คอลัมนิสต์

ทางด่วนจะขึ้นราคา ฟ้องขอระงับการปรับขึ้น ได้หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟ้องขอระงับการปรับขึ้นราคาทางด่วน...ทำได้หรือไม่  โดย นายปกครอง

          สภาพปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล... เป็นเรื่องที่ผู้ขับขี่ประสบปัญหากันมาตลอด เนื่องด้วยปริมาณการใช้รถที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาชั่วโมงที่เร่งด่วน... เพื่อความรวดเร็วและหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดดังกล่าว หลายท่านก็อาจเลือกใช้บริการ "ทางด่วน" 
        “ทางด่วน” เป็นถนนที่เก็บค่าผ่านทาง โดยมีการควบคุมจุดเข้า-ออกของรถยนต์ โดยแบ่งออกเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่กำกับดูแลโดยกรมทางหลวง และทางพิเศษที่กำกับดูแลโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ปัจจุบันทางด่วนที่เปิดใช้งานมีทั้งหมด ๑๐ เส้นทาง เป็นทางพิเศษ ๗ เส้นทาง ทางหลวงพิเศษ ๒ เส้นทาง

        นอกจากนี้ยังมีทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งเป็นทางหลวงที่มีลักษณะเป็นทางด่วน โดยบางช่วงเป็นทางหลวงแผ่นดิน บางช่วงเป็นทางหลวงสัมปทาน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง และ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) อีก ๑ เส้นทาง ครับ
       เรื่องน่ารู้วันนี้... กับคดีปกครอง มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง... ทางด่วนจะขึ้นราคาอัตราค่าผ่านทาง ผู้ใช้บริการไม่เห็นด้วย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยระหว่างการพิจารณาคดี 
      ผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยขอให้สั่งระงับการปรับขึ้นราคาทางด่วนไว้ก่อน... จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินในคดี
       คดีนี้... เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา ทำให้ปัจจุบันทางด่วนที่พิพาทได้ปรับขึ้นราคาค่าผ่านทางแล้ว  วันนี้... นายปกครองจึงขอนำหลักเกณฑ์การพิจารณาและเหตุผลของศาล ในการที่ไม่สั่งระงับการขึ้นราคาทางด่วนตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ มาฝากกันครับ...
       โดย... ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๑ ราย ได้ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) อธิบดีกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓) คณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔) กรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕) และกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖) กรณีได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าบริการใช้ทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง – ดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน ทั้งขาเข้าและขาออกกรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๑ ราย เห็นว่า เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนมากเกินสมควร 
      ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด ผู้ฟ้องคดีได้มีคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยอ้างว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ ได้ประกาศว่าในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๐.๐๑ นาฬิกา อัตราค่าผ่านทางที่คู่สัญญาสัมปทานกำหนดตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๐ สำหรับรอบระยะเวลา ๕ ปี ระหว่างวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๗ ช่วงดินแดง – ดอนเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลง ๑๐ บาท (ค่าเฉลี่ย ๒ บาทต่อปี) และช่วงดอนเมืองอนุสรณ์สถาน จะมีการเปลี่ยนแปลง ๕ บาท (ค่าเฉลี่ย ๑ บาทต่อปี) จากอัตราค่าผ่านทางในปัจจุบัน

       ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและบรรเทาความเสียหายของภาครัฐ ผู้ฟ้องคดี และประชาชนที่ใช้ทางยกระดับดังกล่าว และป้องกันความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา จนกว่าคดีจะถึงที่สุด 
        ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัย สรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาถึงความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้ใช้ทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง – ดอนเมือง – อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระอัตราค่าผ่านทางด่วนเพิ่มขึ้นแล้ว เห็นว่า ทางยกระดับอุตราภิมุขเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจริง แต่ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้หรือยากแก่การการเยียวยาแก้ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินสายวิภาวดีรังสิตและพหลโยธินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้สัญจรไปมาได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่นที่ไม่ต้องชำระค่าบริการค่าผ่านทาง

     อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการระบบขนส่งมวลชนในเส้นทางใกล้เคียงและที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกันเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการเดินทางได้ 
     ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยขอให้ระงับการเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้น จนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้ได้ ตามมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๗๕ และ ข้อ ๗๗ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบกับมาตรา ๒๕๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. ๑๑๘๗ - ๑๑๘๘/๒๕๕๘) 
       สรุปได้ว่า... กรณีที่ศาลปกครองจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ศาลจะต้องพิจารณาจนให้เป็นที่พอใจว่า คำฟ้องมีมูลหรือไม่ ? มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำมาตรการตามที่ขอนั้นมาใช้หรือไม่ ? รวมทั้ง ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย ซึ่งกรณีที่พิพาทศาลปกครองได้วินิจฉัยแล้วว่า ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้ เพราะประชาชนยังมีทางเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ๆ ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการค่าผ่านทางได้ นั่นเองครับ !!

 อ่านบทความนายปกครองเรื่องอื่นๆ : ไม่ปรับปรุงถนนซอยตัน ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ละเลยหน้าที่หรือไม่

 

                        
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ