คอลัมนิสต์

6 โรดแม็พ ฝ่าวิกฤติ พีเอ็ม2.5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

6 โรดแม็พ ฝ่าวิกฤติ พีเอ็ม2.5 คอลัมน์... อินไซด์ ครม.

 

 


          ยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงสำหรับปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทำให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการควบคุมปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.นราธิวาส ได้มีมติให้ยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ

 

 

          ภายหลังคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ได้ประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 มีมติให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการโดยเร่งด่วน 6 แผนดังนี้ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกข้อบังคับเพิ่มเติมเพื่อขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ห้ามเดินรถเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากวงแหวนรัชดาภิเษก ขยายเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก และออกข้อบังคับหรือระเบียบตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เพื่อห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 สำหรับวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด


          นอกจากนี้ให้เข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ควันดำอย่างเคร่งครัด รวมถึงออกคำสั่งห้ามการใช้รถที่มีมลพิษเกินมาตรฐานที่กำหนดมาใช้ในทางเดินรถ และออกกฎกระทรวงเพื่อตรวจรับรองรถยนต์ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งแล้ว ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522


          2.กรมการขนส่งทางบก ให้ตรวจวัดควันดำอย่างเข้มงวดกับรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุดใน 50 เขต โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร และปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่มเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสาร และรถบรรทุกเพื่อการออกคำสั่งห้ามใช้รถ




          3.กรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากตรวจสอบแล้วไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด ให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ รวมถึงขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิตในช่วงวิกฤติสถานการณ์ฝุ่นละออง และสนับสนุนแรงจูงใจให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ให้ความร่วมมือด้วย


          4.กรุงเทพมหานคร ให้แก้ไขปัญหาการจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ 12 ข้ออย่างเคร่งครัด แต่หากไม่ปฏิบัติตามให้ระงับการก่อสร้าง โดยมีมาตรการทั้ง 12 ข้อ ได้แก่ การวางแนวแบริเออร์ ให้จัดวางให้ตรงตามแนวเส้นทางจราจร ส่วนช่องทางกลับรถคับแคบ ให้เปิดช่องยูเทิร์นให้กว้าง เพื่อให้รถยนต์กลับรถได้สะดวกขึ้นและให้ขนย้ายกองดิน เศษหิน เศษปูนทรายออกจากพื้นที่ก่อสร้างในทันที จากนั้นเร่งแก้ไขผิวจราจรให้เรียบร้อย ส่วนแนวก่อสร้างที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่ได้วางแผงแบริเออร์ ให้เปิดช่องทางชั่วคราวนั้น ขอให้เร่งก่อสร้างงานฐานราก เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดที่สะพาน


          นอกจากนี้ให้จัดระเบียบรถบรรทุกในพื้นที่ และปรับผิวจราจรให้เป็นช่องจราจรชั่วคราวเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง แต่ปิดช่องจราจรไว้ขอให้เปิดช่องจราจรเป็นครั้งคราวในพื้นที่ รวมถึงติดตั้งไฟฟ้าชั่วคราวตามแนวการก่อสร้าง ปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้างและจัดทำทางสัญจรอย่างปลอดภัย ที่สำคัญไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผา


          5.จังหวัดต่างๆ ยกเว้น 9 จังหวัดภาคเหนือ ขอให้ออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ควบคุมการเผาขยะมูลฝอย หญ้า พืชไร่ พืชสวน ตอซังข้าว หรือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของตนเองหรือที่สาธารณะในช่วงวิกฤติสถานการณ์ฝุ่นละออง และเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างต่างๆ


          6.ข้อเสนออื่น ขอความร่วมมือหน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน ประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน รถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนกระทรวงพลังงานให้พิจารณาสนับสนุนการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm รวมถึงขอความร่วมมือกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี


          ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานอื่นสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤติต่อไป
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ