คอลัมนิสต์

เร่งรับมือปัจจัยเสี่ยง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เร่งรับมือปัจจัยเสี่ยง บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563

 

 


          แม้ผลกระทบของสงครามทางการค้าจีน-สหรัฐจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประเมินโดยรวมยังคงชะลอตัวจากปัจจัยใหม่ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน และการขยายวงของวิกฤติการณ์สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลายประเทศจึงต้องปรับตัวกับปัญหาที่รุมเร้าเหล่านี้ ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังแถลงประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ปี 2563 ลงจากเดิมคาดเติบโต 3.3% เหลือเติบโตที่ 2.8% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเหลือ 1% จากเดิมคาดโต 2.6% ขณะที่การบริโภคเอกชนลดจาก 3.5% เหลือ 3.2% ด้านการนำเข้าในปีนี้จะขยายตัว 1.7% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.8% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.7% โดยการปรับตัวเลขครั้งนี้ถือเป็นการปรับสะท้อนตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่แท้จริง

 

 

          แต่กลับมีปัจจัยใหม่ซึ่งมีแนวโน้มทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจปี 63 ยิ่งดิ่งต่ำลง โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าที่แพร่ไปทั่วโลกในขณะนี้ และมีการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะยาวต่อเนื่องไปถึง 3 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลงไป 2 ล้านคน หรือเฉลี่ย 8 แสนคนต่อเดือน ยอดใช้เงิน 50,000 บาทต่อคน กระทบถึงรายได้จากการท่องเที่ยวเม็ดเงินสูงถึง 1 แสนล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งรัฐบาลเร่งศึกษาหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศรวมถึงนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ มาทดแทน นอกจากนี้ยังมีปมปัญหาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้เงินแม้รัฐบาลจะสามารถนำงบประมาณของปี 2562 มาใช้ไปพลางๆ ก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่บูมการลงทุนใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้


          กระทรวงการคลังคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เมื่อกฎหมายงบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้​ภายใน​ไตรมาสแรกของปีนี้ คงจะสามารถผลักดันงบลงทุนของรัฐบาลได้ประมาณ ​1​ แสนล้านบาท​ เนื่องจากส่วนราชการได้เตรียมเอกสารและขั้นตอนการประมูลไว้ล่วงหน้า และเมื่อกฎหมายงบประมาณมีผลบังคับใช้ก็สามารถเปิดประมูลได้ทันที แต่เมื่อยังไม่สามารถนำงบประมาณปี 2563 มาใช้ได้ ส่วนราชการเองก็ไม่สามารถลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ และหากกฎหมายงบประมาณปี 2563 ยังล่าช้าออกไปอีกก็จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน​ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็คงกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศโดยรวม เพราะงบประมาณตอนนี้ก็ถือว่าล่าช้าอยู่แล้ว ถ้าเลื่อนออกไปอีกก็จะยิ่งช้ากว่าเดิม ดังนั้นรัฐบาลต้องทำให้ล่าช้าน้อยที่สุด ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ไม่มีเงินมาหมุนเวียนในระบบ




          นอกเหนือจาก 2 ปัญหาใหญ่ทั้งเรื่องงบประมาณปี 2563 ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากจีนสู่ประเทศต่างๆ ขณะนี้ ยังมีปัจจัยลบอีกหลายเรื่อง อย่างเช่น ภัยแล้ง หนี้สินครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ และความระมัดระวังในการปล่อยกู้ของธนาคาร เนื่องจากในช่วงหลังเอ็นพีแอลมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน รัฐบาลจะต้องงัดกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวเสริมความเข้มแข็งรองรับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถและความพยายามในการประคับประคองภาพรวมของเศรษฐกิจไทยไม่ให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิมด้วยปัจจัยภาครัฐที่อยู่ในภาวะจำกัดจำเขี่ยแบบนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ