คอลัมนิสต์

มรสุมทางการเมืองของลุงตู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มรสุมทางการเมืองของลุงตู่ โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 


          เร็วๆ นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะมีรัฐมนตรีคนใดโดนแจ็กพอตบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ว่าจะอภิปรายใครก็ตาม จะต้องอภิปรายโยงไปถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งมวล

อ่านข่าว-ฝ่ายค้านต้องการอย่างน้อย 3 วันซักฟอก รมต.รัฐบาลบิ๊กตู่

 

 

          ถึงแม้ว่าการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล จะไม่ใช่มรสุมลูกใหญ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีความกังวลมาก เนื่องจากเชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบโต้ฝ่ายค้านได้ทุกประเด็น และในที่สุด ตามวัฒนธรรมการเมืองไทยในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็จะโหวตไว้วางใจอยู่ดี (ทั้งๆ ที่ ส.ส.บางคนอาจไม่สนใจฟังประเด็นการอภิปรายเลยก็ได้) แต่มรสุมทางการเมืองอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรือก่อตัวขึ้น กำลังทำให้รัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์สั่นไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นปัญหาของประเทศที่แก้ไม่ตกและจะทำให้คะแนนนิยมทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลเกิดปัญหาขึ้นได้


          มรสุมลูกแรกก่อตัวมามากกว่าหนึ่งเดือนแล้ว เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในชนบท และอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ในกลุ่มคนรากหญ้า เกษตรกร ปัญหานี้คือภัยแล้ง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (ณ 16 ม.ค. 2563) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 20 จังหวัด รวม 98 อำเภอ 541 ตำบล 4,600 หมู่บ้าน/ชุมชน ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.2563) จะส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.10-0.11 ของจีดีพี ปัญหานี้หากรัฐบาลไม่รีบขยับหาทางแก้ไข  คะแนนนิยมทางการเมืองจากคนกลุ่มนี้จะเริ่มหายไป แม้ว่าจะยังคงแจกเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไปก็ตาม (การเห็นข้าวแห้งตายคานากับเงิน 500 บาทเทียบกันไม่ได้นะครับ โดยเฉพาะในเชิงจิตใจ)


          มรสุมลูกที่สองคือปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 ในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งนิด้าโพลล่าสุดเมื่อ 19 มกราคม 2563 ได้สำรวจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง พบว่า ร้อยละ 40.84 ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และร้อยละ 36.22 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย  เพราะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังแก้ไขได้ไม่ตรงจุด ทำงานไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการตื่นตัว ไม่มีการเเก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมและไม่มีความชัดเจน (กรมควบคุมมลพิษได้ยินชัดแล้วใช่ไหมครับ) คำวิจารณ์เหล่านี้ค่อนข้างสะท้อนความเป็นจริงในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 ของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลได้เรียนรู้มาแล้วจากปีก่อนถึงปัญหานี้และรู้ว่าในช่วงต้นปีปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 จะกลับมาแน่ แต่ก็ไม่ได้มีการขยับตัวหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง (สงสัยจะรอขงเบ้งเรียกลมเรียกฝนเพื่อแก้ปัญหา)  การจับรถควันดำ การจำกัดเวลาการเข้าเมืองของรถบรรทุก การขยันตรวจโรงงาน ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง เมื่อสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 เริ่มคลี่คลายก็อาจจะมีการปล่อยปละละเลยในปัญหาต่อไป อย่าลืมว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ในกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองใหญ่นั้นไม่ค่อยดีอยู่แล้ว และหากปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5 ยิ่งอยู่นานเท่าไรก็กระทบกับคะแนนนิยมมากขึ้นเท่านั้น และระวังจะลามไปถึงกลุ่มฐานคะแนนหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นคือกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี เพราะกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวในเรื่องสุขภาพอนามัย หากมีผลกระทบมากๆ อาจมีงอนใส่นายกฯ ประยุทธ์ ก็เป็นได้

 



          ปัญหาการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้แย่ลงจากการระบาดของของเชื้อไวรัสโคโรน่าจากประเทศจีน เป็นมรสุมลูกที่สามที่กำลังโหมอย่างแรงสู่ประเทศไทย การระบาดของของเชื้อไวรัสโคโรน่าทำให้ทางการจีนสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศ และแน่นอนจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เป็นความหวังเดียวในการต่อท่อลมหายใจทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในขณะนี้ นอกจากนักท่องเที่ยวจากจีนจะลดลงแล้ว นักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ ที่ตื่นตระหนกจากปัญหานี้ก็จะไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว ในส่วนของประเทศไทยเอง คนไทยจำนวนหนึ่งก็ไม่ค่อยกล้าเดินทางหรือออกไปจับจ่ายซื้อของตามห้าง ตามตลาดนัดเนื่องจากกังวลในการระบาดของของเชื้อไวรัสโคโรน่า ในขณะที่ข่าวลือและเฟคนิวส์เกี่ยวกับการระบาดของของเชื้อไวรัสโคโรน่า ก็มีมากมายและแพร่อย่างรวดเร็วตามโซเชียลมีเดีย เนื่องจากคนไทยจำนวนหนึ่งไม่คิดวิเคราะห์ข่าวสารก่อนที่จะเชื่อและแชร์ (สังคมกระต่ายตื่นตูมก็เป็นแบบนี้แหละ)


          มรสุมลูกที่สี่เป็นมรสุมทางการเมืองจากฝ่ายค้านขาประจำที่เดินสายทั่วประเทศปลุกคนให้ต่อต้านรัฐบาลด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดเสวนาทางการเมืองหรือปัญหาของประเทศในสถานที่ต่างๆ ซึ่งที่แท้จริงคือเดินสายด่ารัฐบาล การจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่พรรคอนาคตใหม่บอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยแต่แกนนำพรรคไปโผล่ในเกือบทุกงาน การรณรงค์เลิกเกณฑ์ทหารกับกลุ่มเยาวชนตามสถานศึกษาและแหล่งท่องเที่ยวของวัยรุ่น การปล่อยเฟคนิวส์ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาแก้ข่าวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วภาครัฐแก้ข่าวไม่ค่อยทัน ทำให้ติ่งนายกฯ ประยุทธ์ รู้สึกว่าทั้งกระทรวงดิจิทัลฯ และทีมโฆษกรัฐบาลไม่ทันเกมการเมืองเหล่านี้


          มรสุมทางการเมืองลูกล่าสุดที่กำลังส่งผลต่อรัฐบาลอย่างมากคือการเสียบบัตรแทนกันในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ของ ส.ส.ที่ไร้จิตสำนึกในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีเกิดปัญหาการเสียบบัตรแทนกันและหากมีมติให้การโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 เป็นโมฆะ จะทำให้การใช้งบประมาณของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าลง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐต้องสะดุดลง ในประเด็นนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ (รวมถึงรับผิดชอบในความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย) ซึ่งไม่ควรเป็นแค่ ส.ส.ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรแทนกันเท่านั้น แต่หัวหน้าพรรคต้นสังกัดของ ส.ส.กลุ่มนี้ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมด้วย (ร้องเพลงนี้กันได้ไหมครับท่าน...อย่างนี้ต้องลาออก...)


          มรสุมทางการเมืองทั้งหมดที่กำลังโหมเข้าถล่ม พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงภาวะผู้นำออกมาให้สาธารณะได้เห็นด้วยการตอบโต้และจัดการกับปัญหาอย่างเร่งด่วนด้วยตนเอง ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำเอาบทบาทมาดเข้มสมัยเป็นผู้บัญชาการทหารบกกลับมาใช้เพื่อเสริมภาพความเป็นผู้นำประเทศที่มีความเด็ดเดี่ยว มีความมั่นใจในการตัดสินใจทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีควรหยุดพูดในทำนองเรียกร้องความเห็นใจจากประชาชน เช่น “เธอไม่สงสารฉันบ้างหรือ” แต่ต้องแสดงออกอย่างผู้นำประเทศที่เข้มแข็งว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาหรือมรสุมทางการเมืองเหล่านี้ได้


          แต่สิ่งแรกที่นายกฯ ประยุทธ์ต้องทำคือยกเครื่องทีมโฆษกรัฐบาล เพิ่มกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์เพื่อตอบโต้การถูกโจมตีในปัญหาต่างๆ ทีมโฆษกรัฐบาลต้องทันเกมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต้องมีกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ที่ออกนอกกรอบระบบราชการ ต้องสามารถตอบโต้ทางการเมืองแทนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้ และต้องแสดงให้สาธารณะเห็นว่ารัฐบาลได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่างไร หากทำไม่เป็น ขอแนะนำว่าลองไปอ้อนวอนขอความรู้จาก รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ว่าควรทำอย่างไรจึงจะสู้เขาได้


          การมีทีมโฆษกรัฐบาล หน้าตาดี ความรู้สูง ชาติตระกูลดี นั่งโต๊ะแถลงข่าวด้วยรอยยิ้มที่สวยงาม อาจไม่ช่วยอะไร หากไม่มีทักษะในการตอบโต้ทางการเมืองและไม่สามารถทันต่อเกมการเมืองฝ่ายตรงข้าม


          สงสัยต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทีมโฆษกรัฐบาลก่อน...ไม่ได้ไล่นะ แค่พูดให้ลองคิดดู

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ