คอลัมนิสต์

ศึก สี่ก๊ก แก้รธน. ปชป.-ฝ่ายค้าน ผนึกกำลัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศึก สี่ก๊ก แก้รธน. ปชป.-ฝ่ายค้าน ผนึกกำลัง

 

 


          แม้ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี 'พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค' ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะยังไม่ปรากฏข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากนัก แต่ในมุมหนึ่งเกิดการชิงไหวชิงพริบกันภายในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้กันพอสมควร

 

 

          โดยจากการประชุมทั้งสี่ครั้งที่ผ่านมาทำให้พอเห็นได้ว่าภายในคณะกรรมาธิการวิสามัญมีด้วยกันสี่กลุ่มหรือสี่ก๊กด้วย


          ก๊กที่ 1 ‘พรรคพลังประชารัฐ’ นำโดย ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีบัญชีรายชื่อ และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เรียกได้ว่าการเข้ามาของไพบูลย์ถูกฝาถูกตัว ถูกที่ถูกเวลา และถูกใจนายใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ


          ด้านหนึ่งเป็นเพราะไพบูลย์ทำหน้าที่คอยเป็นองครักษ์พิทักษ์ ‘พีระพันธุ์’ ไม่ให้ต้องรับแรงปะทะจากฝ่ายตรงข้ามคนเดียว ดังจะเห็นได้จากทุกครั้งที่กรรมาธิการวิสามัญพยายามกดดันให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเร่งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญมีเพียง 120 วัน ปรากฏว่าไพบูลย์ ซึ่งนั่งอยู่ที่เก้าอี้ข้างขวาของพีระพันธุ์สามารถหาเหตุผลมาหักล้างเพื่อช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ทุกครั้ง


          โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ก็พยายามคุมประเด็นข้อเสนอให้จำกัดวงมากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีประเด็นใดเข้าไปพาดพิงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือกองทัพ หรือแม้แต่วุฒิสภา


          ที่ผ่านมาไพบูลย์พยายามจะโน้มน้าวว่าหากคณะกรรมาธิการวิสามัญมีข้อเสนอสุดโต่ง เช่น การเอาส.ว.ออกจากบทเฉพาะกาล ความเป็นไปได้ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตามมาถึงจุดนี้กรรมาธิการวิสามัญของพรรคพลังประชารัฐเองหลายคนก็ยอมรับที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ขอว่าอย่าไปยุ่งกับส.ว. หรือ คสช.เท่านั้น


          ก๊กที่ 2 ‘พรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย-พรรคเพื่อชาติ-พรรคอนาคตใหม่’ ไม่น่าเชื่อว่าสามพรรคจะสามารถมารวมกันเฉพาะกิจกันได้ โดยก๊กนี้มี ‘บัญญัติ บรรทัดฐาน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าก๊ก


          บทบาทของ ‘บัญญัติ’ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญโดดเด่นและได้รับการยอมรับจากฝ่ายค้านมากขึ้น อย่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยไม่ตัดส.ว.ออกจากสมการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ขอให้กลับไปใช้เสียงข้างมากพิเศษสามในห้าหรือสองในสามจากส.ส.และส.ว.รวมกัน โดยไม่ต้องไปกำหนดเสียงส.ว.เป็นการเฉพาะว่าต้องมีเสียงส.ว.หนึ่งในสามเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน




          ทั้งนี้ผู้อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์พยายามเสนอที่ประชุมด้วยการตัดเงื่อนไขของการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ออกไป ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญของฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็น ‘ชัยเกศม นิติสิริ’ ‘โภคิน พลกุล’ ‘ยงยุทธ ติยะไพรัช’ ต่างอภิปรายสนับสนุนแนวคิดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสามพรรคได้คุยกันนอกรอบมาก่อนแล้วว่าข้อเสนอของบัญญัติจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่ทั้งสามพรรคจะผลักดันไปให้ ส่วนเรื่องการตั้งส.ส.ร.ปล่อยให้เป็นเรื่องของกระแสกดดันจากนอกสภา


          ก๊กที่ 3 ‘พรรคภูมิใจไทย’ เรียกได้ว่าพยายามยืนอยู่ตรงกลางด้วยการมีข้อเสนอแบบ ‘แทงกั๊ก’ ทำนองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง ประหนึ่งต้องการให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยนั้นด้วยระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมทำให้พรรคภูมิใจไทยได้จำนวนส.ส.มากกว่า 50 คน ตรงนี้เองทำให้บทบาทการแสดงความคิดเห็นของกรรมาธิการวิสามัญจากพรรคภูมิใจไทยยังไม่ปรากฏออกมามากนัก


          ก๊กที่ 4 ‘อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ’ หากจะบอกว่าเข้ามานั่งเป็นผู้สังเกตการณ์ก็คงไม่ผิดนักเพราะทั้ง ‘อุดม รัฐอมฤต’ และ ‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ เข้ามาทำหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเท่านั้น เช่น การอภิปรายครั้งแรกของอาจารย์อุดมที่อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมต้องกำหนดเสียงของส.ว.เป็นการเฉพาะในเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้เกิดการใช้เสียงมากที่ทำให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขได้ง่ายเกินไป เป็นต้น


          แนวทางการทำงานในกรรมาธิการวิสามัญของอดีต กรธ.มีเพียงเท่านี้ ไม่ได้เข้ามาเพื่อจะแสดงความเห็นว่ามาตราควรแก้หรือไม่ควรแก้ไข แต่เป็นฝ่ายที่คอยกระตุกให้กรรมาธิการวิสามัญเดินสุดซอยมากกว่า


          ถึงที่สุดแล้วแม้จะแบ่งเป็น 4 ก๊ก แต่การเชือดเฉือนจะวนอยู่กันในเฉพาะสองก๊กแรกเท่านั้นและศึกนี้อาจจะเป็นศึกชี้ชะตาของรัฐบาลก็เป็นไปได้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ