คอลัมนิสต์

พรรคเกิดใหม่ในบริบทการเมืองไทย (๒)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรรคเกิดใหม่ในบริบทการเมืองไทย (๒) โดย... ทวี สุรฤทธิกุล


 


          นักการเมืองไทยเป็นพวก “ข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย”


          บางคนเรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่าเป็น “บาปเคราะห์ทางการเมืองไทย” อันสืบผลเนื่องมาจาก “วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย” ที่เราต้องพึ่งพิงกันและกัน โดยผู้น้อยต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ หรือ “ข้า” ต้องพึ่งพิง “นาย” ภายใต้ระบบการปกครองแบบ “ไพร่ฟ้า” ที่ผู้ปกครองกำหนดให้คนไทยทุกคนต้องมีเจ้านายเพื่อเข้าสังกัดจัดกลุ่ม โดยเหตุผลที่ในสมัยโบราณเรามีการทำศึกสงครามมาก ต้องจัดทำทะเบียนไพร่พลไว้ใช้งานศึกสงคราม แต่ถ้าไม่มีศึกสงครามก็ปล่อยให้ทำมาหากินตามปกติ หรือไม่ก็ถูกเกณฑ์เข้ามาก่อสร้างให้หลวง หากใครไม่ไม่เข้าสังกัดเจ้านายหรือขุนนางก็จะไม่มีใคร “คุ้มกะลาหัว” ปกป้องคุ้มครองดูแลทุกข์สุขให้ ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการที่มีคนอื่นคอยปกป้องคุ้มครองและชอบพึ่งพิงผู้มีอำนาจหรือมีบุญบารมีตลอดมา

 

 

 

          วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าข้างต้นได้ส่งผลกระทบมาถึงกระบวนการทางการเมืองไทยในทุกวันนี้เป็นอย่างมาก อย่างที่ได้เล่ามาในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พรรคการเมืองไทยในยุคแรกก็เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุน “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” และยังคงเป็นไปในแบบนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นที่เราได้เห็นบรรดานักการเมืองวิ่งเข้ามาสู่พรรคพลังประชารัฐ ก็ด้วยเหตุที่พรรคนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” ในทำนองเดียวกันที่คนรุ่นใหม่หันไปสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคนั้นก็มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กำลังถูกกระแสสังคมของผู้คนกลุ่มนี้สร้างให้เป็น “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” อีกเช่นกัน นั่นก็คือ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” หรือผู้นำยุคใหม่ในอนาคตของพวกเขา


          ก่อนจะไปวิเคราะห์อนาคตของพรรคอนาคตใหม่ ผู้เขียนขอกล่าวถึงอนาคตของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด (ที่ยังรอดเหลืออยู่) ในประเทศไทย คือ “พรรคประชาธิปัตย์” นั้นเสียก่อน เพราะพัฒนาการของพรรคการเมืองพรรคนี้ “สะท้อน” วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยแบบดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี ว่าในเมื่อสิ้นคนที่เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่แล้ว พรรคนี้ก็ไม่หนทางไป


          พรรคประชาธิปัตย์มีกำเนิดจาก “แรงริษยา” คือต้องการแข่งอำนาจวาสนากับผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ท่านหนึ่งคือ นายปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร ที่ขึ้นมามีอำนาจภายหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำคณะราษฎรในฝ่ายทหารเสื่อมอำนาจลงภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในพ.ศ. 2489 ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ พรรคสหชีพกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญที่มีส.ส.เสียงข้างมากได้ร่วมกันเสนอชื่อนายปรีดีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับนายปรีดีจึงได้รวมตัวกันตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ โดยเสนอนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคขึ้นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย แต่ก็พ่ายแพ้ จึงต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านมาตั้งแต่พ.ศ.นั้น

 



          ความจริงแล้วในยุคที่ทหารครองเมืองระหว่าง พ.ศ.2490-2500 และก็มีการเลือกตั้งอีกหลายครั้งในช่วงนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมรัฐบาลอยู่บ้าง แต่บทบาทที่โดดเด่นที่สุดก็คือการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพราะมีส.ส.ฝีปากกล้าเกิดขึ้นมากมาตั้งแต่ยุคนั้น จนกระทั่งหมดยุคของนายควงภายหลังการเลือกตั้งในปี 2500 แล้วทหารก็ครองเมืองต่อมาอีกจนมีการเลือกตั้งใน พ.ศ.2512 ที่เป็น “ยุคคนเลือดใหม่” ของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่อีกคนหนึ่ง เพราะเป็นอดีตผู้นำของขบวนการเสรีไทยที่ช่วยกอบกู้ไทยไม่ให้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ประคับประคองพรรคมาได้เพียงอีกแค่ไม่กี่ปี เพราะภายหลังยึดอำนาจของทหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พรรคนี้ก็ระส่ำระสายหนักมาก แม้แต่หัวหน้าพรรคก็หาคนมาเป็นได้ยากลำบาก คือต้องไปเอาอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร คือ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ มาเป็นหัวหน้าพรรคในการเลือกตั้งปี 2522 และในปี 2526 ก็เปลี่ยนมาเป็นนายพิชัย รัตตกุล แต่ใน พ.ศ.2529 พรรคประชาธิปัตย์ก็แตกเป็นกลุ่ม “10 มกรา” ที่นำโดยนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง กระทั่งในปี 2534 พรรคประชาธิปัตย์จึงเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย ต่อมาจนถึงยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2548 ที่พยายามจะสร้าง “ประชาธิปัตย์ใหม่” ให้เกิดขึ้น แต่ก็ด้วย “ปัญหาเดิมๆ” ภายในพรรค ทำให้พรรคไม่สามารถพัฒนาไปได้ตามที่สมาชิกรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งคาดหวัง และแตกร้าวเรื่อยมาจนถึงยุคของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นี้


          “ปัญหาเดิมๆ” ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ “การสร้างแบรนด์” ของพรรคที่ยากแก่การปรับเปลี่ยนความจดจำของผู้เลือกตั้ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีกำเนิดมาจากการต่อสู้เผด็จการ ตั้งแต่ยุคที่ต่อสู้กับนายปรีดีที่คนยุคนั้นเชื่อว่าเป็น “เผด็จการพลเรือนทางรัฐสภา” แบรนด์นี้ถูกใจผู้เลือกตั้งในภาคใต้จำนวนมาก ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งในภาคใต้มาอย่างท่วมท้นโดยตลอด ร่วมกับที่พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงบทบาทต่อต้านเผด็จการทหารมาตั้งแต่ยุคท้ายๆ ของจอมพล ป. ยุคจอมพลสฤษดิ์ และยุคจอมพลถนอม กระทั่งเป็นแบรนด์ว่าเป็นพรรคที่ “ต่อสู้กับเผด็จการ” แต่การเมืองภายหลัง พ.ศ.2549 บริบทของทางการเมืองไทยได้เปลี่ยนไปทำให้พรรคประชาธิปัตย์พยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันในระบบการเมืองสมัยใหม่ โดยเฉพาะในสิ่งที่เรียกว่า “การแย่งชิงความนิยมทางการเมือง” ที่ประชาธิปัตย์มีความสับสนทางความคิดในหมู่สมาชิกและผู้บริหารของพรรคนั้นเป็นอย่างมาก เพราะเกิดมีแนวคิดเก่าๆ กับแนวคิดใหม่ๆ ผสมกันอยู่อย่างยุ่งเหยิงทั้งภายในและภายนอกพรรค จนขาดความเด่นชัดในอุดมการณ์และกำลังจะล่มจมไปกับการเมืองน้ำเน่าที่มีผู้ชักนำให้เข้าไปร่วมเป็นรัฐบาล จนอาจจะมองไปได้ว่าเป็นพรรคที่ “มองไม่เห็นอนาคต”


          ที่สุดพรรคการเมืองเก่าแก่นี้อาจจะ “ล่มหายไป” พร้อมกับเรือเหล็กผุๆ นี้ก็ได้


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ