คอลัมนิสต์

แค่'เผื่อไว้'..ค่าเดินทางผู้ตรวจการแผ่นดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงวิจารณ์ให้คู่สมรสผู้ตรวจการฯเบิกค่าเดินทางไปต่างประเทศได้ด้วยทั้งที่ไม่ใช่ จนท.รัฐ ดังขึ้น ในขณะที่ฝั่งผู้ตรวจการ มีมุมมองว่า'เผื่อไว้'กรณีคู่สมรสผู้ตรวจการฯ ต้องปฏิบัติภารกิจต่างประเทศด้วย

             ระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2563 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับคู่สมรส ได้เฉพาะกรณีที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่สมรส ให้เบิกได้ในอัตราเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเซียล

          แม้แต่นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกรณี ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับคู่สมรสได้ เฉพาะกรณีที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากผู้ตรวจการแผ่นดินโดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคู่สมรส ให้เบิกได้ในอัตราเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินเนื่องจากคู่สมรสไม่ใช่ราชการ ทำไมเอาภาษีไปใช้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ควรทำให้เป็นตัวอย่างกับส่วนราชการอื่น

       นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นในทำนองไม่เห็นด้วยกับการออกระเบียบดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งท้วงติงว่า การกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอนุมัติและตรวจสอบกันเอง อาจเทียบเคียงกับกรณีอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อนุมัติขึ้นเงินเดือนตนเองซึ่งเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง

        และเมื่อตรวจสอบในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเดินทางไปราชการต่างประเทศจะพบว่า ข้าราชการพลเรือนไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศให้กับคู่สมรสหรือบุคคลในครอบครัวได้ ในกรณีที่ผู้เดินทางไปราชการนําบุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพักรวมอยู่ด้วย ให้ผู้เดินทางไปราชการรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นจากสิทธิที่พึงจะได้รับจากทางราชการเอง

      นั่นเพราะงบประมาณแผ่นดินจะจ่ายให้กับคนที่ทำงานให้รัฐเท่านั้น การเดินทางไปราชการของข้าราชการไทย ส่วนใหญ่ทำเพื่อวัตถุประสงค์ 2 เรื่อง คือ ไปร่วมประชุมกับศึกษาดูงาน เมื่อสามีไปราชการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ภรรยาไปราชการด้วยหรือไม่ มีภารกิจเข้าร่วมประชุมหรือศึกษาดูงานด้านใด แม้แต่การเดินทางไปราชการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี จะมีคู่สมรสติดตามไปด้วยก็เฉพาะการเดินทางไปเยือนอย่างเป็นทางการ หรือมีภารกิจที่คู่สมรสต้องไปปฏิบัติ หากเป็นการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับคู่สมรส ภริยานายกฯก็ไม่ถือเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ เบิกค่าเดินทางไม่ได้

      อย่างไรก็ตาม คาดว่า ระเบียบของผู้ตรวจการแผ่นดินฯ กรณีเบิกค่าเดินทางไปราชการต่างประเทศ อาจเทียบเคียงกับการไปปฏิบัติราชการของนักการทูต ซึ่งคู่สมรสต้องติดตามไปปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายใน หรืองานในความรับผิดชอบของกลุ่มภริยาทูต ระเบียบกระทรวงการคลังจึงอนุญาตให้ผู้เดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางสําหรับคู่สมรสได้

      ขณะที่รายงานข่าวจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ระเบียบของผู้ตรวจการแผ่นดินล้อมาจากระเบียบของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งริเริ่มมาก่อนหน้านี้แล้ว ในมุมมองว่า ตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ประเทศคู่ภาคีเชิญประธานผู้ตรวจการแผ่นดินไปปฏิบัติภารกิจพร้อมคู่สมรส จึงจำเป็นต้องให้คู่สมรสร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อปฏิบัติงานในด้านสังคม ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 คน จะเป็นผู้อนุมัติกรณีมีภารกิจต้องนำคู่สมรสเดินทางไปราชการต่างประเทศด้วย ระเบียบที่มีผลบังคับใช้เป็นการวางกรอบในลักษณะเดียวกับกรรมการการเลือกตั้งและ สตง.

      โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้ปรับปรุงข้อระเบียบใหม่ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะอนุมัติกันแบบ"ออโตเมติก"ให้ใครเดินทางไปไหนก็ได้ การเดินทางไปปฎิบัติหน้าที่ในต่างประเทศจะต้องมีงานไม่ใช่เดินทางในฐานะผู้ร่วมคณะ ทั้งนี้คำว่า “คู่สมรส” จะอนุญาตเฉพาะกรณีประเทศคู่ภาคีเชิญคู่สมรสของผู้ตรวจการแผ่นดินไปร่วมปฎิบัติหน้าที่เท่านั้น ระเบียบที่ออกมา เป็นการกำหนดเผื่อเอาไว้ ไม่ได้ใช้บังคับในทุกกรณี

       สำหรับระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยมีสาระสำคัญกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางภายในประเทศ แบ่งเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง เหมาจ่ายวันละ 800 บาท ส่วนค่าเช่าที่พัก ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นและเหมาะสม ขณะที่ค่าพาหนะ รวมถึงค่าเช่ายานพาหนะ ค่าเชื้อเพลิงหรือพลังงานสำหรับยานพาหนะ ค่าระวางบรรทุก ค่าจ้างคนหาบหาม และอื่น ๆ ทำนองเดียวกัน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในกรณี ใช้พาหนะส่วนตัวในการเดินทาง ให้เบิกเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในลักษณะเหมาจ่าย ในอัตรากิโลเมตรละ 5 บาท

        ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางต่างประเทศ กำหนดให้ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง เหมาจ่ายวันละ 3,100 บาท หรือให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามหลักฐานการจ่ายเงินและไม่เกินวันละ 4,500 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าเครื่องแต่งตัว ให้เบิกในลักษณะเหมาจ่ายครั้งละ 9,000 บาท ต่อเมื่อการเดินทางครั้งใหม่มีระยะห่างจากการเดินทางครั้งสุดท้ายที่ได้รับค่าเครื่องแต่งตัวเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่เดินทางออกจากประเทศไทย และต้องมิใช่การเดินทางไปประเทศตามรายชื่อที่ทางการกำหนดไว้ว่าไม่สามารถเบิกค่าเครื่องแต่งตัวได้

    อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ผู้ตรวจการ คู่สมรส ดูงานตปท.เบิกวันละ 4,500 ค่าแต่งตัว 9 พัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ