          "การที่เป็นอดีตส.ว.และมีอดีตส.ว.ในสมัยเดียวกันไปเป็นส.ว.สมัยนี้ด้วย มันก็ทำให้การเข้าใจความคิดหรือการพูดคุยกันนั้นมันก็จะได้มากกว่าปกติ เข้าใจอยู่ตลอดแล้วว่าส.ว.ชุดนี้เข้ามาช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี นั่นเป็นภารกิจเขา ดังนั้นการไปแตะบทเฉพาะกาลมันไม่น่าจะได้รับความเห็นชอบจากเขา แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะไปรับฟังความคิดเห็น" ไพบูลย์ ให้มุมมอง


          ในอีกมุมหนึ่งอาจมีหลายคนลืมไปแล้วว่า ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ เคยเป็นถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน โดยเป็นกรรมาธิการในชุดที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน แม้การจัดทำรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2558 จะออกมาเป็นรูปธรรม แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นต้องตกไปโดยปริยาย


          มาวันนี้ไพบูลย์มองย้อนกลับไปถึงการทำงานเวลานั้นและการตกไปของร่างรัฐธรรมนูญว่า กระบวนยกร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้นมีการทำงานอย่างลงลึกมาก ใช้เวลาเกือบ 9 เดือนประชุมเต็มวันเกือบทุกวัน ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนมาก เราผ่านมาหมดแล้ว”
  

          "มันก็พูดคุยอยู่แล้ว มันก็มีโอกาสจะตกสูง เพราะถามเพื่อนๆ สมาชิกก็เห็นว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่ด้วยเหตุผลอะไรก็มีหลากหลาย คนเห็นด้วยก็มีเยอะ แต่ส่วนผมผมก็โหวตเห็นด้วยนะ มันไม่ผ่านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันไม่ผ่านก็เพราะคะแนนไม่พอก็จบ ต้องมายกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ผมก็เลยได้มาเป็นส.ส.เพราะว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญตอนนั้นผ่าน ผมก็ถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พอร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็เลยมาเป็นส.ส.”
  

          “ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 มีองค์ความรู้หลายประเด็นที่ถ่ายทอดออกมา ซึ่งได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 อีกทั้งก็มีหลายประเด็นที่นำสู่รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 มีพัฒนาการมาจากรัฐธรรมนูญ 2558 ด้วย รัฐธรรมนูญ 2560 จริงๆ ไม่ได้เอามาจากรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 เท่านั้นแต่มีร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ด้วย” ไพบูลย์ ทิ้งท้าย


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ