คอลัมนิสต์

จับให้มั่นคั้นให้ตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับให้มั่นคั้นให้ตาย บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563

 

 


          การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติด้วยกัน 6 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาลมีความเห็นว่าญัตติของพรรคฝ่ายค้านเป็นเท็จและยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

 

อ่านข่าว...  นายกฯ ลั่น ตอบซักฟอก ทุกประเด็น

 

 

          ที่วิปรัฐบาลอ้างว่าญัตติเป็นเท็จเพราะเห็นว่าข้อกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่าฉีกรัฐธรรมนูญนั้น ในความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์ มาตามระบอบประชาธิปไตยถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หากไม่ทบทวนญัตติใหม่ก็จะเกิดการประท้วงในการประชุมตั้งแต่เริ่มอภิปราย และเชื่อว่าฝ่ายค้านจะแก้ไขทัน สำหรับข้อกล่าว พล.อ.ประวิตร คือร่ำรวยผิดปกติ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนนายวิษณุ ฝ่ายค้านเห็นว่าใช้ตำแหน่งก้าวก่ายและแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ใช้กฎหมายเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง พล.อ.อนุพงษ์ ถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยจนเกิดการทุจริตในหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบดูแลอีกทั้งพวกพ้องบริวารยังกลั่นแกล้งข้าราชการประจำ นายดอนถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจแทรกแซงข้าราชการประจำเพื่อตนเองและพวกพ้อง เอื้่อประโยชน์บริษัทข้ามชาติ ส่วน ร.อ.ธรรมนัส ถูกระบุว่าทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลและเข้าสู่ตำแหน่งโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญ


          ส่วนนายกรัฐมนตรี นอกจากประเด็นไม่ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยที่วิปรัฐบาลเห็นว่าเป็นเท็จแล้ว ยังมีข้อกล่าวหาบริหารงานโดยขาดความรู้ความเข้าใจทำให้เศรษฐกิจเสียหาย ซึ่งโดยทั่วไปของการยื่นญัตติอภิปราายไม่ไว้วางใจแล้วก็มีประเด็นที่ฝ่ายค้านจะโน้มน้าวด้วยหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้สภาเห็นว่าบุคคลที่ถูกอภิปรายนั้นไม่เหมาะสมจะสนับสนุนให้ความไว้วางใจเป็นรัฐมนตรีต่อไปได้ เพราะจะสร้างความเสียหายให้บ้านเมือง อย่างเช่น การบริหารงานที่ผิดพลาด การทุจริตคอร์รัปชั่น และอาจรวมถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นผู้นำอีกด้วย สำหรับรัฐมนตรีทั้ง 6 ที่ถูกยื่นญัตติครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลายคนก็มีอดีตนับเรื่องจากสภาผู้แทนราษฎรถูกล้มล้างไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ก็น่าคิดว่าจะนำมาอภิปรายได้หรือไม่

 



          จะว่าไปแล้วโดยหลักการการปกครองระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าเวทีการอภิปรายในสภาเป็นทางออกที่ดีที่สุดโดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งถือเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือแคบลงมาก็คือให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลให้บริหารประเทศอยู่ในกรอบ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามญัตติของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นมาคราวนี้ ประชาชนก็พอจะมองออกว่ารัฐมนตรีคนไหนจะโดนเล่นงานด้วยเรื่องอะไรกันบ้าง เพราะเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก ซึ่งโดยถึงที่สุดแล้วฝ่ายค้านจึงต้องแสดงหลักฐานชนิดจับให้มั่นคั้นให้ตาย มีใบเสร็จได้ยิ่งดี ถึงขนาดนั้นเชื่อว่ารัฐมนตรี แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากก็คงอยู่ลำบากถ้าดันทุรังแบบพวกมากลากไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ