คอลัมนิสต์

เส้นทางคดีร้อน งบ 3.2 ล้านล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเส้นทางวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดร่างงบปี 63 ตราขึ้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ คอลัมน์... Special Report

 

 

          เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.รัฐบาล เข้าชื่อผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ สืบเนื่องจากมี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน

 

 

          พร้อมแจ้งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ยื่นคำชี้แจงต่อศาล ภายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเฉพาะรายของ “ฉลอง” น่าสนใจว่าจะมีคำชี้แจงออกมาอย่างไร ภายหลัง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดประเด็นและปรากฏความผิดอย่างชัดเจน


          สำหรับการ “รับคำร้อง” ของศาลครั้งนี้ เป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 “เนชั่นสุดสัปดาห์” พาไปตรวจสอบกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจากนี้จะเป็นอย่างไร


          เริ่มที่ข้อเท็จจริงตามคำร้องที่ส่งมาถึงศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรมีทั้งหมด 3 สำนวนด้วยกัน ตั้งแต่คำร้องของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” และ ส.ส.รวม 109 คน แต่มีประเด็นพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันกับคำร้องของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” และ ส.ส.รวม 84 คน ศาลจึงสั่งให้ไปรวมคำร้องพิจารณาทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน ส่วนคำร้องของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” พร้อม ส.ส.อีก 77 คน พบว่า มีรายชื่อ 30 ส.ส. ลงชื่อซ้ำกับในคำร้องของ “สมพงษ์” ทำให้ยอด ส.ส.ไม่ถึง 1 ใน 10 ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ของรัฐธรรมนูญ คำร้อง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์จึงตกไป


          จากนั้นเมื่อศาลรับคำร้องแล้ว ภายในระยะเวลา 15 วัน หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ศาลจะเปิดให้ “ผู้ถูกร้อง” และผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือ ซึ่งในกรณีนี้กำหนดไว้ไม่เกินวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาคดี โดยมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ของกฎหมายฉบับนี้ ระบุไว้ว่า หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐาน “เพียงพอ” จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลจะประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย โดย “ไม่ทำการไต่สวน” หรือ “ยุติการไต่สวน”




          ในขั้นตอน “ไม่ทำการไต่สวน-ยุติการไต่สวน” องค์คณะตุลาการจะประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัย โดยตุลาการทุกคนต้องทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อนลงมติ โดยในขั้นตอนนี้ องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนหนึ่งคนใด เป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาล ขณะเดียวกันในคดีนั้นมี “ผู้ถูกร้อง” ศาลจะแจ้งให้มาฟังคำวินิจฉัย จนเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยของคดีแล้ว งานธุรการศาลจะประกาศคำวินิจฉัยส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป


          แต่หากเป็นขั้นตอน “ศาลไต่สวน” ศาลจะกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก พร้อมส่งสําเนาประกาศให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันนัด โดยระหว่างนี้คู่กรณี “ผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง” มีสิทธินำเสนอพยานหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมประกอบการไต่สวนได้ แต่ต้องยื่นก่อนวันที่ศาลกำหนดจะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 วัน ขณะเดียวกันตามมาตรา 61 ยังเปิดให้อำนาจศาลสามารถ “ตรวจพยานหลักฐาน” คู่กรณีที่เสนอมาได้ ก่อนที่ศาลจะออกนั่งพิจารณาและ “ไต่สวนพยาน”


          ขั้นตอนสำคัญของระยะเวลาพิจารณาคดีจะเป็นอย่างไร อยู่ที่อำนาจองค์คณะตุลาการจะเห็นว่าควรไต่สวน “เพิ่มเติม” หรือไม่ หรือกำหนดวันไต่สวนนัดอีกเมื่อใด ซึ่งอยู่ในขั้นตอนไต่สวนตามที่มาตรา 61 กำหนดไว้อีกครั้ง แต่ที่สุดแล้วหากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐาน “เพียงพอ” วินิจฉัยคดี จะมีคำสั่ง “ยุติการไต่สวน” ตามอำนาจในมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เพื่อให้ตุลาการประชุมเพื่อพิจารณาคำวินิจฉัย


          สำหรับขั้นตอนนี้จะเป็นเช่นเดียวกับขั้นตอน “ไม่ทำการไต่สวน-ยุติการไต่สวน” โดยองค์คณะตุลาการทุกคน ต้องทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม ก่อนประชุมลงมติ และแจ้ง “ผู้ถูกร้อง” มาฟังคำวินิจฉัย ซึ่งผลคำวินิจฉัยของคดีตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 กำหนดไว้ต่อผลตัดสินใน 2 แนวทาง


          1.ให้มีผลในวันอ่าน ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง หรือ 2.ให้มีผลในวันที่ศาลลงมติ ซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่านตามมาตรา 76 วรรคสาม โดยทั้ง 2 แนวทางเมื่อได้คำวินิจฉัยแล้วจะประกาศคำวินิจฉัยของศาล ส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป


          สำหรับประเด็นประกอบคำร้อง ส.ส.รวม 109 คน ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.กระบวนการร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนน ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 120 หรือไม่ 2.หากมีปัญหา จะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา และ 3.จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร


          ถึงแม้กรอบเวลาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 แต่ประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจของทุกฝ่ายถึงความเป็นไปต่อ “งบปี 63” ที่แขวนไว้บนปากเหวจะเป็น “โมฆะ” หรือไม่.
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ