คอลัมนิสต์

รถสายตรวจฉาวไม่เลิก แฉอีกพิรุธอุปกรณ์เสริมแพงเวอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รถสายตรวจฉาวไม่เลิก พิรุธรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะ สตม.ซื้อแพงวงเงิน 900 ล้าน ตกคันละ 3.5 ล้าน จอดทิ้ง แฉอุปกรณ์เสริมไม่ระบุยี่ห้อ-รุ่น

 

               ผ่าโครงการ สตช. จัดซื้อวิธีพิเศษรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะ วงเงิน 900 ล้านบาท ส่งมอบ สตม.ใช้ตรวจการณ์ด่านชายแดน เสนองบผ่าน สกบ.เจ้าเก่า ชี้ซื้อแพงจอดทิ้งอื้อ แฉพิรุธอุปกรณ์เสริมคันละ 1.5 ล้านบาท

 


อ่านข่าว ผ่าสัญญาจัดซื้อ รถตรวจการณ์อัจฉริยะ ไม่กำหนดยี่ห้อ-รุ่น

 

               ความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบปมทุจริตภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ภายหลังถูกจุดกระแสขึ้นจากคดีคนร้ายบุกยิงรถยนต์ส่วนตัวของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (อดีตผบช.สตม.)

 

                โดย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เชื่อว่ามาจากสาเหตุที่ ป.ป.ช. เรียกไปให้ข้อมูลโครงการไบโอเมทริกซ์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้จัดซื้อให้ สตม. นำมาใช้งานในวงเงินกว่า 2,100 ล้านบาท

 

               นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลโครงการเรือตรวจการณ์ของสตม. โดยสำนักงานส่งกำลังบำรุง (สกบ.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้จัดซื้อก่อนส่งมอบให้สตม. จำนวน 27 ลำ ใช้งบ 348 ล้านบาท

 

               ซึ่งถูกสังคมตั้งคำถามหลายประเด็น โดยเฉพาะความเหมาะสมของภารกิจตรวจการณ์ตามน่านน้ำชายแดนเนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน่วยงานหลักอย่าง กองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน.) เป็นผู้รับผิดชอบภารกิจโดยตรงอยู่แล้ว

 

               ล่าสุดวันที่ 26 มกราคม มีแหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตรวจพบความผิดปกติโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะ ที่ใช้งบประมาณกว่า 900 ล้านบาท โดยมี สกบ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้จัดซื้อ ก่อนส่งมอบให้ สตม.

 

               เหมือนโครงการไบโอเมทริกซ์ และโครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ซึ่งใช้ชื่อโครงการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ (SMART PATROL CAR : SPC) มีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นรถสายตรวจตามด่านชายแดนใช้รูปแบบคล้ายกับโครงการก่อนหน้าคือโยกงบไปให้สกบ.จัดซื้อจัดจ้างแทน

 

               “ต้องถามว่าความคุ้มค่าอยู่ตรงไหน รถตรวจการณ์คือรถที่ไปอยู่ตามด่านชายแดน เช่น ด่าน ตม.ช่องเม็ก เลย ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ยะลา ปัตตานี นราธิวาส แน่นอนที่ชาร์จไฟไม่มีรองรับ ไม่สะดวก ที่สำคัญค่าซ่อมบำรุงแพงกว่ามาก สุดท้ายต้องเติมน้ำมัน ควรใช้รถระบบน้ำมันของญี่ปุ่นประหยัดกว่า

 

               ตอนนี้หลายคันจอดนิ่ง การที่ซื้อรถบีเอ็มดับเบิลยู ส่วนหนึ่งเป็นการสมคบกับเสี่ย จ. พ่อค้ารถที่สนิท และร่วมงานกันมาหลายโครงการ ผลประโยชน์จึงมหาศาล” แหล่งข่าวคนเดิม ระบุ

 

               สำหรับสเปกรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะกำหนดไว้ 2 รายการ ประกอบด้วย 1.จำนวน 230 คัน ติดตั้งอุปกรณ์ราคาต่อหน่วยคันละ 3,445,039 บาท รวมเป็นเงิน 792,358,970 ล้านบาท 2.จำนวน 30 คัน ติดตั้งอุปกรณ์ราคาต่อหน่วยคันละ 3,548,970 บาท รวมเป็นเงิน 106,451,730 บาท โดยใช้งบประมาณรวม 898,810,700 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 58,800,700 บาทแล้ว)

 

               จากการตรวจสอบสเปกรถไม่มีระบุในสัญญาซื้อขายแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดซื้อรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 330e Iconic วางจำหน่ายปี 2018 ในราคาคันละ 1,959,000 บาท จำนวน 60 คัน รวมราคา 509,340,000 บาท ขณะที่ราคาขายตามท้องตลาด ซึ่งรวมราคาตกแต่งแล้วอยู่ที่ 2,259,000 บาท

 

               หากเทียบราคาแล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดซื้อในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด แต่รถบีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 330e Iconic เป็นรถเปล่าไม่ได้มีการตกแต่งแต่อย่างใด อีกทั้งมีการตั้งสังเกตว่า หากซื้อลอตใหญ่จำนวน 260 คัน น่าจะได้ส่วนลดมากกว่า 200,000 บาทต่อคันอีกด้วย

 

               ขณะเดียวกันยังพบว่ารถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 330e Iconic แบบปลั๊กอิน ซึ่งหมายถึงชาร์จไฟฟ้าได้ โดยระบบการทำงานของรถยนต์รุ่นดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหวางเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่ได้เป็นรถไฟฟ้า 100%


อ่านข่าว ฉาว พ.ต.อ.โดน ป.ป.ช.ฟันดูแลงบจัดซื้อได้รับตำแหน่งสูงขึ้น

 

               ขณะที่ข้อมูลอุปกรณ์ที่ติดตั้งเสริมมีดังนี้ กล้องตรวจการณ์ติดตั้งบนหลังคา 260 ชุด ราคาชุดละ 295,973.20 บาท รวม 76,953,032 บาท ชุดปรับตำแหน่งมุมกล้องตรวจการณ์ 260 ชุด ราคาชุดละ 43,000 บาท รวม 11,180,000 บาท เครื่องตรวจหนังสือเดินทางแบบพกพา 260 เครื่อง ราคาเครื่องละ 250,000 บาท รวม 65,000,000 บาท

 

               กล้องวิดีโอติดหมวก (Action camera) 260 เครื่อง ราคาตัวละ 25,000 บาท รวม 6,500,000 บาท กล้อง Web camera จำนวน 30 เครื่อง ราคาตัวละ 8,000 บาท รวม 240,000 บาท เครื่องพิมพ์ Printer ชนิด Dot matrix แบบแคร่สั่น 30 เครื่อง ราคาเครื่องละ 22,000 บาท รวม 660,000 บาท อุปกรณ์เชื่อมสัญญาณเครือข่ายแบบไร้สาย 260 ชุด ราคาชิ้นละ 20,000 บาท รวม 5,200,000 บาท

 

               ซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนที่สำหรับปฏิบัติงานในพื้นที่ 260 ชุด ราคาชุดละ 50,000 บาท รวม 13,000,000 บาท ซอฟต์แวร์สำหรับตรวจสอบและแสดงผลข้อมูลบุคคล 260 ชุด ราคาชุดละ 95,000 บาท รวม 24,700,000 บาท

 

               เครื่องรับส่งวิทยุ VHF/FM ชนิดติดรถยนต์แบบ Code Squelch ขนาดกำลังส่งไม่น้อยกว่า 25 วัตต์ 260 เครื่อง ราคาเครื่องละ 23,900 บาท รวม 6,214,000 บาท เครื่องขยายเสียงพร้อมสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ไซเรนขนาดกำลังไม่น้อยกว่า 100 วัตต์ พร้อมสัญญาณไฟแดง ชนิดแอลอีดี สำหรับติดหลังราคารถยนต์ 260 ตัว ราคาชุดละ 30,000 บาท รวม 7,800,000 บาท

 

               ทั้งนี้พบว่าอุปกรณ์เสริมที่ราคาจัดซื้อสูงกว่าราคาท้องตลาด ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนที่ 260 เครื่อง ราคาเครื่องละ 200,000 บาท รวม 52,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วราคาคอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนที่อยู่ที่ 20,000-40,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ปืนไฟฟ้า 540 กระบอก ราคากระบอกละ 40,000 บาท รวม 21,600,000 บาท แต่ราคาท้องตลาดสามารถหาซื้อได้ในออนไลน์เพียงแค่ 5,000 บาท

 

               อย่างไรก็ตามราคาตัวรถกับอุปกรณ์เสริมติดรถรวมแล้วอยู่ที่คันละ 3,061,873.2 บาท แยกเป็นราคารถคันละ 1,959,000 บาท ราคาอุปกรณ์เสริมคันละ 1,102,873 บาท รวม 260 คันเป็นเงิน 796,087,032 บาท

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ