คอลัมนิสต์

การย้ายไม่ใช่วิธีขจัดตำรวจเลว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การย้ายไม่ใช่วิธีขจัดตำรวจเลว โดย...  พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

 

          เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. หลังจากนั้นท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่า

 

 

          “เป็นการประชุมเรื่องการบริหารกิจการภายในของตำรวจ ทั้งเรื่องการลงโทษและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรวมทั้งผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งมีการพิจารณาลงโทษไล่ออกปลดออกกันเยอะแยะไปหมด คนไม่ดีก็ต้องขจัดออกไป  ต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน”


          ได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิรูปตำรวจไปด้วย จะได้ชี้แจงทำความเข้าใจกันว่าเราทำอะไรไปบ้างและเกิดประโยชน์อย่างไร หลายอย่างต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา และก็ต้องรับฟังความคิดเห็นทั้งสองทาง ทั้งจากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจและเอากฎหมายมาดูด้วย มีทั้งองค์กร บุคลากร และเครื่องมือเครื่องไม้


          ที่สำคัญต้องดูว่าที่ทำมาได้อะไรมาแล้วบ้างที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ และเจ้าหน้าที่จะทำงานฝ่ายเดียวไม่ได้ เราต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน อยากฝากว่าวันนี้ ประเทศชาติต้องการความรัก ความสามัคคี”
  

          ประชาชนฟังแล้ว “แสนเหนื่อยใจ” กับคำพูดของท่านเกี่ยวกับ การแก้ปัญหาตำรวจและการปฏิรูป ที่ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งความหวังไว้ มานานกว่าห้าปี


          คือนับแต่วันที่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงปัจจุบัน


          ขอเรียนว่าในการตรวจสอบควบคุมการทำงานของตำรวจ รวมทั้งการปฏิรูป เพื่อขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบของตำรวจผู้ใหญ่มิให้มีพฤติกรรม “รับส่วยสินบน”  ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีแหล่งอบายมุขทั้งตู้ม้า บ่อนการพนัน และสถานบันเทิงเถื่อน หรือเปิดเกินเวลา 01.00 น.
  

          ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของอุบัติเหตุจราจรและปัญหาอาชญากรรม “ทำลายเด็กและเยาวชน” จนบ้านเมืองไร้ความปลอดภัยอย่างร้ายแรงอยู่ขณะนี้! 


          รวมทั้งกรณีตำรวจผู้น้อยใช้อำนาจโดยมิชอบ “ตามคำสั่งของตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่รู้กฎหมาย”  ในการนำสิ่งของต่างๆ มาขวางถนน ตั้งด่านขอตรวจค้นประชาชนผู้สัญจรไปมา หรือ ยัดข้อหา จับกุมส่งพนักงานสอบสวน




          หรือแม้กระทั่ง “การไม่ยอมรับคำร้องทุกข์จากประชาชนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมายส่งให้อัยการสั่งคดี”


          เป็นการกระทำเพื่อ “ลดสถิติอาชญากรรม”  ที่สร้างความเดือดร้อนและ
 

          “ความอยุติธรรม” ให้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างแสนสาหัสในปัจจุบันนั้น


          การประชุม ก.ตร.แต่ละครั้ง ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่สำคัญและร้ายแรงเหล่านี้ให้ประชาชนอย่างแท้จริงเลย!


          เพราะประเด็นที่ถูกกำหนดไว้ในวาระการประชุม “โดยตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบ” นอกจากส่วนมากถ้าไม่ใช่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ “ตำรวจผู้มีส่วนได้เสียและสื่อบางกลุ่ม” จะให้ความสนใจกัน อย่างจดจ่อ ปีละครั้งหรือสองครั้งแล้ว ในแต่ละเดือนก็ล้วนมีแต่เรื่อง “ขี้หมูราขี้หมาแห้ง”


          เช่น เสนอให้เห็นชอบการลงโทษทางวินัย วินิจฉัยคำอุทธรณ์ หรือร้องทุกข์ของตำรวจเรื่องที่ถูกผู้บังบัญชากลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้าย หรือลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งมีอยู่มากมาย


          เป็นเรื่องการบริหารงานภายในองค์กรตำรวจที่ประชาชนไม่ได้สนใจหรือมีใครอยากรู้เลยว่าตำรวจคนใดร้องทุกข์หรืออุทธรณ์เรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยในกรณีใดบ้าง และผลการพิจารณาของก.ตร.ที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานอยู่ เห็นอย่างไร?


          ซ้ำผลการวินิจฉัยส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามที่ตำรวจผู้รับผิดชอบเสนอแทบทั้งสิ้น!
  

          ที่สำคัญก็คือทำให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น “ผู้นำฝ่ายบริหารสูงสุดของประเทศ” ต้องเสียเวลาไปกับการนั่งรับฟังและรับรู้การพิจารณาเรื่องเหล่านี้หลายชั่วโมงในแต่ละครั้งโดยไม่จำเป็น


          เป็น “วิธีหนึ่ง” ที่ทำให้ท่านมึนงง  ไม่มีสมองและเวลาในการพิจารณาเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญและร้ายแรงต่างๆ อีกมากมาย!


          นอกจากนั้นการที่ท่านบอกว่า “คนไม่ดีก็ต้องขจัดออกไป”


          ก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าท่านหมายถึงอะไร? เป็นการขจัดตำรวจประเภทใด? ด้วยวิธีใด?


          เพราะถ้าท่านหมายถึงตำรวจที่กระทำความผิดทางวินัยและผู้บังคับบัญชาได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนลงโทษไล่ออกปลดออกไปในกรณีต่างๆ ที่ท่านมีส่วนพิจารณา ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งในหนึ่งปีอาจมีรวมกันหลายร้อยคน


          ขอเรียนว่า ในบรรดาตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขาดราชการเกินกว่า 15 วัน หรือมีการกระทำผิดอาญาถูกดำเนินคดีจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแล้วแทบทั้งสิ้น


          เป็นกรณีที่ตำรวจผู้บังคับบัญชาไม่ว่าระดับใดไม่สามารถ “ยื้อ” หรือ “ซื้อเวลา” ในการพิจารณาลงโทษวินัยร้ายแรงไล่ออกปลดออกได้อีกต่อไป


          ส่วนการกระทำอาญาและวินัยร้ายแรงที่สำคัญของตำรวจผู้ใหญ่ในการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่


          มีพฤติกรรม “รับส่วยสินบน” จากผู้กระทำผิดกฎหมายหรือผู้ใต้บังคับบัญชา


          ซึ่งแต่ละหน่วยหรือสถานี “มีหน้าที่” เก็บรวมมาจากแหล่งอบายมุขทั้งบ่อนการพนัน ตู้ม้า สถานบันเทิงเถื่อน หรือเปิดเกินเวลา 01.00 น. และการกระทำผิดกฎหมายอาญาและจราจรอีกสารพัด


          ท่านจะไม่ได้เห็นการลงโทษทางวินัยไล่ออกปลดออกหรือแม้แต่ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือนตำรวจที่มีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบเหล่านี้เลย แม้แต่คนเดียว!


          แม้กระทั่ง หัวหน้าสถานีและรองผู้รับผิดชอบหลายสิบแห่งรวมหลายร้อยคน ที่ถูก ผบ.ตร. ผู้บัญชาการหรือผู้บังคับการสั่ง “เด้ง” ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. ระดับต่างๆ หลังทหารหรือฝ่ายปกครองได้ไปจับบ่อนการพนัน หรือสถานบันเทิงผิดกฎหมายในพื้นที่


          ก็ไม่มีใครปรากฏในรายชื่อว่าเป็นผู้ถูกสั่งลงโทษไล่ออกปลดออก หรือแม้กระทั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อหาผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงด้วยการ “กักยาม” หรือ “กักขัง” เช่นที่กระทำกับตำรวจที่ถูกเรียกว่าเป็น “ชั้นประทวน” เช่นกัน


          สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าใจกันว่า “การสั่งเด้ง” ตำรวจ คือให้พ้นจากตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวหรืออาจตลอดไปให้ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก. หรือศูนย์ปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็น บก. บช. ตร.


          เป็นการลงโทษที่เหมาะสมกับความผิดเนื่องจากมีพฤติกรรมทุจริตรับส่วยสินบนจากแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายทำให้ประชาชนและสังคมได้รับความเสียหาย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนจนฝ่ายปกครองหรือทหารต้องไปทำหน้าที่แทน


          แต่แท้จริงแล้วตำรวจผู้ใหญ่ผู้มี “พฤติกรรมที่สังคมรังเกียจ” เช่นนี้
  

          ไม่เคยมีใครถูกขจัดออกจากวงการตำรวจแม้แต่คนเดียว?


          ทุกคนล้วนรับราชการกันอย่างสุขสบาย


          หลายคนมีฐานะ “ร่ำรวยเป็นเศรษฐี” และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วกว่าตำรวจที่สุจริตอยู่ในครรลองคลองธรรมชนิดเทียบกันไม่เห็นฝุ่น


          ซ้ำสื่อยังเรียกว่าเป็น “ตำรวจยอดนักสืบ” “มือปราบ” หรือ “มือสอบสวน”  อีกด้วย!

 


 

 

 

 

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ