คอลัมนิสต์

จับโกหกอย่างไร..ถ้ากินยาลดไข้ หลบด่านตรวจไวรัสโคโรน่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับ 29 ม.ค. 63 ... วิธี "จับโกหก" กินยาลดไข้ ...หลบด่านตรวจไวรัสโคโรน่า

 

 

          

                                 แม้ว่า “องค์การอนามัยโลก” ยังไม่ประกาศให้ “โรคปอดอักเสบรุนแรง” จากเชื้อ “ไวรัสโคโรน่า 2019” เป็นการระบาดขั้นสูงสุด แต่หลายประเทศได้งัดมาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการ “ผู้ป่วยขี้โกหก” ที่วางแผนหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ทั้งลงโทษปรับและคุมขัง...คำถามคือไทยมีวิธีจับโกหกอย่างไรและมีกฎหมายลงโทษหรือไม่ ?

 

  

อัพเดตไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น คร่าแล้ว 132 - ติดเชื้อเฉียด 6 พัน

 

                                 วินาทีนี้รัฐบาลทุกประเทศโดยเฉพาะในทวีปเอเชียได้งัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดระดับสูงสุดด้วยการ “จัดตั้งด่านคัดกรองตรวจคนเข้าเมือง” ตามสนามบิน รถไฟ หรือด่านผ่านพรมแดนตามแนวชายแดน ยิ่งไปกว่านั้นยังประกาศให้ผู้ที่ติดต่อสัมผัสใกล้ชิดกับ “คนจีน” แล้วมีอาการน่าสงสัยหรือเข้าข่ายอาการป่วยบริเวณระบบทางเดินหายใจ ได้แก่  “ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจหอบ เหนื่อยหมดแรง”  ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

 

                                 ปรากฎว่ามีผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อตัวนี้หลายคนกลัวถูกกักตัวไว้ในโรงพยาบาลหรืออดเดินทางท่องเที่ยว จึงหากลวิธีหลีกเลี่ยงด้วยการ กินยาลดไข้” เพื่อให้เครื่องตรวจจับอุณหภูมิ  เทอร์โมสแกน (Thermoscan) ที่ติดตั้งไว้คัดกรองผู้โดยสารตาม “ด่านควบคุมโรค” ของสนามบินหรือตามทางผ่านเข้าออกชายแดน ไม่สามารถตรวจวัดได้ เพราะอุณหภูมิลดลงหลังจากทานยาลดไข้

 

จับโกหกอย่างไร..ถ้ากินยาลดไข้ หลบด่านตรวจไวรัสโคโรน่า

 

 

          เช่นกรณีวันที่ 23 มกราคม 2563 สื่อมวลชนทั่วโลกลงข่าวหญิงชาวจีนจาก”อู่ฮั่น” แอบกินยาลดไข้ระหว่างเดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อหนีการคัดกรองไวรัสโคโรน่าในสนามบิน แล้วเขียนโชว์โอ้อวดในสื่อออนไลน์ ด้วยข้อความว่าหลังจากรู้สึกมีไข้และไอ ก็เลยรีบกินยาลดไข้ จากนั้นสามารถผ่านด่านคัดกรองไปทานดินเนอร์กับเพื่อนที่ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ของเมืองลียง หลังจากโพสต์โชว์ในสื่อโซเชียลมีเดียได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนที่กรุงปารีสได้จับกุมผู้หญิงรายนี้เพื่อนำไปตรวจสุขภาพร่างกาย และเฝ้าดูอาการหากมีเชื้อไวรัสโคโรน่าอาจต้องถูกลงโทษตามกฎหมายฝรั่งเศสข้อหาปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพที่อาจเกิดภัยร้ายต่อผู้อื่น

 

 

จับโกหกอย่างไร..ถ้ากินยาลดไข้ หลบด่านตรวจไวรัสโคโรน่า

 

              เช่นเดียวกับ “นักธุรกิจชายชาวไต้หวัน” ที่เดินทางไปเมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ช่วงที่ไวรัสโคโรน่ากำลังระบาด เมื่อเริ่มรู้สึกไม่สบายก็รีบกินยาลดไข้เพื่อที่จะเดินทางขึ้นเครื่องบินกลับมายังเมืองเกาสงของไต้หวัน โดยสามารถผ่านเครื่องตรวจจับอุณหภูมิสนามบินไทเปได้เช่นกัน แต่หลังจากถูกจับได้และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวมร้ายแรง เพราะติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เจ้าหน้าที่สั่งปรับเงินทันทีประมาณ 3 แสนบาท และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาลงโทษจำคุก ข้อหาปกปิดความเจ็บป่วยจากเชื้อโรคระบาดและยังเดินทางขึ้นรถไฟใต้ดินรวมถึงการไปเที่ยวในสถานบันเทิงที่มีคนแออัด โดยไม่สำนึกตนว่าจะเป็นผู้แพร่เชื้อโรคร้ายให้ผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง

 

 

 

            กลายเป็นคำถามว่า “ยาลดไข้” สามารถใช้หลบหนีการคัดกรองของด่านตรวจคนเข้าเมืองได้หรือไม่ ?

 

           ผู้เชี่ยวชาญประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรคติดต่อ ให้ข้อมูลคมชัดลึกว่า เครื่องที่ใช้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้โดยสาร (Thermoscan camera) มีไว้เพื่อคัดกรองอุณหภูมิหรือวัดความร้อนในร่างกายผู้โดยสารที่เดินผ่านอุปกรณ์นั้น หากพบว่ามีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 – 38 องศาให้ถือว่ามีไข้ ต้องรับการตรวจสอบขั้นต่อไป

 

            “แต่ถ้าผู้โดยสารแอบกินยาลดไข้มา เครื่องเทอร์โมสแกนไม่สามารถตรวจพบได้ แต่เจ้าหน้าที่สนามบินอาจจับโกหกได้ เพราะการคัดกรองไม่ได้ใช้อุปกรณ์ตัวนี้อย่างเดียว แต่ใช้ระบบตรวจสอบด้วยสายตาประกอบด้วย เพราะคนป่วยติดเชื้อโคโรน่าซึ่งเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอาการ ไอ” ร่วมกับ น้ำมูกไหล และ หายใจเหนื่อยหอบ หน้าซีดขาวหรือหน้าแดงเหมือนคนป่วยและไม่ค่อยมีแรง  อาการเหล่านี้ถึงแอบกินยาลดไข้มาหลายเม็ด ก็ไม่สามารถปกปิดไว้ได้  อย่าลืมว่าอาการไอ ยังไม่มียารักษา มีแต่ยาบรรเทาอาการให้ลดน้อยลง ถ้าเจ้าหน้าที่สังเกตพบจะเชิญมาตรวจซ้ำด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดร่างกายพิเศษเพิ่มเติม ทั้งใบหู ลำคอ ฯลฯ และสอบถามเส้นทางการเดินทางและรายละเอียดต่าง ๆ ทำให้ตรวจพบได้ไม่ยาก”

 

 

            “ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นยอมรับว่า การตรวจสอบผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาจำนวนมากพร้อม ๆ กัน  อาจมีบางคนสามารถหลบรอดไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายกับตัวของผู้ป่วยรายนั้นเอง  เนื่องจากเชื้อไวรัสตัวนี้อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจผิดปกติอย่างรุนแรง หรือเกิดการอักเสบของถุงลมปอด ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ มีโทษปรับและจำคุก หากใครไปเมืองจีนแล้วแอบใช้วิธีนี้ แต่เริ่มรู้สึกว่าอาการป่วยรุนแรงขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด หรือแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

 

จับโกหกอย่างไร..ถ้ากินยาลดไข้ หลบด่านตรวจไวรัสโคโรน่า

 

           ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมาย  “พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558” ระบุนิยามของ “โรคติดต่ออันตราย”  หมายถึง โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ส่วน “โรคระบาด” หมายความว่า โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา

 

          กฎหมายข้างต้นกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากผู้ใดปกปิดหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ควบคุมโรคติดต่อ โดยเฉพาะการไม่ไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขทราบหากตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีโทษปรับ 2 หมื่น – 5 แสนบาท และมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือน – 2 ปี

 

 ผู้เชี่ยวชาญจีนคาดไวรัสโคโรน่าพันธุ์ใหม่แตะจุดพีคใน 10 วัน

           ล่าสุด “อนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งตั้ง “คณะกรรมการระดับชาติ” เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แล้ว  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับ กลุ่มคนที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม  

           โปรดอย่าลืมว่า “การหลีกเลี่ยงระบบคัดกรองโรคระบาด” หากร่างกายติดเชื้อไวรัสร้ายจนป่วย นอกจากเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่นที่อยู่รอบข้างแล้ว คนในครอบครัวของตัวเองก็จะกลายเป็นเหยื่อไปด้วย เพราะอยู่ใกล้ชิดมากที่สุด !  

 ทีมรายงานพิเศษ คมชัดลึก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ